กินช็อกโกแลตทุกวัน ดีไหม นับได้ว่าเป็นคำถามที่เกิดความสงสัยกันมาได้สักระยะหนึ่งแล้วค่ะกับความลับของการทานช็อกโกแลต ขนมหวานสีน้ำตาลสุดคลาสสิกที่ใคร ๆ ต่างก็หลงรักมัน ด้วยรูปลักษณ์และรสชาติที่มีความโดดเด่นจนไม่ว่าใครก็ต้องจำได้และมักต้องรับประทานมันอยู่เสมอในโอกาสพิเศษต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ขึ้นชื่อว่าขนมหวาน ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้บริโภคจะสงสัยว่าแท้จริงแล้วเราสามารถทานช็อกโกแลตได้ทุกวันหรือไม่ เนื่องจากช็อกโกแลตนั้นมีหลายชนิด บางชนิดก็มีน้ำตาลน้อย น่าจะเป็นผลดีต่อร่างกาย แต่ความจริงแล้วใครเลยจะรู้ว่าข้อเท็จจริงของการกินช็อกโกแลตนั้นเป็นเช่นไรกันแน่ ในบทความนี้ I-Kinn จึงนำข้อมูลและการไขความลับของเจ้าขนมหวานชนิดนี้มาฝากกันค่ะ
กินช็อกโกแลตทุกวัน ดีไหม จะเกิดผลข้างเคียงอย่างไรหากรับประทานเกินปริมาณที่ควร
ขนมหวานรสละมุนลิ้นอย่างช็อกโกแลตนั้น เป็นที่โปรดปรานของคนทุกเพศทุกวัย มานานนับศตวรรษ เพราะนอกจากจะมีรสชาติหอมหวานกลมกล่อม ที่ชวนให้เผลอใจหลงใหล จนยากที่จะถอนตัวแล้ว ช็อกโกแลตยังเป็นสื่อสากลที่คนทั่วโลกนิยม มอบให้กันเพื่อแสดงถึงมิตรภาพ และความรัก แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าขนมหวานชนิดนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่หลาย ๆ คนอาจไม่เคยรู้ จะมีอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยค่ะ
ช็อกโกแลต คือ…
ช็อกโกแลต คือ อาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่ทำมาจากโกโก้ ซึ่งเป็นผลของพืชชนิดหนึ่งที่มีรสขม การผลิตช็อกโกแลตทำได้โดยการนำผลโกโก้มาบดด้วยเครื่องปั่นจนกลายเป็นผง จากนั้นจึงนำผงโกโก้ที่ได้มาผสมกับวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อแต่งเติมกลิ่นและรส โดยเฉพาะรสหวาน เพื่อเพิ่มความน่ารับประทาน โดยการผลิตช็อกโกแลตออกมาในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เป็นส่วนหนึ่งของอาหาร ขนม เครื่องดื่ม หรือแม้แต่การแต่งกลิ่นน้ำหอมและเครื่องสำอางต่าง ๆ อีกด้วยค่ะ
ประเภทของช็อกโกแลต
ช็อกโกแลตนั้นสามารถแบ่งออกได้หลายชนิดด้วยกันค่ะ แต่ชนิดที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักส่วนใหญ่ก็เช่น
Dark chocolate
หรือ ช็อกโกแลตดำ คือช็อกโกแลตที่ไม่ได้เพิ่มนมเป็นส่วนประกอบ ช็อกโกแลตดำมีสารฟลาโวนอยด์ เป็นสารแอนติออกซิแดนท์ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดคราบไขมันสะสมที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ สาเหตุของโรคหัวใจเลือดตีบ และช่วยป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือดแข็งตัว สาเหตุของการอุดตันในหลอดเลือด และป้องกันความดันโลหิตสูง
Milk chocolate
หรือช็อกโกแลตนม คือช็อกโกแลตที่ผสมนมหรือนมข้นหวาน ซึ่งจะมีการกำหนดว่าต้องมีส่วนผสมของช็อกโกแลตเหลวบริสุทธิ์เข้มข้น 10% (ในสหรัฐ) และต้องมีส่วนผสมของเมล็ดโกโก้อย่างน้อย 25% (ในยุโรป) โดยช็อกโกแลตชนิดนี้มีส่วนผสมของเนยโกโก้, นม และมีการเพิ่มความหวานและรสชาติลงไปด้วย
