แม้ว่าไฟเบอร์จะจำเป็นต่อร่างกาย แต่หากร่างกายได้รับไฟเบอร์ในปริมาณที่น้อยเกินไป อาจทำให้มีปัญหาต่อสุขภาพได้โดยเฉพาะระบบขับถ่ายที่ต้องพึ่งพาไฟเบอร์เป็นหลัก วันนี้จะมาแนะนำปริมาณไฟเบอร์ต่อวันที่คุณควรได้รับ รวมถึงอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรับประทานอาหารที่นอกจากจะอร่อยแล้วยังดีต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย ว่าแต่มีอะไรบ้าง มาอ่านไปพร้อมกันเลยค่ะ
ทำไมไฟเบอร์ถึงจำเป็นต่อร่างกาย
ไฟเบอร์ (Dietary Fiber) เป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นเส้นใย แบ่งเป็นชนิดละลายได้ (Insoluble dietary fiber) และละลายน้ำไม่ได้ (Soluble dietary fiber) ไฟเบอร์พบได้ในอาหารประเภทผักและผลไม้ รวมถึงเครื่องดื่มบางชนิดด้วย แม้ว่าร่างกายไม่สามารถย่อยไฟเบอร์และเปลี่ยนเป็นพลังงานได้โดยตรง แต่เมื่อร่างกายได้รับไฟเบอร์จากอาหารที่ทานเข้าไป จะเปลี่ยนเส้นใยให้กลายเป็นเจลในกระเพาะอาหาร ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง ส่งผลให้ลดระดับคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือด ส่วนเส้นใยไม่ละลายน้ำจะเดินทางไปยังลำไส้ ส่งผลให้ของเสียมีสภาพอ่อนนุ่มลงและซึมผ่านลำไส้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานได้ดีขึ้นด้วย
ประเภทของไฟเบอร์ในอาหาร
- ชนิดละลายได้ (Insoluble dietary fiber) มีคุณสมบัติพองตัวดูดซึมน้ำ ซึ่งจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นในกระเพาะอาหาร จึงทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว อีกทั้งช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้บีบตัวได้ดีขึ้น พบได้ในข้าวสาลี, ข้าวโพด, ผักชนิดต่าง ๆ , เมล็ดพืช ( เช่น เมล็ดทานตะวัน) , ถั่วเปลือกแข็ง, เผือก, มัน และขนมปังโฮลวีท
- ชนิดละลายน้ำไม่ได้ (Soluble dietary fiber) มีคุณสมบัติละลายน้ำดีและพองตัวเป็นเจลอยู่ภายในลำไส้ ทำให้ลำไส้ย่อยและดูดซึมอาหารช้าลง จึงช่วยลดอัตราการดูดซึมน้ำตาล พบได้ในธัญพืชขัดสีน้อยและถั่วเมล็ดแห้งบางชนิด เช่น ถั่วแดงหลวง หรือในผลไม้บางชนิด ได้แก่ ฝรั่ง, แอปเปิล, ส้ม, ลูกพรุน ฯลฯ
คุณประโยชน์ของไฟเบอร์ที่มีผลต่อร่างกาย
- กระตุ้นการทำงานของลำไส้ ช่วยให้ขับถ่ายเป็นปกติ
- เพิ่มแก๊สในลำไส้ ลดอาการไม่สบายท้อง
- ลดการดูดซึมไขมันและคอเลสเตอรอล
- ลดการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มสูงขึ้น เหมาะสำหรับผู้โรคเบาหวาน
- ดูดซับสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนมาในอาหารและขับออกพร้อมอุจจาระ
ไฟเบอร์พบได้จากอาหารประเภทไหนบ้าง
นอกจากจะพบในผักและผลไม้ทุกชนิดแล้ว ไฟเบอร์ยังพบได้ในธัญพืชเต็มเมล็ด (โฮลเกรน) และเครื่องดื่มบางประเภท ได้แก่ กาแฟปรุงสำเร็จ, นมผสมใยอาหาร และเครื่องดื่มไฟเบอร์ ดังนี้
1. ผัก
- แคร์รอต 100 กรัม ให้ไฟเบอร์ประมาณ 2.8 กรัม ช่วยบำรุงสายตา, รักษาระดับน้ำตาลในเส้นเลือด, เสริมสร้างประสิทธิภาพให้แก่ระบบย่อยอาหาร ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้น
- บรอกโคลี 100 กรัม ให้ไฟเบอร์ประมาณ 2.6 กรัม มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ลดการเสื่อมของเซลล์และช่วยลดการอักเสบภายในร่างกาย อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้การทำงานของลำไส้ดีขึ้น
- กะหล่ำปลี 100 กรัม ให้ไฟเบอร์ประมาณ 2.5 กรัม ช่วยให้ระบบขับถ่ายของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น, ช่วยลดและควบคุมการอักเสบเรื้อรังภายในร่างกาย, ป้องกันภาวะเลือดออกง่าย, ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีและลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือด
- หอมใหญ่ 100 กรัม ให้ไฟเบอร์ประมาณ 1.7 กรัม นอกจากจะช่วยขับล้างสารพิษในร่างกายแล้ว ยังช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่าง ๆ ด้วย
- ผักกาดหอม 100 กรัม ให้ไฟเบอร์ประมาณ 1.3 กรัม เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง, ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย รวมถึงปัญหาสมาธิสั้นและการเรียนรู้ลดลง
