มีคำกล่าวที่ว่า ไม่มีความกล้าหาญใดที่ปราศจากความกลัว
ย้อนกลับไปช่วงยุค 1990 เป็นช่วงที่วงการกีฬายิมนาสติกนั้นถูกยึดครองความยิ่งใหญ่แทบจะเบ็ดเสร็จโดยประเทศทางฝั่งยุโปรตะวันออก นำมาโดยรัสเซียและโรมาเนีย เรียกว่าเมื่อถึงช่วงแข่งกีฬาโอลิมปิกก็จะได้เห็นแต่ตัวแทนจากประเทศกลุ่มนี้รับเหรียญทองทั้งประเภททีมและบุคคลจนเป็นเรื่องปกติ
สหรัฐอเมริกาในเวลานั้นมีนโยบายว่าต้องการเป็นที่ 1 ในทุกด้าน ท่ามกลางกลิ่นของสงครามเย็นที่แข่งกันเป็นผู้นำของโลกกับประเทศอย่างรัสเซียยังไม่จางหายดีก็ได้ตั้งเป้าหมายว่าทีมยิมนาสติกของตัวเองจะต้องก้าวขึ้นมาแทนที่มหาอำนาจจากประเทศยุโรปตะวันออกให้ได้ เพราะในปี 1996 นั้นอเมริกาจะเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิคที่แอตแลนต้าบ้านของตัวเอง และแน่นอนว่าคงจะยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้รัสเซียมาหยามถึงถิ่นด้วยการขึ้นไปรับเหรียญทองในบ้านของอเมริกาเอง
แต่ผลงานของทีมยิมนาสติกหญิงของอเมริกาในการแข่งโอลิมปิคครั้งล่าสุดที่เมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปนในปี 1992 นั้นกลับมีเหรียญทองติดมือไปเพียงแค่ 1 เหรียญเท่านั้นจากแชนนอน มิลเลอร์ มืออันดับ 1 ของทีม และได้เหรียญรวมไปเพียงแค่ 6 เหรียญ ในขณะที่รัสเซียซึ่งเข้าแข่งในฐานะชื่อ Unified Team หรือตัวย่อว่า EUN ได้ไปถึง 20 เหรียญ เรียกว่าระดับชั้นห่างไกลกันมากกับการที่อเมริกาจะขึ้นท้าชิงตำแหน่งเจ้าแห่งกีฬายิมนาสติกที่รัสเซียครองมานาน
สมาคมยิมนาสติกสหรัฐอยู่เฉยไม่ได้ จึงส่งทีมงานกระจายทั่วประเทศเพื่อเสาะหาเด็กที่มีพรสวรรค์มาคัดเลือกเพื่อสร้างทีมเลือดใหม่ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการคว้าเหรียญทองยิมนาสติกประเภททีมให้ได้ในการแข่งขันโอลิมปิกที่แอตแลนต้าที่ตะมาถึงในอีก 4 ปีข้างหน้า
ด้วยความพยายามของทีมงาน สมาคมสามารถรวบรวมเด็กที่มีพรสวรรค์มาได้จำนวนมาก แล้วคัดจนเหลือทีมที่มั่นใจว่าเป็นตัวความหวังจริงๆ และสร้างทีมโดยการตระเวนแข่งในรายการระดับชาติ โดยเฉพาะทีมยิมนาสติกหญิงที่รวมเอาระดับพระกาฬมาได้ 7 คนจนได้รับฉายาจากสื่อว่า The Magnificent 7 หรือ 7 มหากาฬ ประกอบไปด้วย หัวหน้าทีมแชนนอน มิลเลอร์ เหรียญทองจากโอลิมปิคที่บาร์เซโลน่า, โดมินิค โมชิอานู, โดมินิค ดอว์ส, เอมี่ ชอว์, อาแมนด้า บอร์เด้น, เจซี่ เฟ้ลส์ป และ เคอรี่ สตรัก
