ข่าวร้อนระอุเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ได้เห็นว่า คำว่า “บริหารความเสี่ยง” ถูกนำไปอ้างอิงแต่ไม่ได้ใช้อย่างถูกต้องด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถ่องแท้ จึงนำมาซึ่งผลกระทบอย่างรุนแรงดังที่เห็นเป็นข่าว ทั้งยังส่งผลต่อธุรกิจประกันวินาศภัยโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขอแชร์มุมมองในเรื่องนี้ ผ่านเลนส์ของคนที่เรียนปริญญาโทและปริญญาเอกด้านบริหารความเสี่ยงมาโดยตรง และสอนหนังสือรวมทั้งทำงานด้านบริหารความเสี่ยงในธุรกิจประกันวินาศภัยมานานพอควรค่ะ
ทำความเข้าใจกับคำว่า “ความเสี่ยง”
เวลาที่เราพูดถึงคำว่า “ความเสี่ยง” เรามักจะคิดตั้งต้นไปก่อนในมุมลบว่าความเสี่ยงเป็นสิ่งไม่ดี ไม่พึงปรารถนา ซึ่งความคิดนี้ก็ไม่ได้ผิดอะไรนะคะ หากแต่เป็นนิยามของคำว่าความเสี่ยงสมัยที่ผู้เขียนเรียนเรื่องการบริหารความเสี่ยงที่อเมริกาเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วค่ะ
ด้วยโลกที่เปลี่ยนไปและความรู้ที่พัฒนามากขึ้น คำว่า “ความเสี่ยง” ในยุคนี้สมัยนี้จึงไม่ได้หมายความในเชิงลบแต่เพียงอย่างเดียว … Risk ไม่ได้แปลว่า Loss อีกต่อไป … หากแต่หมายถึงสภาวะซึ่งมีความไม่แน่นอนในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตค่ะ ว่าจะต่างไปจากที่เราได้คาดการณ์ไว้มากน้อยเพียงใด
ดังนั้น ความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่มีความไม่แน่นอนในอนาคตแฝงอยู่ด้วย หากเหตุการณ์ใดที่เราสามารถทราบชัดเจนแน่นอนแล้วว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเช่นไร เหตุการณ์ในลักษณะเช่นนั้นจะไม่ถือว่ามีความเสี่ยงนะคะ … และเมื่อไม่ใช่ความเสี่ยง บริษัทประกันภัยจึงไม่รับประกันภัยค่ะ
ความเสี่ยงอาจเป็นสิ่งที่ไม่ดี หากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นออกมาแย่กว่าที่เราคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งก็มีศัพท์เฉพาะที่เรียกกันว่าความเสี่ยงด้านลบ (Downside Risk) หรือภัยคุกคาม … และในทางกลับกัน ความเสี่ยงก็อาจถูกมองในเชิงบวกหรือเป็นสิ่งที่ดีได้ที่เรียกว่าความเสี่ยงด้านบวก (Upside Risk) หรือโอกาส หากเรามีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีและเหมาะสม ถูกที่ ถูกเวลาค่ะ
ดังนั้น ความเสี่ยงนั้นจะดีหรือไม่ดี ก็ขึ้นกับมุมมองของแต่ละคน ว่าใครจะสามารถมองหาและมองเห็นโอกาสจากเหตุการณ์ต่างๆ แล้ว Take action เพื่อปรับเปลี่ยนภัยคุกคามในมุมมองของผู้อื่น ให้กลายเป็นโอกาสของเราได้ …
ประกันภัยโควิด-19 คือตัวอย่างที่สำคัญค่ะ โควิด-19 เกิดขึ้นมาอาละวาดทำลายระบบเศรษฐกิจ ทำลายธุรกิจ ทำลายชีวิตและสุขภาพของผู้คนทั่วโลก จึงถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามหรือ Downside Risk ในสายตาคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันวินาศภัยในประเทศไทยได้มองเห็นถึงโอกาสและพัฒนาประกันภัยโควิด-19 รูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับความเสี่ยงด้านการเงินและสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเบี้ยประกันภัยโควิด-19 นั้นมีราคาไม่แพง ซื้อออนไลน์ได้ง่าย จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี โควิด-19 จึงกลายเป็น Upside Risks ของธุรกิจประกันวินาศภัยค่ะ โดยจะเห็นว่า มีผู้ที่สนใจซื้อประกันภัยโควิดจากบริษัทประกันวินาศภัยกว่า 23 ล้านฉบับ และมีเบี้ยประกันภัยประมาณ 9 พันล้านบาทเลยทีเดียว
โควิด-19 ต่างกับความเสี่ยงที่เรารู้จักอย่างไร