White chocolate
หรือช็อกโกแลตขาว ช็อกโกแลตชนิดนี้จะมีส่วนผสมของเนยโกโก้ แต่ไม่มีโกโก้ที่อยู่ในรูปของไขมัน จะประกอบไปด้วยน้ำตาล เนยโกโก้ นมสด และใส่กลิ่นวานิลลาเพิ่มลงไปด้วย ลักษณะของช็อกโกแลตขาวจะแตกหักได้ง่ายกว่าชนิดอื่น ๆ
Unsweetened chocolate
หรือ ช็อกโกแลตที่ไม่ได้เพิ่มความหวาน คือช็อกโกแลตเหลวบริสุทธิ์มักใช้ในการอบอาหาร และเป็นช็อกโกแลตที่ไม่มีการเจือปนใด ๆ ทั้งสิ้น ช็อกโกแลตชนิดนี้จะมีรสชาติเข้มข้นและลุ่มลึกของช็อกโกแลตบริสุทธิ์ เป็นส่วนผสมหลักในการทำบราวนี่ เค้ก ลูกกวาด และคุกกี้ ถ้าถูกเพิ่มน้ำตาลเข้าไปก็จะทำให้มีรสชาติหวานขึ้น
กินช็อกโกแลต ช่วยอะไร ทำไมใคร ๆ จึงชอบกิน?
ใครจะไปคิดว่าขนมหวานแสนอร่อยอย่างช็อกโกแลต จะช่วยให้เรารู้สึกอารมณ์ดีขึ้นมาได้ ซึ่งในปัจจุบันช็อกโกแลตมีวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าให้ได้เลือกซื้อกันอย่างจุใจ และก็มีหลากหลายยี่ห้อ และจากที่กล่าวไปในข้างต้นค่ะว่าเนื่องจากเจ้าช็อกโกแลตนั้นเป็นของหวาน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลาย ๆ คนจะคิดว่าหากกินไปในปริมาณที่เยอะมาก ๆ จะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ แต่ถึงกระนั้นของหวานชนิดนี้ก็ยังมีประโยชน์อีกหลาย ๆ อย่างที่เราคาดไม่ถึงกันเลยทีเดียวค่ะ
ประโยชน์ ช็อกโกแลต มีอะไรบ้าง?
หลาย ๆ คนคงยังไม่ทราบว่านอกจากรสชาติที่อร่อยแล้ว ช็อกโกแลตยังมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิดด้วยค่ะ เช่น
ช่วยลดความเครียด
จากที่มีการศึกษาพบว่า คนที่ทานดาร์กช็อกโกแลตปริมาณ 40 กรัมทุกวันนาน 2 สัปดาห์ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนแห่งความเครียดลดลง เมื่อเทียบกับวันแรกที่เริ่มทาน
มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง
ช่วยลดการอักเสบ ลดการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งหลายการศึกษาพบว่าสารโพลีฟีนอลจะช่วยเสริมให้หลอดเลือดแข็งแรง มีส่วนช่วยเพิ่มไขมันคอเลสเตอรอลชนิด HDL ซึ่งช่วยลดการอักเสบและการก่อตัวของลิ่มเลือดได้
ลดระดับความดันโลหิต
การทานดาร์กช็อกโกแลตสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ช่วยลดความดันโลหิต ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ป้องกันเส้นเลือดอุดตันและป้องกันภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว
เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง
สารฟลาโวนอยด์ในดาร์กช็อกโกแลต มีฤทธิ์ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้ออกซิเจนและเลือดลำเลียงไปสู่สมองได้ดี ทำให้เราจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นไปด้วย
ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
เนื่องจากดาร์กช็อกโกแลตอุดมไปด้วยแร่ธาตุ และวิตามินที่สำคัญต่อร่างกายมากมาย จึงช่วยบำรุงเลือดทำให้เกิดการไหลเวียนโลหิตได้ดีขึ้น และเป็นการป้องกัน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูงได้ไปในตัว
กินช็อกโกแลตเยอะ เกินปริมาณที่ควรทาน จะส่งผลเสียอย่างไรบ้าง?
