การบรรยายหลักสูตรสื่อสุขภาพรุ่นที่ 2 ในครั้งนี้ มีหัวข้อการบรรยายคือ “มะเร็งปอด” โดยพี่หมอปั๊บคนเก่ง รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปรัญญา สากิยลักษณ์ จากสาขาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และ แพทย์หญิง ศิริโสภา เตชะวัฒนวรรณา จากสาขาวิชาเคมีบำบัด ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราชค่ะ
เราคงได้เรียนกันมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วว่าปอดเป็นอวัยวะที่สำคัญ เนื่องจากปอดทำหน้าที่นำกาซออกซิเจนเข้าสู่เลือด และนำกาซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากเลือด ด้วยเหตุนี้ ปอดจึงเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ ปอดมีลักษณะยืดหยุ่นคล้ายฟองน้ำ ถ้าปอดมีการโป่งพองหรือติดเชื้อ จะทำให้การแลกเปลี่ยนกาซทำได้ไม่สมบูรณ์ค่ะ
มะเร็งปอดเป็นโรคที่เซลล์ในเนื้อเยื่อปอดนั้นมีการเจริญเติบโตที่ควบคุมไม่ได้ และเซลล์เหล่านี้มีการแพร่กระจายและรุกรานไปยังเนื้อเยื่อที่อยู่ข้างเคียง รวมถึงแทรกซึมไปยังอวัยวะอื่นๆ นอกปอดด้วย
มะเร็งปอดถือเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งทั้งในเพศชายและหญิงในสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทยนั้น มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ในเพศชายรองจากมะเร็งตับ และพบบ่อยเป็นอันดับ 4 ในเพศหญิงรองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ค่ะ
อาการของมะเร็งปอด
ผู้ที่เป็นมะเร็งปอดในระยะแรกมักไม่มีอาการ หรือหากมะเร็งปอดยังเป็นก้อนขนาดเล็ก อาการก็จะยังไม่แสดงออก ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีอาการแสดงออกมักจะเป็นผู้ป่วยที่มะเร็งปอดได้ลุกลามจนรักษาได้ยากแล้ว
อาการของผู้ป่วยมะเร็งปอดคือการไอ หายใจเหนื่อย หายใจแล้วมีเสียงวี้ดผิดปรกติ (วี้ดเท่านั้นนะคะ ไม่ใช่วี้ดวิ้ว …) ไอเป็นเลือดถ้ามะเร็งมีการลุกลามไปในเส้นเลือด มีเสียงแหบผิดปรกติเนื่องจากมะเร็งไปกดทับหรือทำลายเส้นประสาทแถบช่องอกที่ไปเลี้ยงกล่องเสียง นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการหน้าบวม แขนบวม ปวดแขน ปวดไหล่ มีน้ำหนักลดแบบเห็นได้ชัด ทำนองที่ว่า 3 เดือน น้ำหนักลดไป 10 กิโลกรัม และมีอาการเบื่ออาหาร … อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงแอบอมยิ้มและคิดว่าตัวเองคงรอดจากมะเร็งปอดแน่นอน เพราะมีอาการเป็นมิตรกับอาหารมากกว่า …
เนื่องจากมะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกนั้นมักไม่มีอาการ และอาการจะแสดงออกเมื่อมะเร็งปอดมีความรุนแรงมากขึ้นและไปเบียดเบียนอวัยวะอื่น เช่น หลอดลม การตรวจพบจึงทำได้ช้าและทำให้มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งท่อน้ำดีเลยค่ะ
ใครมีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งปอด
ผู้ที่สูบบุหรี่และการสูบบุหรี่มือ 2 (Second Hand Smoke) มีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนธรรมดา 20 เท่า ผู้ที่สูบบุหรี่วันละ 20 มวน ต่อเนื่องกัน 50 ปี จะมีโอกาสในการเป็นมะเร็งปอดได้ถึง 45% และถ้าหยุดสูบบุหรี่แล้ว โอกาสในการเป็นมะเร็งปอดก็จะลดลง สำหรับ Third Hand Smoke ซึ่งเป็นสารเคมีที่หลงเหลืออยู่หลังจากการสูบบุหรี่ซึ่งตกค้างอยู่บนพื้นผิวของเสื้อผ้า ผิวหนัง เส้นผม หรือเบาะรถ ก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้เช่นกัน โดยมักก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง
