พริกน้ำปลาเป็นเครื่องแนมปรุงรสที่อยู่คู่โต๊ะอาหารทุกบ้าน คนไทยนิยมทานพริกน้ำปลาแนมคู่กับอาหารหลายเมนู เช่น ไข่ดาว ไข่เจียว ผัดผัก ฯลฯ เพื่อเพิ่มรสชาติให้จานอาหารเข้มข้นขึ้น และถูกปากมากขึ้น แต่ว่าก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการสะสมของโซเดียมสูงจนเกิดโรคได้ วันนี้เราจึงมีวิธีทานพริกน้ำปลายังไงให้ปลอดภัย ปลอดโรค ลดการสะสมโซเดียม ถนอมไตให้แข็งแรง
“พริกน้ำปลา” หรือ “น้ำปลาพริก” ?
น้ำปลาพริกเป็นเครื่องปรุงแนมที่นิยมทานกันทั่วไป ส่วนประวัติของน้ำปลาพริกนั้นเชื่อกันว่า คนไทยอาจจะรู้จักน้ำปลาพริกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนประกอบหลักก็จะมีน้ำปลาและพริกสด แต่ว่าในปัจจุบันมีการปรับแต่งสูตรขึ้นมามากมายเพื่อเพิ่มรสชาติมากขึ้น เช่น หอมแดง กระเทียม มะนาว
ส่วนของน้ำปลา ก็สามารถเลือกได้ตามความชอบ โดยหลัก ๆ น้ำปลาที่นิยมทานกันในปัจจุบันจะมีอยู่ 3 ชนิด คือ
- น้ำปลาแท้ ผลิตจากปลา จุดเด่นคือรสชาติเค็มกลมกล่อม ไม่เค็มจัด กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์
- น้ำปลาผสม ผลิตจากปลาแท้เช่นกัน แต่ว่ามีการนำน้ำปลาไปเจือจางกับน้ำเกลือ ทำให้มีราคาถูกกว่า มีรสชาติเค็มนำ กลิ่นไม่หอม
- น้ำปลาชนิดอื่น ๆ อาจจะผลิตจากปลาหมึกหรือสัตว์ทะเลชนิดอื่น ๆ รสชาติเค็มเหมือนน้ำปลาแท้ แต่ว่ากลิ่นไม่หอมเหมือนน้ำปลาแท้
ส่วนของพริกที่นิยมใช้ก็มักจะใช้พริกชี้ฟ้าเขียวหรือแดง และพริกขี้หนู
ทำไมน้ำปลาพริกถึงอันตราย?
จริง ๆ แล้วพริกน้ำปลานั้นก็ผลิตจากน้ำปลาที่เป็นเครื่องปรุงรสชาติที่ใช้สำหรับเสริมรสชาติอยู่แล้ว ดังนั้นน้ำปลาจึงไม่ได้เป็นอาหารที่อันตราย แต่สิ่งที่อันตรายก็คือปริมาณโซเดียมที่อยู่ในน้ำปลาต่างหาก เพราะว่าในน้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะจะมีปริมาณโซเดียมอยู่ในนั้นสูงถึง 500 มิลลิกรัม ซึ่งปริมาณโซเดียมที่ร่างกายต้องการคือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (หรือนึกภาพง่าย ๆ คือ เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา หรือน้ำปลาไม่เกิน 4-5 ช้อนชา) และในอาหารไทยนั้นเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อถึงความจัดจ้านทำให้มีปริมาณโซเดียมสูงอยู่แล้ว เมื่อเราทานแล้วเติมน้ำปลาพริกเพิ่มเข้าไปอีกก็จะยิ่งเพิ่มโซเดียม x 2 เมื่อทานเข้าไปบ่อย ๆ ก็ทำให้ร่างกายเกิดโซเดียมสะสม ทำให้ไตทำงานหนัก เสี่ยงต่อโรคไต โรคความดันในเลือด โรคหัวใจและหลอดเลือด
ทานน้ำปลาพริกอย่างไรให้ปลอดภัย
วิธีทานน้ำปลาพริกให้ปลอดภัยและห่างไกลโรคก็คือ ไม่ควรเติมน้ำปลาหนักมือจนเกินไปและไม่ควรติดปรุงรสด้วยน้ำปลาพริกในทุกมื้อเพราะจะเป็นการเพิ่มโซเดียมระหว่างมื้ออาหารโดยไม่จำเป็น หรือจะเลี่ยงการใช้น้ำปลาทั่วไป แต่หันมาทานน้ำปลาชนิดลดโซเดียม หรือปรุงรสอาหารด้วยเกลือโพแทสเซียมแทนก็จะช่วยลดโซเดียมได้ตั้งแต่ต้นทางค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เกลือโพแทสเซียม เกลือลดโซเดียมแบบใหม่ ทางเลือกของคนรักสุขภาพ
อันตรายจากซุปก้อน ซุปผง ซุปสำเร็จรูป อร่อยได้ง่าย ๆ แต่เสี่ยงไตพัง