สำหรับคนทั่วไป การบริโภคช็อกโกแลตในปริมาณที่พอดีจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่เนื่องจากช็อกโกแลตมีสารประกอบมากมายรวมทั้งสารคาเฟอีน ในบางครั้ง การบริโภคช็อกโกแลตจึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น กระสับกระส่าย กระวนกระวาย ปัสสาวะเพิ่มขึ้น นอนไม่หลับ ทั้งนี้ก็ยังมีโทษอื่น ๆ เช่นกันค่ะ
โทษของช็อกโกแลต มีอะไรบ้าง?
การบริโภคช็อกโกแลตในปริมาณที่พอดีจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่เนื่องจากช็อกโกแลตมีสารประกอบมากมายรวมทั้งสารคาเฟอีน ในบางครั้ง การบริโภคช็อกโกแลตจึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น
- กระสับกระส่าย กระวนกระวาย
- ปัสสาวะเพิ่มขึ้น
- นอนไม่หลับ
- ใจสั่น ใจเต้นแรง
- มีผื่น หรืออาการแพ้ที่ผิวหนัง
- คลื่นไส้
- ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด ท้องไส้ปั่นป่วน หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องผูก
- อาจเพิ่มความเสี่ยงอาการปวดหัวไมเกรน
กินชอคโกแลตอ้วนไหม?
คำตอบคือ อ้วนค่ะ เพราะช็อกโกแลตทุกชนิดหากกินในปริมาณที่มากเกินไปและติดต่อกันเป็นประจำ ถ้าร่างกายเรารับพลังงานจากน้ำตาล เกิน 10% ของพลังงานทั้งหมด ร่างกายก็จะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมันเก็บสะสมไว้ใต้ผิวหนัง หลอดเลือดและตับ นั่นจึงเป็นสาเหตุของการเป็นโรคอ้วนลงพุง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ไขมันพอกตับ ตับแข็ง มะเร็งตับ
ดังนั้น จึงควรควบคุมปริมาณให้พอเหมาะ เช่น ในหนึ่งวันไม่ควรกินช็อกโกแลตเกินครึ่งแท่ง และต้องออกกำลังกายเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน เพราะช็อกโกแลตครึ่งแท่งต้องออกกำลังกายด้วยการเดินเร็ว 45 นาที หรือว่ายน้ำ 15 นาที จึงจะเผาผลาญพลังงานได้หมด ก็จะทำให้มีความสุขจากการรับประทานช็อคโกแลตและไม่อ้วนด้วยค่ะ มอบของขวัญให้คนรักเเล้ว ก็ต้องมอบสุขภาพดีให้คนรักด้วยนะคะ
คนที่ห้ามกินช็อกโกแลต ใครบ้างที่มีความเสี่ยงกับการกินช็อกโกแลตเยอะๆ
นอกจากบุคคลทั่วไปที่ควรระวังการทานช็อกโกแลตเยอะๆ แล้วก็มีผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ที่ต้องระวังเช่นกันค่ะ
ผู้ที่ตั้งครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตร
หากบริโภคในปริมาณที่พอดี จะไม่ส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายแก่แม่และเด็ก แต่ผู้ที่ตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตรควรระมัดระวังด้านปริมาณการบริโภคมากเป็นพิเศษ เพราะคาเฟอีนในช็อกโกแลตอาจเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กได้
ภาวะความดันโลหิตสูง
แม้จะมีงานวิจัยสนับสนุนว่าสารบางชนิดในช็อกโกแลตช่วยลดระดับความดันโลหิตลงได้ แต่สารคาเฟอีนในช็อกโกแลตก็อาจเพิ่มระดับความดันโลหิตให้สูงขึ้นในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน
โรคหัวใจ
คาเฟอีนในช็อกโกแลตอาจทำให้ใจสั่น หัวใจเต้นแรงขึ้น หรือหัวใจเต้นผิดปกติ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ จึงควรระมัดระวังการบริโภคอาหารใด ๆ ที่มีคาเฟอีน รวมถึงช็อกโกแลตด้วย