แต่ไม่ใช่ทีมสหรัฐเท่านั้นที่พร้อม ทีมรัสเซียแชมป์เก่าและเจ้าเหรียญทองหลายสมัยก็ไม่ได้ลดถอยความเก่งกาจลง ในการแข่งขันระดับชาติก็ยังสามารถเอาชนะทีมสหรัฐได้ในหลายๆ ทัวร์นาเม้นก่อนถึงการแข่งขันโอลิมปิกตามคาด
อย่างไรก็ดี ด้วยความพยายามของสมาคมยิมนาสติกสหรัฐอเมริกา ช่องว่างระหว่างสองชาติได้ถูกลดความห่างลงอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อการแข่งขันโอลิมปิกแอตแลนต้าเริ่มขึ้น ทีมยิมนาสติกหญิงเป็นการขับเคี่ยวระหว่างทีมสหรัฐและรัสเซียตามคาด และแน่นอนว่าเหรียญที่สำคัญที่สุดที่จะแสดงถึงชัยชนะเบ็ดเสร็จคือเหรียญทองประเภททีม ซึ่งทั้งสองทีมทำได้ดีพอๆ กัน แต่เป็นรัสเซียที่มีโอกาสจะคว้าเหรียญทองได้ทันที ถ้าในอุปกรณ์สุดท้ายคือม้ากระโดด (Vault) ทีมสหรัฐที่ออกมากระโดดทำคะแนนได้ไม่ถึง 9.43 โดยกติกาคือผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนจะได้กระโดดคนละสองครั้งและนับคะแนนที่ดีที่สุดเป็นคะแนนของคนนั้น
คนที่ออกมากระโดดคือโดมินิค โมชิอานู เธอเป็นตัวความหวังอันดับสองรองจากแชนนอน มิลเลอร์ห้วหน้าทีมที่ทุกคนมั่นใจว่าฝากความหวังไว้ได้ แต่โมชิอานูที่ตอนนั้นอายุเพียง 14 ปีซึ่งอาจจะน้อยเกินไปที่จะแบกรับความกดดันและคาดหวังของคนทั้งชาติเอาไว้ทำให้การกระโดดทั้งสองครั้งของเธอนั้นม้วนตัวได้ไม่เร็วพอและกลับตัวไม่ครบรอบ เมื่อลงพื้นจึงล้มก้นกระแทกกับเบาะอย่างจัง คะแนนที่สกอร์บอร์ดขึ้นมาว่าเธอทำได้เพียง 9.137 เท่านั้น
คนสุดท้ายที่ออกมากระโดดคือ เคอรี่ สตรัก ที่แบกรับความกดดันของกองเชียร์ชาวอเมริกันทั้งสเตเดียมและทั้งประเทศ ในขณะที่กล้องก็จับภาพไปที่ทีมรัสเซียที่ก็กระวนกระวายไม่แพ้กัน
เคอรี่เข้าที่และวิ่งออกไป การกระโดดครั้งแรกของเธอดูดีเหมือนการซ้อมทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ปรากฎว่าในการม้วนตัวรอบสุดท้ายเธอทำได้ช้าเกินไปทำให้จังหวะลงพื้นของเธอก็พลาดล้มก้นกระแทกพื้นแบบเดียวกับโมชิอานู
เรื่องคะแนนคงไม่ต้องพูดถึง แต่สิ่งที่แย่กว่าคือ การลงพื้นครั้งนี้ส่งผลให้เอ็นที่ข้อเท้าของเคอรี่ สตรักฉีกขาดถึงสองแห่ง ซึ่งสำหรับคนปกติแค่ยืนและเดินให้ได้ก็เป็นเรื่องยากแล้ว
สภาพจิตใจของเคอรี่ย่ำแย่ ในใจมีแต่ความคิดว่าจะขอโทษทุกคนอย่างไรดี แต่โค้ชเบล่า คาโรลี่คุยกับเคอรี่แล้วพูดกับเธอว่า นี่คือโอกาสของเธอ ขอให้ออกไปกระโดดอีกครั้ง และเชื่อว่าเธอทำได้ แน่นอนว่าเธอเลือกที่จะบอกว่าไม่ไหวก็ได้แล้วยกเหรียญทองให้กับรัสเซียไป แต่สิ่งที่เคอรี่ทำคือเธอกัดฟันลงมากระโดดครั้งที่สองโดยพันข้อเท้าเอาไว้ จากนั้นเธอก็ออกวิ่งอีกครั้ง เป็นการกระโดดที่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของเธอทั้งในการแข่งขันโอลิมปิกนี้และในชีวิตของเธอถ้าเธอพลาดอีกครั้งและบาดเจ็บมากกว่าเดิม