เราคงได้ยินกันอยู่นะคะว่า โควิด-19 นั้นถูกจัดว่าเป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ หรือ “Emerging Risk” … แล้วความเสี่ยงอุบัติใหม่คืออะไร … ต่างจากความเสี่ยงของบริษัทประกันวินาศภัยโดยทั่วไปอย่างไร …
ความเสี่ยงอุบัติใหม่หมายถึงความเสี่ยงใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้น จึงยากต่อการประเมินโอกาส ความรุนแรง และTiming ในการเกิดค่ะ นอกจากนี้ โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนและความผันผวนสูง และหากสถานการณ์การแพร่ระบาดมีความรุนแรงมากแล้ว ก็จะทำให้โควิด-19 ถูกจัดเป็นความเสี่ยงที่เป็นมหันตภัยได้เลยทีเดียว
เนื่องจากโควิด-19 เป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ จึงทำให้บริษัทประกันภัยขาดสถิติและข้อมูลอ้างอิงในการทำงานเหมือนกับความเสี่ยงโดยทั่วไป เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม อุบัติเหตุทางรถยนต์ ดังนั้น การประเมินความถี่ ความรุนแรง และเวลาในการเกิดโควิด-19 จึงเป็นเรื่องที่ยาก การนำข้อมูลและสถิติจากต่างประเทศมาใช้ก็ไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้เต็มที่ เนื่องจากสภาวะแวดล้อมและบริบทด้านต่างๆ ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไปค่ะ
แล้วหากโควิด-19 เป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ ทำไมบริษัทประกันวินาศภัยถึงได้มีการคิดค้นประกันภัยโควิด-19 ขึ้นมา …
ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงโดยตรงค่ะ … ธุรกิจประกันภัยเกิดขึ้นและเติบโตมาได้ก็เพราะเล็งเห็นถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และสามารถพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยเพื่อให้ความคุ้มครองความเสี่ยงที่ธุรกิจและประชาชนประสบพบเจอ … เมื่อมีความเสี่ยง จึงต้องมีประกันภัยไปรองรับ ตราบเท่าที่เบี้ยประกันภัยนั้นมีความเพียงพอ บริษัทประกันวินาศภัยก็สามารถอยู่รอดและเติบโตได้
เมื่อโลกใบนี้ไม่ใช่โลกใบเดิมที่เราเคยอาศัยอยู่ และความเสี่ยงในวันนี้ ก็ไม่ใช่ความเสี่ยงรูปแบบเดิมเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต บริษัทประกันภัยจึงต้องตอบสนองให้เร็วต่อการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป การนำเสนอประกันภัยโควิด-19 ซึ่งคุ้มครองความเสี่ยงอุบัติใหม่แม้จะเป็นการสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับบริษัทประกันวินาศภัยหลายบริษัทในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวก็ตามที แต่ก็อาจนำมาซึ่งภัยคุกคามที่ยากต่อการคาดการณ์ผลลัพธ์ได้เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ บริษัทประกันวินาศภัย จึงต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบและเป็นมืออาชีพค่ะ
การบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย
ชีวิตคนเรามีเป้าหมาย ธุรกิจก็เช่นกันค่ะ … การกำหนดเป้าหมายและเดินไปให้ถึงเป้าหมายทางธุรกิจนั้นต้องเผชิญกับความท้าทายและปัจจัยนานัปการ ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องบริหารความเสี่ยงซึ่งอาจจะทำให้เราไม่บรรลุเป้าหมายที่เราต้องการ
