จนกระทั่งเมื่อรายการ #สนทนาหาทำ ที่ Mission To The Moon ที่ผมและพี่ปิ๊ก กับคุณแท้ป นั่งคุยกันเรื่อง #ฟุตบาทประเทศไทย เป็นตอนล่าสุด หลังจบตอนเราก็สรุปกันว่า ตอนต่อไปเราจะคุยกันเรื่องรถเมล์ไทย ก็เลยคิดว่าคงต้องอัพเดทรถเมล์ด้วยการไปลองนั่งให้รู้จริงอีกครั้ง วันนี้ผมเลยมาลองใช้ชีวิตการเดินทางแบบคนที่ต้องขึ้นรถเมล์แล้วต้องต่อสาย บวกกับต่อรถไฟฟ้า และลองใช้การ “เดิน” เท่านั้นจากบ้านไปกลับ ผมได้ขึ้นรถเมล์ปรับอากาศ แล้วก็ไปต่อรถเมล์ร้อน (รถแดง) จากนั้นก็ลงป้ายรถเมล์แล้วซื้อของแล้วก็กลับ ต้องยอมรับว่า เกิดความรู้สึก “ดี” ขึ้นมาทันทีเมื่อได้ขึ้นรถเมล์อีกครั้ง ที่ “ดี” ก็คือ เพราะได้ทำให้นึกถึงวันเก่าๆ สมัยยังต้องวิ่งโหนรถเมล์ไปเรียน แต่รู้สึก “ดี” ได้แป๊ปเดียวเท่านั้น ที่เหลือคือรู้สึก “เศร้า” เอามากๆ
ถ้าย้อนกลับไปสมัยเรียน ผมก็คงคล้ายๆ หลายคน คือชีวิตประจำวันต้องตื่นแต่เช้ามากๆ แล้วเดินทางด้วยวิธีตั้งแต่มอ’ไซค์วิน ต่อสองแถว ต่อรถเมล์ ของผมแถมต่อเรืออีกด้วย ไปกลับระหว่างบ้านที่อยู่ในซอยลึกๆ กับรร.หรือมหา’ลัยเป็นเรื่องปกติ แต่พอมาทำงานเริ่มมีรถเป็นของตัวเองก็ยอมรับตามตรงว่าได้ห่างการเดินทางด้วยรถเมล์จริงๆจังๆ มาเป็นสิบปีแล้ว
เพราะรถเมล์บ้านเราทั้งเก่า ทั้งเสียงดัง สภาพเหมือนเศษเหล็กมาวิ่งบนถนนเข้าไปทุกที ถ้าไม่นับการทำสีตัวถังภายนอกที่ดูพอจะทำให้รถไม่เป็นสภาพบุโรทั่งแล้ว ที่เหลือต้องบอกว่ารถเมล์บ้านเราเหมาะกับการไปอยู่ในมิวเซียมเพื่อไว้รำลึกถึงวันเก่าๆ เมื่อครั้งประเทศยังไม่พัฒนาเสียมากกว่าเอามาวิ่งรับใช้ประชาชน เอาจริงๆ ดีไม่ดีรถที่ผมขึ้นทั้งสองคันวันนี้อาจจะเป็นคันที่ผมเคยขึ้นเมื่อยี่สิบปีก่อนก็เป็นได้ ที่ต้องชมและรู้สึกว่ามีพัฒนาการแตกต่างจากเมื่อก่อนจริงๆ ก็คือมารยาทการพูดจาและบริการของกระเป๋ารถเมล์ ที่พูดจาดี ไพเราะ แต่งตัวสะอาด ไม่ตะโกนโหวกเหวกเหมือนเมื่อก่อนที่คุยไปก็กลัวโดนกระบอกตั๋วฟาดหัวไป เรื่องสปีดการขับและการซอกแซกของคนขับผมเข้าใจว่าก็คงได้รับการอบรมให้พัฒนาขึ้นด้วยเช่นเดียวกับกระเป๋ารถเมล์ เพียงแต่รถเมล์ร้อนที่ผมขึ้นเช้านี้ดูจะขับเร็วน่ากลัวไปหน่อย และถ้าใครเคยนั่งรถเมล์จะเข้าใจจังหวะการเร่งเครื่องที่เหมือนเหยียบคันเร่งซ้ำๆ แบบนี้ยังมีอยู่เป็นซิกเนเจอร์ เวลานั่งแล้วได้ซาวด์เอฟเฟคยังไม่ต่างกับสมัยก่อน
ข้อดีอีกอย่างคือมีจอ LCD หลังคนขับ ไว้คอยบอกว่าป้ายหน้าคือที่ไหน คล้ายๆ รถเมล์ต่างประเทศ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ถ้าเผลอนั่งแล้วหลับเวลาตื่นขึ้นมาต้องรีบถามคนข้างๆ ว่าถึงไหนแล้ว ที่ดีๆ ก็มีเยอะ หลายอย่างพัฒนาขึ้นมาก
.