เคอรี่เข้าประจำที่ รวบรวมสมาธิ จากนั้นออกวิ่งกับข้อเท้าที่พันเอาไว้ เธอกระโดดสุดแรง ม้วนตัว กองเชียร์ทั้งในสนามและหน้าจอเฝ้าลุ้นด้วยใจระทึก เธอกระโดดสุดแรง ม้วนตัวสองรอบและลงพื้นด้วยขาข้างเดียวโดยอีกข้างที่บาดเจ็บแค่ประคองเอาไว้ จากนั้นก็ยกมือแสดงถึงการลงพื้นอย่างสมบูรณ์ให้กรรมการรับทราบ เป็นการจบการกระโดดครั้งที่สองแต่เป็นครั้งประวัติศาสตร์ของวงการยิมนาสติกสหรัฐอเมริกา ของโอลิมปิค และของโลก
หลังจากนั้นเธอก็ทรุดลงไปกองกับพื้น ผู้บรรยายตะโกนผ่านไมค์ว่า เคอรี่ สตรักบาดเจ็บ! เธอต้องบาดเจ็บอย่างหนักแน่ๆ!
เคอรี่ที่แทบจะต้องคลานออกจากเบาะรองพื้น ความเจ็บของเธอนั้นมากจนบรรยายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำให้เธอแทบลืมความเจ็บนั้นไปก็คือการรอดูคะแนนบนสกอร์บอร์ดที่แสดงคะแนน 9.712!
ทีมยิมนาสติกหญิงสหรัฐอเมริกาได้เหรียญทองที่สำคัญและเป็นตำนานที่น่าจดจำสุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ และของโลก
หลังจากนั้น ชื่อของสาวน้อย 7 มหากาฬก็ได้ถูกบรรจุเข้าในหอเกียรติยศของโอลิมปิกสหรัฐอเมริกา และเคอรี่สตรักก็ได้เขียนหนังสือออกมาอีกสองเล่มซึ่งกลายเป็น best seller คือ เล่มที่ 1 “Heart Of Gold” ที่ว่าด้วยประวัติของเธอที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายกว่าจะขึ้นมาเป็นนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกได้ และอีกเล่มซึ่งโด่งดังที่สุดก็คือ “Landing On My Feet” A Diary Of Dreams ซึ่งเขียนถึงการใช้ความพยายามในการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ เพื่อสร้างความสำเร็จให้ชีวิต
บางทีชีวิตของคนเราก็คล้ายๆ กับการกระโดดของเคอรี่ สตรัก ก็คือเมื่อพลาดมาแล้ว มันอาจจะทั้งเจ็บ ทั้งอาย กลัวจะพลาดเลยไม่อยากจะทำมันอีก
แต่ตามคำกล่าวที่ว่าไว้ว่า ไม่มีความกล้าหาญใดที่ปราศจากความกลัว ถ้าเราฝึกตัวเองมาดีพอ และคิดซะว่าลองอีกซักตั้ง วันนี้พลาดพรุ่งนี้ก็แค่เอาใหม่ สุดท้ายแล้วความสำเร็จก็อาจจะมาอยู่ตรงหน้าของเรา
“Pain is temporary, pride is forever”
เพราะความเจ็บนั้นเกิดแค่ชั่วคราว แต่เกียรติยศและความภาคภูมิใจนั้นจะคงอยู่ตลอดไป
ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนเพื่อที่จะลุกขึ้นมาพยายามสู้กับทุกสิ่งที่ตั้งใจไว้อีกซักตั้งครับ