ผู้ที่หยุดสูบบุหรี่เมื่ออายุ 50 ปี จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดสูงเกินกว่า 2 เท่าของผู้ที่หยุดสูบบุหรี่เมื่ออายุ 30 ปี ในขณะที่ผู้ที่ยังคงสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดสูงถึง 8 เท่าของผู้ที่หยุดสูบบุหรี่เมื่ออายุ 30 ปีเลยทีเดียวค่ะ
การสัมผัสหรือสูดดมโลหะหนักซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เช่น สารหนู แคดเมียม โครเมียม นิคเกิล ซิลิกา รวมถึงละอองน้ำมันและแร่ใยหิน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้ การได้รับกาซเรดอนซึ่งอยู่ในหิน ดิน ทราย ที่ใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้าง ก็เพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งปอดเช่นกัน
ผู้ที่เป็นมะเร็งที่อวัยวะอื่นในร่างกาย หรือมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หรือมีประวัติการเจ็บป่วยเป็นมะเร็งปอดในครอบครัวโดยเฉพาะญาติอันดับต้น มีโอกาสเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งปอด นอกจากนี้ มะเร็งปอดยังแปรผันตามอายุ กล่าวคือ มะเร็งปอดจะพบมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุด้วยนะคะ
บุหรี่ไฟฟ้าถูกคิดค้นขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะลดอัตราการเกิดมะเร็ง บุหรี่ไฟฟ้าต่างจากบุหรี่ปรกติตรงที่บุหรี่ไฟฟ้านั้นใช้การเผาไหม้โดยอาศัยไอน้ำ ในขณะที่บุหรี่ปรกตินั้นเป็นการนำยาสูบมาพันเป็นมวนแล้วจุดให้ติดไฟ การพัฒนาของสมองคนเรานั้นจะมีการเติบโตจนถึงอายุ 35 ปี ผลการศึกษาพบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะไปทำลายสมอง และการเผาไหม้จากบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้สารนิโคตินเข้าไปในร่างกายและออกฤทธิ์ต่อสมองและระบบประสาทได้ ด้วยเหตุนี้ การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่ปลอดภัย แพทย์จึงไม่แนะนำให้สูบบุหรี่ไฟฟ้าค่ะ
ชนิดของมะเร็งปอด
มะเร็งปอดแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก และมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (ฟังชื่อแล้วแอบคิดในใจว่าการตั้งชื่อนี่แอบยียวนกวนอยู่เล็กๆ นะคะ …)
มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กพบประมาณ 15% ของมะเร็งปอดทั้งหมด ผู้ป่วยจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กเป็นพวกที่รุนแรงและมักจะเกิดขึ้นที่ส่วนกลางของหลอดลม เนื่องจากมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กมีการแพร่กระจายได้เร็วกว่ามะเร็งปอดที่ไม่ใช่เซลล์เล็ก จึงทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทย่อย ได้แก่ 1) มะเร็งปอดของเซลล์ต่อมสร้างเมือกในเยื่อบุหลอดลม ซึ่งพบมากในผู้สูบบุหรี่ 2) มะเร็งปอดที่เกิดขึ้นในทางเดินหายใจส่วนต้นของปอด และ 3) มะเร็งปอดชนิดเซลล์ใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นที่บริเวณใดของปอดก็ได้
