“พาราเซตามอล” ยาสามัญประจำบ้านที่เรารู้จักกันดี ไม่ว่าจะเจ็บป่วยอะไร ปวดหัว ตัวร้อน เป็นหวัด เป็นไข้ ยาที่เราจะนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นยาเม็ดกลมสีขาว ยาวิเศษที่แม่มักจะบอกให้เราทานเมื่อเกิดอาการไม่สบายเสมอ หากพูดถึงเรื่องสรรพคุณก็คงไม่ต้องพูดให้มากความเพราะเราก็พอรู้กันอยู่แล้วว่าเจ้ายาชนิดนี้สามารถบรรเทาอาการให้เรายามป่วยไข้ได้ แต่ทุกคนทราบหรือไม่ว่าหากทานเข้าไปบ่อยๆ ก็เกิดโทษเช่นกัน
“ยาแก้ปวด” กับ “ไต” เกี่ยวอะไรกัน?
“กินเค็มมากๆ ระวังจะเป็นโรคไต”
เราคงเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ แต่โรคไตที่ว่านั้นเกิดได้หลากหลายปัจจัย ทั้งจากการเป็นโรคประจำตัวอย่าง เบาหวาน ความดัน หรือจากการกินอาหารรสจัด ทั้งเค็มจัด หวานจัด หรือแม้แต่การรับประทานยาเอง โดยไม่ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในยาแก้ปวดลดไข้ที่ปลอดภัยที่สุดตัวหนึ่ง แต่ยาชนิดนี้ก็อาจมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยโรคตับ โรคไตได้ โดยการรับประทานยาแก้ปวดเหล่านี้อาจยิ่งเพิ่มโอกาสอาการเกิดภาวะตับเป็นพิษ และอาการตับวายเฉียบพลันได้ เนื่องจาก ณ ปัจจุบันยาแก้ปวดที่มีจำหน่ายและใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
-
พาราเซตามอล
-
ยาที่ออกฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน
-
ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs หรือ NSAIDs)
โดยในแต่ละกลุ่มก็จะมีสารที่ไปกระตุ้นให้กลไกการเกิดอาการตับหรือไตวายเฉียบพลันให้เกิดขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทานยาแก้ปวดเมื่อไหร่ก็จะเกิดอาการทันที แต่การที่จะทำให้ยาแก้ปวดเหล่านี้เป็นพิษต่อตับไตได้นั้นคือการรับประทานยาอย่างผิดๆ เช่น การรับประทานอย่างพร่ำเพรื่อ ทานติดต่อกันอย่างยาวนาน ทานดักไว้ก่อนทั้งๆ ที่ต้องมีอาการก่อนจึงจะทานได้ วิธีการผิดๆ เหล่านี้คือเหตุปัจจัยที่แท้จริงที่ทำให้เกิดอันตราย
ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ การรับประทานยาแก้ปวดให้ถูกต้อง
วิธีการรับประทานที่ถูกต้อง
- ในการกินยา 1 ครั้ง ใช้ยาขนาด 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)
- กินครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
- ไม่ควรกินเกิน 8 เม็ดต่อวัน หรือ 4 กรัม/วัน
- สามารถกินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ระวังในผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของตับบกพร่องหรือน้ำหนักตัวน้อย เนื่องจากอาจจำเป็นต้องปรับขนาดยา
- เป็นยารักษาตามอาการ หากไม่มีอาการปวดหรือไม่มีไข้ ไม่จำเป็นต้องกินยา
- กรณีลืมกินยา สามารถกินได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
อย่างไรก็ดี การรับประทานยาแก้ปวดไม่ได้มีอันตรายแต่อย่างใดดังที่กล่าวไว้ข้างต้น หากแต่สิ่งที่พึงระวังก็คือวิธีในการรับประทาน ควรอ่านวิธีรับประทานข้างขวดหรือบนแผงยาให้ดีและทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะมิเช่นนั้นก็อาจจะต้องตกเป็นผู้ป่วยโรคไตไปตามๆ กัน
บทความสุขภาพที่น่าสนใจ
เชื้อดื้อยา คืออะไร ? ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ส่งผลร่างกายอย่างไร
EP. 190 : ภาวะไขมันในเลือดสูง จากกรรมพันธุ์ ภัยร้ายซ่อนเงียบ !