แต่ส่วนตัวผมเห็นว่า รถเมล์บ้านเราไม่สามารถจะอยู่ในสภาพนี้ได้อีกต่อไป ผู้ใหญ่บ้านเมืองต้องยอมรับให้ได้ว่ารถเมล์บ้านเรานั้นคือสัญลักษณ์ของการปล่อยปละละเลยให้การเมืองหรือระบบที่แย่ๆ นั้นมาครอบงำ ส่งผลให้ระบบการบริหารจัดการนั้นขาดประสิทธิภาพ ทำให้สิ่งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการได้รับการบริการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพมากพอ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนนั้นถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับท้ายๆ ถ้าอยู่อันดับต้นๆ รถเมล์เราคงจะต้องดีกว่านี้ไปนานแล้วนะครับ คนอยู่ในประเทศก็รักประเทศ อยากเห็นประเทศตัวเองดีขึ้นทั้งนั้น ที่สำคัญจะดีจะชั่วอย่างไร เกือบทุกชีวิตก็ต้องตื่นเช้า อาบน้ำแต่งตัว ออกไปทำมาหากินกันถ้วนหน้า การมีระบบคมนาคมที่ดี ไม่ต้องขึ้นรถสภาพบุโรทั่ง เพราะเพียงแค่วิสัยทัศน์ที่ว่าทำให้รถเมล์มีราคาถูกเพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ผู้มีรายได้น้อย จึงควรเป็นพันธกิจขั้นพื้นฐานของผู้บริหารประเทศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโดยรวม ที่ประชาชนต้องทำงานแล้วจ่ายภาษีให้รัฐเอาไปพัฒนาประเทศ
หลังจากซื้อของเสร็จระหว่างที่นั่งรถกลับบ้าน ผมก็ได้แต่คิดและก็สงสัยว่า ทำไมเราจึงต้องช่วยผู้มีรายได้น้อยด้วยการหาของคุณภาพต่ำๆ มาให้เค้าใช้ เพราะถ้ามันเป็นของสาธารณะ จะจนหรือจะรวยก็มีสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ควรจัดให้มีในคุณภาพที่จะเป็นใครยอมรับได้ในคุณภาพและใช้ได้เหมือนๆ กัน ไม่ใช่ว่ารถเมล์มีไว้สำหรับคนจนเลยคุณภาพก็จนไปด้วย แล้วใครพอจะลืมตาอ้าปากได้ก็ต้องรี่ไปออกรถส่วนตัวไว้ใช้กันทุกคนเพราะทนสภาพความลำบากไม่ไหว (ในการนี้ยอมรับว่าผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น) เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วในด้านการคมนาคมขนส่ง ไม่ใช่ประเทศที่ทุกคนมีรถยนต์ส่วนตัวไว้ใช้ แต่เป็นประเทศที่บริการสาธารณะนั้นมีคุณภาพดีพอ โดยผู้จัดการดูแลนั้นทำให้บริการขนส่งสาธารณะกลายเป็นตัวเลือกหลักที่ทุกคนในประเทศยอมรับได้ที่จะหันมาใช้บริการ ผมอยู่กับรถเมล์สภาพนี้มาตั้งแต่สมัยผมยังเด็ก จนถึงปัจจุบันสภาพรถเมล์ก็ยังไม่พัฒนาไปไหนมากนัก
.
สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปเป็นคำถามที่หาคำตอบไม่ได้ว่า เรายังอยากจะส่งมอบรถเมล์แบบนี้ให้กับคนรุ่นต่อไปใช่หรือไม่ อีก 20 ปีข้างหน้า ถ้ารถเมล์ของเราก็จะยังหน้าตาแบบนี้อยู่ เราจะนั่งมองมันแล้วนึกถึงความหลังเมื่อ 20 ปีก่อนแบบผมวันนี้ เอาแบบนั้นจริงๆ เราโอเคกันใช่ไหม
………..