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กมีความรุนแรงของโรคต่ำกว่า ง่ายต่อการรักษามากกว่า และผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตที่สูงกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กค่ะ
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอด
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอดสามารถทำได้โดยการเอ็กซเรย์ การทำ CT Scan ซึ่งเป็นการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ การทำ PET Scan การตรวจเสมหะ และการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ
การเอ็กซเรย์หรือการทำ CT Scan นั้นจะทำให้เห็นการเป็นก้อน ในขณะที่การทำ CT Scan จะเป็นการฉีดสารเข้าไปเพื่อดูการทำปฏิกิริยาว่ามีการใช้น้ำตาลหรือมีการเผาผลาญสูงหรือไม่ซึ่งถือเป็นอาการบ่งบอก สำหรับการตัดชิ้นเนื้อผ่านการส่องกล้องนั้น เป็นการใช้เข็มจิ้มหรือนำน้ำล้างเซลล์มาตรวจ ในขณะที่การตัดชิ้นเนื้อผ่านผิวหนังของผนังทรวงอกจะเป็นการใช้เข็มแบบพิเศษจิ้มเข้าไปเพื่อเก็บชิ้นเนื้อออกมาตรวจค่ะ
วินิจฉัยระยะ
การพิจารณาดูว่ามะเร็งปอดที่เป็นนั้นอยู่ในระยะไหนแล้ว จะดูจาก 3 ปัจจัยหลัก T N M ดังนี้ค่ะ
T (Tumor) ขนาดของก้อนมะเร็ง ตำแหน่งที่อยู่ และการกินอวัยวะที่อยู่ข้างเคียง – ถ้าก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก จะเป็นมะเร็งในระยะแรก แต่ถ้ามะเร็งมีขนาดไม่ใหญ่แต่อยู่ในจุดที่ไม่ควรจะอยู่ ก็จะเป็นสัญญาณที่ไม่ดีค่ะ หากก้อนมีขนาดใหญ่ มะเร็งก็อาจจะกินเข้าไปที่กระดูกสันหลังแล้ว
N (Lymph Nodes) ต่อมน้ำเหลือง – ถ้าเป็นในระยะแรก จะยังไม่พบมะเร็งในต่อมน้ำเหลืองนะคะ
M (Metastasis) การกระจายไปยังอวัยวะอื่น – ถ้าเป็นในระยะแรก จะไม่พบการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นค่ะ
การจัดระยะของโรคมะเร็งปอดว่าอยู่ในระยะไหนแล้ว มาจากการนำ 3 ปัจจัยหลัก T N M มาพิจารณารวมกัน ดังนี้ค่ะ
ระยะ 1A – ก้อนมีขนาดใหญ่ไม่เกิน 3 เซนติเมตร และยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง
ระยะ 1B – ก้อนมีขนาด 3-4 เซนติเมตร มะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และยังมีความไม่แน่นอนว่ามะเร็งแพร่ไปยังหลอดลมใหญ่ เยื่อบุด้านในปอด หรือทำให้เกิดอาการปอดแฟบหรือบวมหรือไม่
ระยะ 2A – ก้อนมีขนาด 4-5 เซนติเมตร มะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และยังมีความไม่แน่นอนว่ามะเร็งแพร่ไปยังหลอดลมใหญ่ เยื่อบุด้านในปอด หรือทำให้เกิดอาการปอดแฟบหรือบวมหรือไม่
ระยะ 2B – ก้อนมีขนาดใหญ่ไม่เกิน 5 เซนติเมตร มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง แต่ยังมีความไม่แน่นอนว่ามะเร็งแพร่ไปยังหลอดลมใหญ่ เยื่อบุด้านในปอด หรือทำให้เกิดอาการปอดแฟบหรือบวมหรือไม่
ระยะ 3A – ก้อนมีขนาดใหญ่ไม่เกิน 5 เซนติเมตร มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในช่องทรวงอก แต่ยังมีความไม่แน่นอนว่ามะเร็งแพร่ไปยังหลอดลมใหญ่ เยื่อบุด้านในปอด หรือทำให้เกิดอาการปอดแฟบหรือบวมหรือไม่
ระยะ 3B – ก้อนมีขนาดใหญ่ไม่เกิน 5 เซนติเมตร มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในช่องทรวงอกหรือ scalene และ supraclavicular lymph nodes แต่ยังมีความไม่แน่นอนว่ามะเร็งแพร่ไปยังหลอดลมใหญ่ เยื่อบุด้านในปอด หรือทำให้เกิดอาการปอดแฟบหรือบวมหรือไม่
