เนื่องด้วยกิจกรรมในแต่ละวันหรือพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เราละเลยการดื่มน้ำไป อาจทำให้ใครหลายคนเกิดปัญหาภาวะขาดน้ำขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว วันนี้เราจะมาพูดถึงภาวะดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นผลเสีย, การสังเกตอาการเบื้องต้น รวมถึงวิธีดื่มน้ำที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้อยู่ในสภาวะขาดน้ำจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย
ภาวะขาดน้ำคืออะไร
ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) เป็นภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำภายในหลอดเลือดและเซลล์มากกว่าน้ำที่ได้รับในร่างกายอันเนื่องมาจากการดื่มน้ำน้อยเกินไป เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงและดึงน้ำจากเซลล์ออกมาเพื่อลดระดับน้ำตาลในร่างกายให้อยู่ในสภาวะที่สมดุล ส่งผลให้เซลล์เนื้อเยื่อและอวัยวะภายในร่างกายทำงานผิดปกติอย่าง
ภาวะขาดน้ำเกิดจาก 3 สาเหตุสำคัญ ดังนี้
1. ดื่มน้ำน้อยเกินไป
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยชอบดื่มน้ำ อันเนื่องมาจากความเคยชินหรือการทำงานต่าง ๆ จนละเลยการดื่มน้ำ จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงอันดับแรกที่ต้องพูดถึง หรือหากคุณไม่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้หรือไม่ สามารถเช็กตัวเองได้จากอาการง่าย ๆ เช่น รู้สึกกระหายน้ำระหว่างวันบ่อยขึ้นมั้ย? รู้สึกอ่อนเพลีย ง่วงนอนบ่อยแค่ไหน, ตาและปากแห้งมั้ย? แล้วจำนวนการปัสสาวะน้อยกว่าปกติหรือเปล่า? เป็นต้น
2. กิจกรรมในแต่ละวัน
แม้ว่าคุณจะดื่มน้ำพอเพียงต่อความต้องการของร่างกายมากแค่ไหนแต่หากคุณมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการสูญเสียน้ำในร่างกายในปริมาณมาก เช่น นักกีฬา, ผู้ที่ต้องใช้แรงงาน, ผู้ที่มอยู่ในพื้นที่ที่มีแดดจ้า เหงื่อออกง่าย และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ก็อาจเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้ด้วยเช่นกัน
3. ปัญหาสุขภาพ
ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียหรืออาเจียนจากโรคอุจจาระร่วง ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและแร่ธาตุเป็นจำนวนมาก หรือผู้ที่มีบาดแผลบริเวณผิวหนังอันเนื่องมาจากการเกิดแผลไฟไหม้, แผลในปาก หรือโรคผิวหนังอย่างรุนแรง รวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่ต้องใช้ยาขับปัสสาวะ
อันตรายจากภาวะขาดน้ำที่คุณไม่ควรละเลย
- โรคลมแดดและตะคริวแดด
- ปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะและไตผิดปกติ ได้แก่ ไตวายเรื้อรัง หรือติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- เกิดอาการช็อก เนื่องจากปริมาตรเลือดต่ำ, ความดันโลหิต และออกซิเจนมีจำนวนลดต่ำลง อาจเป็นอันตรายถึงแก่เสียชีวิต
- เกิดอาการชัก เนื่องจากแร่ธาตุในร่างกายไม่สมดุลและทำให้หมดสติในที่สุด
วิธีสังเกตตัวเองว่าดื่มน้ำน้อยเกินไป
- รู้สึกกระหายน้ำง่าย
- วิงเวียนศีรษะ ปวดหัวง่าย
- เหนื่อยง่าย รู้สึกอ่อนเพลีย
- หายใจหอบถี่ ชีพจรเต้นเร็ว
- ผิวแห้ง ตาแห้ง
- ผิวพรรณหย่อนคล้อย ดูหมองคล้ำ
- ปัสสาวะมีสีเข้มทุกครั้งและมีกลิ่นฉุน
- ปัสสาวะไม่ถึง 4-7 ครั้ง/วัน
- ปัสสาวะน้อยประมาณ 4-6 ชั่วโมง/1 ครั้ง
- ความดันโลหิตต่ำ บางรายอาจเกิดอาการชัก
เราควรดื่มน้ำปริมาณเท่าไหร่ต่อวัน ถึงจะดีต่อสุขภาพ
หลายคนเคยได้ยินมาควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วต่อวัน แต่ในความเป็นจริงนั้นร่างกายของคนแต่ละคนต้องการน้ำในปริมาณที่แตกต่างกัน ซึ่งปริมาณน้ำที่ควรได้รับจะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำในแต่ละวันด้วยนะคะ หากต้องการปริมาณน้พที่ตรงกับความต้องการของร่างกายจริง ๆ แนะนำให้คำนวณจากสูตรดังต่อไปนี้ได้เลยค่ะ
“น้ำหนัก (กิโลกรัม) คูณด้วย 2.2 คูณด้วย 30 หารด้วย 2” ก็จะได้ปริมาณน้ำที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
เช่น น้ำหนัก 50 กิโลกรัม x 2.2 x 30 / 2 เท่ากับ 1,650 มิลลิลิตร หรือ 1.6 ลิตรโดยประมาณ
สุดท้ายนี้นอกจากการดื่มน้ำในปริมาณที่ตรงตามความต้องการของร่างกายแล้ว การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ การนอนพักผ่อนให้เพียงพอ และการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ยังช่วยให้ร่างกายปรับสมดุลและระบบอวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอีกด้วยนะคะ อย่าละเลยเรื่องเหล่านี้เด็ดขาด ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาวของตัวคุณเองค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
ดื่มน้ำมากเกินไปอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อย่าซดน้ำซุปชาบู ซุปก๋วยเตี๋ยวมากเกินไป ถ้าไม่อยากไตพัง