C
คอเลสเตอรอลกับคนผอม อาจจะให้ความรู้สึกว่าไกลตัว เพราะ คอเลสเตอรอลสูงนั้นเรามักจะเกิดขึ้นในคนอ้วนเท่านั้น และปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความอ้วน” จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคได้มากมาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า “ความผอม” นั้นจะไม่มีโรคร้ายแอบซ่อนอยู่โดยเราไม่ทันรู้ตัว เมื่อไม่กี่วันก่อน ผู้เขียนได้พบเจอเพื่อนรุ่นน้องคนนึง เธอบ่นให้ฟังว่า “โดยปกติ เธอเป็นคนชอบออกกำลังกาย ระมัดระวังอาหารการกินมาโดยตลอด เรียกได้ว่า เธอเป็นสายเฮลตี้เสียด้วยซ้ำ ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เธอไปตรวจสุขภาพ ผลจากการเจาะเลือด ปรากฏว่า ค่าคอเลสเตอรอลเธอสูงขึ้น แบบเจ้าตัวยัง งง ตัวเองว่ามันมาจากที่ใด” แน่นอน เพื่อนรุ่นน้องท่านนี้ มีรูปร่างไม่อ้วนเลย แถมอิงไปทางผอมเสียด้วยซ้ำ และถูกต้องค่ะ เจ้าตัวไขมันในเลือดสูง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในคนอ้วน และ คนผอม และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็น “โรคหัวใจ” และโรคต่าง ๆ ตามมาอีกเป็นพรวน
โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ประมาณ 18.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 31 ของอัตราการตายทั่วโลก สำหรับประเทศไทย จากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข พบอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ สูงขึ้นทุกปี โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ การมีภาวะความดันโลหิตสูง การมีภาวะไขมันในเลือดสูง (ผิดปกติ) ภาวะอ้วนลงพุง และแน่นอน ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยในคนไทยที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจคือ ภาวะไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 83.2 ภาวะความดันโลหิตสูง ร้อยละ 59.7 และภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (เบาหวาน) ร้อยละ 50.7 เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
คอเลสเตอรอลกับคนผอม ตัวชี้วัดสุขภาพว่าดีหรือแย่?
คอเลสเตอรอล คือ ไขมันประเภทหนึ่งที่พบได้ในส่วนของผนังเซลล์ในร่างกายเรา รวมทั้งเป็นองค์ประกอบของน้ำดีอีกด้วย และแน่นอน ร่างกายของเราจะได้รับคอเลสเตอรอลจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป และจากตับของเราที่สามารถสังเคราะห์คอเลสเตอรอลขึ้นเองได้เช่นกัน ดังนั้น คอเลสเตอรอลที่เรารับประทานเข้าไปมากเกินไป จึงกลายเป็นส่วนเกินในร่างกาย (เห็นมั๊ย ภัยมาอย่างเงียบ ๆ)
มาดูกัน…ไขมันในเลือดสูง เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง ?
- พันธุกรรม บุพการี หรือคนในครอบครัวมีประวัติไขมันในเลือดสูง
- ชอบทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่นอาหารทอด หรือ เนื้อสัตว์ติดมัน
- ไม่ชอบออกกำลังกาย
- ดื่มแอลกอฮอล์หนัก ดื่มเป็นประจำ
รู้ยัง ไขมันในร่างกาย แบ่งได้ 3 ประเภท
1.ไขมันใต้ผิวหนัง
เป็นชั้นไขมันที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่าจากรูปร่างที่อ้วน อวบท้วม โดยไขมันชนิดนี้ สะสมในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ต้นแขน ต้นขา พุง สะโพก เป็นต้น โดยไขมันในส่วนนี้ มาจากการสะสมของน้ำตาลที่แปรสภาพเป็นไขมัน แล้วไปเกาะอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนั่นหล่ะค่ะ
2.ไขมันในช่องท้อง
เป็นไขมันใต้ชั้นผิวหนัง แต่เกิดจากอาหารประเภทไขมันที่เราทานเข้าไป แต่เราใช้พลังงานจากอาหารเหล่านั้นไม่หมด มันเลยมาเกาะอยู่ตามกล้ามเนื้อหน้าท้อง กับอวัยวะภายในช่องท้องโดยมันจะแทรกตัวอยู่ตามเนื้อเยื่อของเซลล์ต่าง ๆ หากเราอัลตราซาวน์ดู จะพบว่าอวัยวะภายในท้องถูกห่อหุ้มด้วยถุงไขมันสีเหลือง
3.ไขมันในเลือด
แน่นอน ไขมันชนิดนี้ ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า เราจะทราบว่าเรามีไขมันในเลือดสูงหรือไม่นั้น ก็ต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งประกอบด้วย คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ฟอสโฟลิปิด และกรดไขมันอิสระ
ไขมันในเลือด แบ่งประเภท ดังต่อไปนี้ :-
- LDL คือ ไขมันเลว ควรน้อยกว่า 130 mg/dl ซึ่งมีส่วนประกอบของคอเลสเตอรอลในปริมาณสูง
- HDL คือ ไขมันดี ควรมากกว่า หรือ เท่ากับ 40 mg/dl เพราะเป็นไขมันที่ช่วยขนส่งคอเลสเตอรอลจากเซลล์ต่าง ๆ ไปทำลายที่ตับ
- Triglycerine ควรน้อยกว่า 150mg/dl ซึ่งถ้ามีมาก ยิ่งทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว
ทำไม ไขมันในเลือดสูง ต้องเสี่ยงโรคหัวใจด้วยหล่ะ ?