ระยะ 4B – ก้อนมีขนาดใหญ่เท่าใดก็ได้ มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ก็ได้ และมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นนอกปอดแล้ว เช่น สมอง ตับ กระดูก หรือต่อมหมวกไต
สิ่งที่ผู้ป่วยควรทราบก่อนรับการรักษา
ต้นกำเนิด – ผู้ป่วยควรทราบก่อนการรักษาว่ามะเร็งปอดนั้นถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งที่มีต้นกำเนิดมาจากที่ใด ตับ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย กระเพาะอาหาร หรือจากปอดเอง เพราะการรักษานั้นจะมีความแตกต่างกันค่ะ
ระยะของโรค – ผู้ป่วยควรทราบว่ามะเร็งปอดที่เป็นนั้นจัดอยู่ในระยะใด เนื่องจากการรักษาแต่ละระยะนั้นจะแตกต่างกันออกไป
เป้าหมายของการรักษา – ผู้ป่วยควรทราบว่าเป้าหมายของการรักษาคืออะไร หากป่วยเป็นมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น เป้าหมายของการรักษาคือการทำให้หายขาด ในขณะที่เป้าหมายของการรักษามะเร็งปอดในระยะสุดท้าย จะเป็นการประคับประคองคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไม่ให้แย่จนเกินไป
ระยะเวลา – ผู้ป่วยควรทราบถึงระยะเวลาที่จะใช้ในการรักษาว่ากินเวลานานมากน้อยเพียงใด จะต้องใช้เวลานานเท่าใดกว่าจะฟื้นตัว หรือกว่าชีวิตจะกลับมาปรกติดังเดิม หรือหากเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะได้ทราบว่าตนเหลือเวลาอีกเท่าใด จะได้วางแผนสำหรับช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตนะคะ
ผลข้างเคียงจากการรักษา – ผู้ป่วยควรได้รับทราบถึงผลข้างเคียงจากการรักษาว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง และคุ้มค่าหรือไม่ที่จะมีการรักษาในขั้นต่อๆ ไปด้วยค่ะ
ค่าใช้จ่ายในการรักษา – ผู้ป่วยควรจะรับทราบถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการรักษาว่าจะมากน้อยเพียงใด เนื่องจากภาระทางการเงินและความจำเป็นในชีวิตของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นแตกต่างกันออกไปค่ะ
การรักษามะเร็งปอด
เป้าหมายหลักของการรักษามะเร็งปอดคือการรอดชีวิตให้ได้ในที่สุด โดยแพทย์จะดูอัตราการรอดชีวิตภายใน 5 ปี นอกจากนี้แล้ว คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังการรักษาก็เป็นสิ่งสำคัญ กล่าวคือ คุณภาพชีวิตจะต้องไม่แย่ ไม่ควรกลายเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง เป็นผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ หรือเป็นผู้ป่วยที่ต้องมีการ feed อาหารทางหน้าท้อง
การรักษามะเร็งปอดสามารถทำได้โดยการผ่าตัด การฉายแสง การให้เคมีบำบัด การรักษาแบบพุ่งเป้า และการให้ภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งค่ะ
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดในระยะ 1-3 ถ้าผ่าตัดได้แนะนำให้ผ่าตัด แต่ถ้าผ่าตัดแล้วยังไม่หายขาด ให้ใช้เคมีบำบัดร่วมด้วยค่ะ
การผ่าตัด – การผ่าตัดจะทำได้ในกรณีที่สามารถนำก้อนเนื้อออกมาได้ทั้งหมด ถ้าเป็นมะเร็งที่กลีบปอดส่วนใด ก็ผ่าตัดกลีบปอดส่วนนั้นออกมา แล้วใช้เคมีบำบัดสำหรับส่วนที่เหลืออยู่ การผ่าตัดแบบเปิดจะใช้สำหรับมะเร็งที่มีก้อนขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดแผลขนาดใหญ่และเจ็บมาก แต่ถ้าเป็นมะเร็งที่ก้อนไม่โต จะใช้การผ่าตัดแบบส่องกล้องแทนค่ะ