การบริหารความเสี่ยงเป็นกระบวนการในการมองไปข้างหน้า ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้างที่ทำให้องค์กรอาจไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และวางแผน จัดการ และควบคุมกิจกรรมต่างๆ ในองค์กรแบบบูรณาการ เพื่อจัดการความเสี่ยงเหล่านั้นตั้งแต่วันนี้ เพื่อช่วยบรรเทาผลลัพธ์ด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้น และส่งเสริมความเสี่ยงด้านบวกให้เกิดขึ้นมา เพื่อให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ทั้งนี้ทั้งนั้น การบริหารความเสี่ยงจะต้องทำ ณ 3 จุดเวลาด้วยกัน คือ 1) ก่อนเกิดเหตุการณ์ ซึ่งเป็นการคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และป้องกันหรือหาโอกาสจากความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยดูภาพแบบองค์รวม 2) ขณะเกิดเหตุการณ์ ซึ่งเป็นการแก้ไขภาวะที่ไม่พึงประสงค์หรือภาวะวิกฤต และ 3) หลังเกิดเหตุการณ์ ซึ่งเป็นการกู้คืนความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นค่ะ
อ่านคอนเซ็ปท์ของการบริหารความเสี่ยงแล้วดูเหมือนไม่มีอะไรมาก แต่จริงๆ แล้ว การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัยนั้นมีความยากและซับซ้อนค่ะ
ธุรกิจประกันภัยต่างไปจากธุรกิจอื่นตรงที่ว่า ณ วันที่บริษัทประกันภัยขายความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยให้ลูกค้านั้น เรายังไม่ทราบต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของเราว่าจะเป็นเท่าใด เบี้ยที่รับมาจะพอหรือไม่พอกับค่าใช้จ่ายและค่าสินไหมทดแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเบี้ยประกันภัยที่เราได้รับจากลูกค้านั้น เป็นการรับเงิน ณ วันนี้ เพื่อความคุ้มครองสำหรับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดในวันหน้า ซึ่งประเมินค่าแน่นอนตายตัวยังไม่ได้ เบี้ยประกันภัยนั้นเป็นเพียงแค่การประเมินความเสี่ยงของลูกค้าโดยอาศัยข้อมูลและสถิติรวมถึงการคาดการณ์เหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตมาประกอบกันค่ะ นอกจากนี้แล้ว เบี้ยประกันภัยที่บริษัทรับมา ก็ไม่สามารถรับรู้เป็นรายได้ทั้งหมดในทันที แต่ต้องทยอยรับรู้ไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลาของการคุ้มครองด้วยค่ะ
โดยทั่วไปแล้ว ในการรับประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัยนั้น จะมีการคำนวณหา Total Exposure ทั้งหมดของบริษัทจากการรับประกันภัยทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นประกันภัยรถยนต์ อัคคีภัย อุบัติเหตุ สุขภาพ และประกันภัยอื่นๆ ที่ขายค่ะว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ประกันภัยประเภทไหนเสี่ยงมากคือมีความผันผวนของค่าสินไหมทดแทนที่อาจจะเกิดขึ้นสูง ก็จะต้องมีเงินกองทุนมารองรับความเสี่ยงมากตามไปด้วย แต่หากไม่มั่นใจว่าเงินกองทุนของบริษัทจะสามารถรองรับ Total Exposure ได้เพียงพอ ก็จำเป็นต้องมีการทำประกันภัยต่อที่เหมาะสมและเพียงพอ
นอกเหนือจากการคำนวณความเพียงพอของเงินกองทุนในสภาวะการประกอบธุรกิจโดยปรกติแล้ว บริษัทประกันภัยยังมีการกำหนด Scenarios ต่างๆ ตามสถานการณ์ความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป และทำการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) เพื่อดูผลกระทบกับความมั่นคงทางการเงินและเงินกองทุนของบริษัทด้วยค่ะ โดยการทดสอบภาวะวิกฤตนั้นจะต้องทำเป็นประจำทุกปีตามกฎเกณฑ์ที่สำนักงาน คปภ. กำหนด และตามสถานการณ์ที่บริษัทกำหนดขึ้นเอง นอกจากนี้แล้ว บริษัทประกันภัยยังต้องมีการกันเบี้ยประกันภัยที่รับมาเป็นเงินสำรองเพื่อรองรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากความคุ้มครองที่ยังไม่สิ้นสุดด้วยค่ะ
เกิดอะไรขึ้นกับประกันภัยโควิด-19