เพราะเมื่อไขมันในเลือดสูง ไขมันเหล่านี้ มันจะเข้าไปเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวการณ์อักเสบ และภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว พอมันเริ่มสะสมมากขึ้น ๆ หลอดเลือดในร่างกายก็จะเกิดการตีบตัน อุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจหรือ หลอดเลือดสมองตีบ ที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ หัวใจวาย ซึ่งเป็นภาวะเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิต ! ฉะนั้น อยากจะบอกว่า ระดับคอเลสเตอรอล ถือเป็นตัวดัชนีชี้วัดสุขภาพด้วยเช่นกัน
ใช้ชีวิตอย่างไร เมื่อเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง
ภาวะไขมันในเลือดสูง โดยส่วนใหญ่มาจาก You are what you eat นั่นเอง ฉะนั้น ควรให้ความสำคัญในการเลือกอาหารที่จะรับประทาน ขออนุญาตเรียงตามลำดับที่ใกล้ตัว ปฏิบัติง่าย ๆ ก่อนเลยหล่ะกัน
- ลดอาหารประเภทแป้ง อาหารหวาน ผลไม้รสหวานจัด
- ลดน้ำหนักตัว (ในกรณีคนอ้วน)
- ออกกำลังกาย อย่างน้อยเริ่มจากการวิ่งเหยาะ ๆ ก่อนก็ได้ ว่ายน้ำบ้าง หรือ เต้นแอโรบิค
- เลี่ยงอาหารที่มีคอเรสเตอรอลสูง เช่น พวกอาหารกลุ่มซีฟู้ด หอยนางรม ปลาหมึก เครื่องในสัตว์ ไข่แดง และเลี่ยงอาหารที่มีน้ำมันเยอะ เลี่ยงอาหารทอด ควรหันมาทานอาหารนึ่ง จะดีที่สุด
จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่จะเน้นเกี่ยวกับเรื่องการกิน ฉะนั้น ภาวะไขมันในเลือดสูง ถือเป็นภัยเงียบที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคต่าง ๆ มากมาย แนะนำควรตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเช็คระดับไขมัน ค้นหาความเสี่ยงภาวะไขมันในเลือดสูง อย่างน้อยเราจะได้ทราบได้ทันท่วงทีว่า เราควรปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง อย่าลืม เน้นการออกกำลังกาย (ไม่ต้องหักโหม) เพื่อสุขภาพที่ดี และยืนยาว พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
………..
(เครดิต : www.healthline.co/health.high-cholesterol, www.familydoctor.org, สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค สารรณรงค์วันหัวใจโลก ปี พ.ศ.2562, www.paolohospital.com, www.i-kinn.com)
สุมาลี (แอน)
September 3, 2020ติดตามคอนเท้นของพี่ตลอดทุกอาทิตย์เลยค่ะ มีสาระ ไม่เยิ่นเยอ กะชับ และแชร์ต่อให้เพื่อนที่ออฟฟิตอ่านกัน ทุกคนชอบ และแชร์ต่อ ขอบคุณที่เขียนสิ่งดีดี ที่ดีต่อสุขภาพให้อ่านกันนะคะ
Siriphorn Ariya
September 3, 2020ขอบคุณมากมากค่ะ เพิ่งโพสปั๊ป อ่านไวมากค่ะ ได้อ่านแมสเสสนี้แล้วได้รับพลังมากมายเลยค่ะ