การฉายแสง – การฉายแสงเป็นการรักษาเฉพาะจุด โดยใช้แสงทำลายตัวก้อนมะเร็ง แต่เนื่องจากการฉายแสงไม่สามารถทำได้โดยทั่ว ทำได้ในเฉพาะบางจุดเท่านั้น แพทย์จึงมักใช้การฉายแสงในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้
การให้เคมีบำบัด – การให้เคมีบำบัดเป็นการให้ยาโดยการกินหรือฉีดเข้าไปในร่างกาย โดยยานี้จะทำลายเซลล์ที่กำลังแบ่งตัวอยู่ เซลล์มะเร็งซึ่งเป็นเซลล์ที่มีการแบ่งตัวมากแบบผิดปรกติจึงถูกทำลายด้วยยาเหล่านี้ค่ะ
การให้ภูมิคุ้มกันบำบัด – การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดเป็นการรักษาโดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ การรักษาแบบนี้เป็นรูปแบบการรักษาใหม่ที่มีการตอบสนองดี มีผลข้างเคียงน้อย และช่วยให้อัตราการรอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น
การคัดกรองและการป้องกันมะเร็งปอด
เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอดมักจะไม่มีอาการในระยะแรก การคัดกรองและการป้องกันมะเร็งปอดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สามารถทราบได้แต่เนิ่นๆ จะได้รีบรักษาให้ทันท่วงที การป้องกันมะเร็งปอดสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
Primary Prevention
การป้องกันในระยะปฐมภูมิหรือระยะแรกนี้ เป็นการป้องกันก่อนที่เซลล์จะกลายเป็นเนื้อร้าย การทราบถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งปอด และหลีกเลี่ยงหรือลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ จะช่วยลดโอกาสในการเป็นมะเร็งปอดได้ อาทิเช่น การไม่สูบบุหรี่ การหลีกเลี่ยงฝุ่น PM2.5 และการป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อเรื้อรัง
สำหรับฝุ่น PM2.5 ที่เป็นประเด็นอยู่ในเวลานี้ เป็นอนุภาคเล็กๆ ที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน โดยปรกติแล้ว ขนจมูกจะทำหน้าที่ในการกรองอนุภาคที่เราหายใจเข้าไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็กมาก จึงไม่ผ่านกระบวนการกรองของขนจมูก และยังนำสารแคดเมียม รวมถึงสารโลหะหนักและสารพิษอื่นๆ เข้าไปในร่างกายเราด้วย ฝุ่น PM2.5 ที่มากขึ้นนั้นมีความสัมพันธ์กับมะเร็งปอดที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ค่าดัชนีวัดคุณภาพโอกาสที่ถือว่าปลอดภัยที่เรียกว่าค่า AQI (Air Quality Index) นั้น ถูกกำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 50 อย่างไรก็ตาม ค่าที่กำหนดไว้เป็นเกณฑ์สำหรับคนปรกติ ดังนั้น ผู้ที่มีถุงลมโป่งพอง หรือเป็นปอดอักเสบเรื้อรัง ควรต้องใส่หน้ากาก N95 ป้องกันไว้ด้วย ถึงแม้ค่า AQI จะยังไม่ถึงระดับ 50 หรือหากไม่มีหน้ากาก N95 ก็ให้ใส่หน้ากากแบบธรรมดา 2 ชั้น และไม่ควรออกไปในที่โล่งแจ้ง เมื่ออยู่ในอาคาร ควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด และเปิดเครื่องฟอกอากาศร่วมด้วย
การป้องกันในระยะแรกนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้ยาในการรักษา แต่เป็นเรื่องของการทำตัวให้เหมาะสมของแต่ละคน เพื่อให้ห่างไกลจากการเป็นมะเร็งค่ะ
Secondary Prevention