เนื่องจากโควิด-19 เป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ สถิติและข้อมูลจึงมีจำกัด นอกจากนี้แล้ว โควิด-19 ยังเป็นความเสี่ยงที่มีความผันผวนสูงยากต่อการคาดการณ์ ดังจะเห็นได้จากช่วงแรกของการระบาดที่มีความรุนแรงและยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ประกันภัยโควิด-19 จึงได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน แต่เมื่อเวลาผ่านไป การควบคุมโรคเป็นไปได้ด้วยดี จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงเป็น 0 ติดต่อกันหลายเดือน ความสนใจในประกันภัยโควิด-19 ก็ร้างราตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์คลัสเตอร์ทองหล่อและอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันและผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกันภัยโควิด-19 จึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ในไตรมาส 2 ของปีนี้ซึ่งมีการซื้อกว่า 12 ล้านกรมธรรม์ และมีเบี้ยประกันภัยกว่า 4,000 ล้านบาท
ค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทประกันวินาศภัยต้องจ่ายสำหรับความคุ้มครองประกันภัยโควิด-19 นั้นก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทได้จ่ายไปในไตรมาส 1 ของปีนั้น อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท สูงกว่าค่าสินไหมที่ได้จ่ายไปทั้งหมดในปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 70 กว่าล้านบาท และในไตรมาส 2 ของปีนี้ ค่าสินไหมทดแทนได้พุ่งสูงขึ้นกว่า 2,000 % มาอยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านบาท และเป็นที่มาของการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยแบบเจอ จ่าย จบ ของบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งดังที่ปรากฏต่อสาธารณะ
ความผิดพลาดในการบริหารความเสี่ยงในภาวะวิกฤต
ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่ขาย Trust ขายความน่าเชื่อถือ และขายความคุ้มครองทางการเงินให้กับประชาชนและสังคม ซึ่งหวังที่จะพึ่งพาบริษัทประกันภัยในยามที่เดือดร้อน การตัดสินใจบอกเลิกกรมธรรม์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดที่จัดว่าอยู่ในระดับวิกฤตในเวลานี้ จึงถือเป็นการทำลายความเชื่อถือและความไว้วางใจที่ลูกค้าผู้เอาประกันภัยมีให้กับบริษัท และเรียกได้ว่าเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ไม่มีประสิทธิภาพค่ะ
ถึงแม้ในกรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับจะมีข้อความให้บริษัทประกันภัยและผู้เอาประกันภัยสามารถใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ก็ตาม การบอกเลิกโดยบริษัทประกันภัยที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น จะใช้เฉพาะในกรณีที่พบพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายว่าเป็นการกระทำที่เป็น Fraud หรือผู้เอาประกันภัยมีพฤติกรรมการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสูงและบ่อยผิดปรกติเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเกิดเป็นกรณีเฉพาะรายเท่านั้น ไม่มีการยกเลิกทั้งหมดดังที่เห็นปรากฏเป็นข่าว