2. ผลไม้
- กีวี 100 กรัม ให้ไฟเบอร์ประมาณ 3 กรัม ช่วยให้ขับถ่ายเป็นปกติและสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และช่วยให้หลับง่ายหลับสบายมากขึ้น
- แก้วมังกร 100 กรัม ให้ไฟเบอร์ประมาณ 2.6 กรัม ช่วยดูดซับน้ำภายในร่างกาย ทำให้อิ่มนาน อยู่ท้อง อีกทั้งช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งชุ่มชื้น เสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย
- กล้วย 100 กรัม ให้ไฟเบอร์ประมาณ 2.6 กรัม ช่วยเร่งการเผาผลาญน้ำตาลและไขมันในร่างกาย, ป้องกันโรคโลหิตจาง และลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองจากความดันโลหิตสูง
- ส้ม 100 กรัม ให้ไฟเบอร์ประมาณ 2.4 กรัม ช่วยปรับสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด, ช่วยลดความดันโลหิต, มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ และลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
- แอปเปิล 100 กรัม ให้ไฟเบอร์ประมาณ 2.4 กรัม บำรุงหลอดเลือดและหัวใจ, ลดและกำจัดคอเลสเตอรอลชนิดเลว, เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน, ลดอาการข้ออักเสบและแก้ท้องผูก
3. ธัญพืช
- ลูกเดือย 100 กรัม ให้ไฟเบอร์ประมาณ 3.4 กรัม ลดอาการท้องผูก, บำรุงฟันและกระดูกให้แข็งแรง, นอนหลับสบายยิ่งขึ้น
- ถั่วดำ 100 กรัม ให้ไฟเบอร์ประมาณ 5.4 กรัม ช่วยลดความอยากอาหาร, ลดความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด, ป้องกันโรคหัวใจและมะเร็ง
- งาดำอบ 100 กรัม ให้ไฟเบอร์ประมาณ 15.7 กรัม ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง, เสริมสร้างระบบเผาผลาญและสลายไขมันได้ดีขึ้น, ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดแข็งตัว
- ข้าวบาร์เลย์ 100 กรัม ให้ไฟเบอร์ประมาณ 17 กรัม ช่วยควบคุมอัตราการย่อยและการดูดซึมคาร์โบไฮเดรตและไขมัน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
- ข้าวโอ๊ต 100 กรัม ให้ไฟเบอร์ประมาณ 12.3 กรัม ช่วยเสริมสร้างระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้ดีขึ้น, ช่วยลดคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลกลูโคส รวมถึงลดไขมันที่สะสมอยู่ภายในอวัยวะต่าง ๆ ด้วย
คนเราควรได้รับปริมาณไฟเบอร์ต่อวันจำนวนเท่าไหร่
ในที่นี้จะขอแบ่งปริมาณตามช่วงวัยและเพศสภาพของแต่ละคน ได้แก่ เด็กผู้ชาย, เด็กผู้หญิง, ผู้ชาย และผู้หญิง
1. ปริมาณไฟเบอร์ต่อวันสำหรับเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง
สำหรับเด็กนั้นมีสูตรคำนวณปริมาณไฟเบอร์ที่ควรได้รับในแต่ละวัน ตามสูตรต่อไปนี้ “อายุ + 5 กรัม” เช่น อายุ 5 ปี ควรได้รับปริมาณไฟเบอร์ เท่ากับ 5+5 = 10 กรัม/วัน
2. ปริมาณไฟเบอร์ต่อวันสำหรับผู้ชาย
- ผู้ชายที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ควรได้รับไฟเบอร์ปริมาณ 38 กรัม/วัน
- ผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับไฟเบอร์ปริมาณ 25 กรัม/วัน
3. ปริมาณไฟเบอร์ต่อวันสำหรับผู้หญิง
- ผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ควรได้รับไฟเบอร์ปริมาณ 30 กรัม/วัน
- ผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับไฟเบอร์ปริมาณ 21 กรัม/วัน
ข้อควรระวังในการทานอาหารที่มีไฟเบอร์
- ไม่ควรทานอาหารที่มีไฟเบอร์มากเกิน 50-60 กรัม/วัน เพราะอาจขัดขวางการดูดซึมวิตามินและเกลือแร่บางชนิด
- ควรดื่มน้ำปริมาณมากควบคู่กัน เพื่อเร่งให้ไฟเบอร์ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
- ไฟเบอร์อาจส่งผลต่อการดูดซึมและการออกฤทธิ์ของยาบางชนิด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทาน
- หากรู้สึกคลื่นไส้ หรือมีไข้สูง รวมถึงไม่ขับลมหรือไม่ขับอุจจาระเป็นเวลา 2-3 วัน ให้รีบพบแพทย์โดยทันที
บทความที่น่าสนใจ
ส่อง 7 อาหารไฟเบอร์สูง ช่วยลดน้ำหนักได้ !
อาหารกากใยสูง ช่วยขับถ่าย ลดน้ำหนัก หน้าท้องยุบ