โรคเบาหวาน
ช็อกโกแลตอาจส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ และรบกวนการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ภาวะวิตกกังวล
สำหรับผู้ป่วยโรควิตกกังวล สารคาเฟอีนในช็อกโกแลตอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงได้
ปวดหัวไมเกรน
ช็อกโกแลตอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะปวดหัวไมเกรนในผู้ป่วยที่ไวต่ออาการป่วย
กินช็อกโกแลต กินอย่างไรให้ปลอดภัยและกินเวลาไหนจึงจะเหมาะสม
การกินช็อกโกแลตให้มีประโยชน์สูงสุดควรเลือกช็อกโกแลตที่ผลิตจากผลโกโก้ ซึ่งมีปริมาณของโกโก้สูง 70-85% โดยแนะนำให้ทาน 50- 100 กรัม ต่อวัน ความถี่ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือหากแบ่งย่อยเป็นรอบเวลา ผู้บริโภคสามารถทานตามได้ ดังนี้ค่ะ
กินช็อกโกแลตตอนเช้า
การทานช็อกโกแลตในมื้อเช้าควรเป็นดาร์กช็อกโกแลตค่ะ เนื่องจากดาร์กช็อกโกแลตจะให้สารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยให้ผ่อนคลายและลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจได้นั่นเอง
กิน ช็อกโกแลต ตอน ท้อง ว่าง
ไม่ควรทานช็อกโกแลตตอนที่ท้องว่าง เพราะหากรับประทานช็อกโกแลตขณะท้องว่าง จะทำให้โปรตีนรวมตัวกับน้ำตาลส่งผลต่อการดูดซึมโปรตีนทุกชนิด และลดสมรรถภาพการทำงานของระบบหมุนเวียนโลหิตและไต และเกิดอาการใจสั่น เวียนศีรษะ มือเท้าไม่มีแรงได้นั่นเองค่ะ
ดาร์กช็อกโกแลต ควรกินตอนไหน
แม้ดาร์กช็อกโกแลตจะมีส่วนผสมของน้ำตาลและนมน้อยมาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอยู่เลย อีกทั้งแคลอรี่ในช็อกโกแลตมีปริมาณที่สูง ดังนั้นจึงควรกินช็อกโกแลตในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกายและทานอาหารที่มีประโยชน์อื่น ๆ ทั้งนี้อาจเลือกทานเพื่อเพิ่มพลังงานก่อนการออกกำลังกาย หรือในเวลาที่เครียดค่ะ ทั้งนี้ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น คือเวลาที่ควรทานดาร์กช็อกโกแลตที่สุดก็คือช่วงเช้านั่นเอง
ท้ายที่สุด แม้จะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนที่สนับสนุนประสิทธิผลของช็อกโกแลตในบางด้าน แต่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ยิ่งไปกว่านั้น ช็อกโกแลตแต่ละชนิดถูกผลิตออกมาในรูปแบบที่แตกต่างและหลากหลาย ปริมาณส่วนประกอบที่สำคัญในช็อกโกแลตจึงแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น ผู้บริโภคควรระมัดระวังในการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางโภชนาการเกี่ยวกับช็อกโกแลตและผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ก่อนการบริโภค และควรรับประทานช็อกโกแลตในปริมาณที่พอดีในแต่ละวัน ไม่บริโภคมากเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงที่อาจกระทบต่อสุขภาพจนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ตามมาได้ค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
10 เมนูของว่างทานเล่น ของมนุษย์ออฟฟิศ ยิ่งกินยิ่งอ้วน
กินชีสยังไงให้ไม่อ้วน วิธีกินชีสให้ได้ทั้งความอร่อยและสุขภาพ