การตัดสินใจบอกเลิกกรมธรรม์ในภาวะซึ่งอาจทำให้บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนในจำนวนที่สูงมากจนอาจจะขาดทุนได้ โดยไม่พิจารณาความเสี่ยงและประเมินผลกระทบที่จะตามมาในด้านอื่น โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านชื่อเสียงและภาพลักษณ์ นับว่าขัดต่อหลักของการบริหารความเสี่ยงซึ่งจะต้องดูภาพความเสี่ยงแบบองค์รวม ไม่มองความเสี่ยงแยกออกจากกันเป็น Silo ของใครของมันเท่านั้น การบริหารความเสี่ยงไม่ใช่เป็นเรื่องของการจัดการเพื่อลดความเสี่ยงหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นเพิ่มความเสี่ยงด้านอื่นแทนที่อาจรุนแรงกว่าเดิม และไม่ใช่เป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยงในระยะสั้น แต่กลับเพิ่มความเสี่ยงในระยะยาวให้กับองค์กรค่ะ
การบริหารความเสี่ยงเน้นการตัดสินใจโดยมองความคุ้มค่าเป็นหลัก แม้บริษัทอาจจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ก็ถือเป็นการปฏิบัติตามสัญญาประกันภัยที่มีไว้กับลูกค้าและทำให้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัทยังคงอยู่ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจบอกเลิกกรมธรรม์เพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนซึ่งก่อให้เกิดกระแสสังคมอย่างรุนแรงโดยเฉพาะบน Social Media ถือเป็นผลลัพธ์ที่ได้ไม่คุ้มเสีย แบบนี้เรียกว่าไม่คุ้มค่าและจ่ายแพงด้วยชื่อเสียง ภาพลักษณ์ ธุรกิจที่เสียไปในตอนนี้และที่จะสูญเสียตามมาในอนาคตด้วยค่ะ
Crisis Management ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ การบริหารความเสี่ยงในขณะที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตจากกระแสสังคมยิ่งต้องมีประสิทธิภาพมาก การ Respond ให้เร็วและเหมาะสมในยุค Social Media ครองเมืองถือเป็นหัวใจสำคัญ
การขอโทษต่อการตัดสินใจที่ไม่รอบคอบและไม่เป็นมืออาชีพ ความกล้าที่จะยอมรับผิดแบบตรงไปตรงมา การแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความจริงใจ และการให้คำรับรองโดยผู้บริหารระดับสูงว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ลงได้ และถือเป็นหัวใจของ Crisis Management ที่ทุกธุรกิจพึงทำเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น การแจ้งยกเลิกการบอกเลิกกรมธรรม์โดยที่ไม่ระบุประเด็นที่ได้กล่าวมา จะไม่ช่วยกอบกู้สถานการณ์และสร้างความเชื่อมั่นจากลูกค้าของบริษัทให้กลับมาได้ดังเดิม และยิ่งเป็นการผลักลูกค้าออกไปไกลกว่าเดิม … ไปยังคู่แข่งโดยที่เขาเหล่านั้นไม่ต้องทำอะไรเลย …
การบริหารความเสี่ยงหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วก็สำคัญ การเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและนำบทเรียนมาทบทวนและปรับปรุงกลยุทธ์และการทำงานในอนาคตจะช่วยทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก … มองหนังมองละครแล้วย้อนดูตัว … ทุกคนทำผิดพลาดได้ค่ะ แต่ผิดแล้ว ต้องรีบแก้ไขให้เร็ว เพราะความผิดพลาดบางอย่างอาจไม่มี Second Chance ให้แก้ตัวได้อีก …
บทส่งท้าย
ขอปิดท้ายบทความด้วยคำกล่าวสั้นๆ ของคุณ Warren Buffet ค่ะว่า “It takes 20 years to build a reputation and 5 minutes to ruin it. If you think about that, you will do things differently.”
การตัดสินใจในทุกเหตุการณ์นั้นจะมีผลที่ตามมาเสมอ เราจึงต้องคิดให้ครบ คิดให้จบ คิดแบบ Win Win Win ทั้งเรา ทั้งลูกค้า ทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักที่เกี่ยวข้อง เราถึงจะเป็นผู้ชนะที่แท้จริงค่ะ
เราไม่ปิดความเสี่ยงหนึ่งเพื่อไปเปิดความเสี่ยงอื่นซึ่งอาจจะใหญ่กว่า รุนแรงกว่า … เหรียญมี 2 ด้าน ดาบมี 2 คม … และเพราะการตัดสินใจทุกอย่างมีราคา เราจึงควรต้อง Take Intelligent Risks กันค่ะ
…………………………………………………..
ดร. ปิยวดี โขวิฑูรกิจ
20 กรกฎาคม 2564