การป้องกันในระยะทุติยภูมิ เป็นการป้องกันในขณะที่พบก้อนมะเร็งแล้ว แต่เป็นก้อนมะเร็งในระยะเริ่มต้น การรักษาในระยะนี้จึงเป็นการกำจัดมะเร็งให้หมดไป เพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งลุกลามและมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
Tertiary Prevention
การป้องกันในระยะตติยภูมิ เป็นการป้องกันเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของโรคหรือป้องกันไม่ให้มีอาการแย่ลงกว่าเดิม ขั้นตอนนี้จึงเกี่ยวข้องกับการรักษา เช่น การผ่าตัด การให้เคมีบำบัด หรือการใช้รังสีรักษา
ค่า Pack Year เป็นค่าที่ใช้บอกอันตรายหรืออัตราในการเป็นมะเร็ง โดยคำนวณจากจำนวนปีที่สูบบุหรี่ (หน่วยเป็นปี) คูณกับ จำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน (หน่วยเป็นซอง) ดังนั้น หากสูบบุหรี่วันละ 2 ซองต่อเนื่องมา 20 ปี ค่า Pack Year ก็คือ 40 ค่ะ สำหรับผู้ที่มีอายุ 55-70 ปีและมีค่า Pack Year ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป ไม่ว่าจะยังคงสูบอยู่ หรือหยุดสูบบุหรี่ไปแล้วภายใน 15 ปีก็ตาม ควรมีการคัดกรองมะเร็งปอดแบบ Low Dose CT Scan ปีละ 1 ครั้ง การคัดกรองดังกล่าวจะช่วยลดอัตราการตายได้ถึง 2.3 เท่า
End of Life Care
ถ้าการรักษาไม่มะเร็งปอดไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง และผู้ป่วยมะเร็งปอดกำลังอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต คำถามที่สำคัญก็คือว่า … ถ้า 3 วันนี้คือวันสุดท้ายของชีวิต เราอยากจะทำอะไร … อยากจะเลือกอยู่ที่ไหน …
การเลือกใช้เวลาสุดท้ายที่โรงพยาบาลจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับยาเพื่อลดความเจ็บปวด เช่น มอร์ฟีนได้ ญาติจะมีความอุ่นใจว่าผู้ป่วยอยู่ในการดูแลของแพทย์ และหากเสียชีวิต กระบวนการตามกฎหมายจะไม่ยุ่งยาก โรงพยาบาลสามารถดำเนินการให้ได้จนถึงการออกใบมรณบัตร ในขณะที่การเลือกใช้เวลาสุดท้ายกับครอบครัวที่บ้านนั้น จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย เพราะได้อยู่ในที่คุ้นเคย ญาติสามารถมาเยี่ยมได้ง่าย แต่หากเสียชีวิตที่บ้าน ก็จะต้องมีการแจ้งความ และย้ายไปโรงพยาบาลเพื่อฉีดฟอร์มาลีนตามกระบวนการค่ะ
สิ่งสำคัญที่ไม่ควรหลงลืมไปก็คือเรื่องของความหวัง … บางครั้งก็เป็นการยากที่จะตัดสินใจ ว่าผู้ป่วยควรทราบอาการของตนเองมากน้อยเพียงใด การทราบความจริงเกี่ยวกับการเจ็บป่วย อาจทำให้ผู้ป่วยท้อแท้ หมดหวัง และอาการทรุดก็เป็นได้ แต่อีกด้านหนึ่ง การทราบความจริงอาจเป็นการช่วยผู้ป่วยในการเตรียมความพร้อมสำหรับช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตก็เป็นได้เช่นกัน … การตัดสินใจไม่มีถูก ไม่มีผิด ไม่มีคำตอบแน่นอนสำหรับเรื่องแบบนี้ค่ะ
ขอขอบคุณราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปรัญญา สากิยลักษณ์ และ แพทย์หญิง ศิริโสภา เตชะวัฒนวรรณา สำหรับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับมะเร็งปอดให้กับนักศึกษาหลักสูตรสื่อสุขภาพรุ่นที่ 2 ในครั้งนี้ รวมทั้งการสาธิตการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัยและเปิดโอกาสให้พวกเราได้เกาะขอบสนามอย่างใกล้ชิดค่ะ
………………….
สรุปและเรียบเรียงโดย ดร. ติ๊ดตี่ ปิยวดี โขวิฑูรกิจ กลุ่มดารารัตน์