หากพูดถึงปัญหาสุขภาพยอดฮิตแล้วล่ะก็ หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัยนั่นก็คือไขมันอุดตันนั่นเอง วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับโรคดังกล่าว รวมถึงสาเหตุและวิธีป้องกันอย่างไรให้ปลอดภัยจากปัญหานี้กันค่ะ
ไขมันอุดตันเกิดจากอะไร
เกิดจากร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ เนื่องจากร่างกายมีไขมันคอเลสเตอรอล (Cholesterol) และไตรกลีเซอไรด์ (Trigleceride) อยู่ในระดับที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง หรือแม้กระทั่งเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ไม่สมดุล โดยสาเหตุของโรคเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ส่งผลให้การเผาผลาญไขมันทำงานบกพร่อง
- เพศ หากคุณเป็นผู้ชายจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง
- อายุ ยิ่งมีอายุมาก ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อย
- ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ภาวะขาดไทรอยด์ ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
- ผลจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ สเตียรอยด์
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมากเกินไป เช่น เนย ไข่ ไขมันสัตว์ เครื่องในสัตว์
- ภาวะเครียด เมื่อร่างกายเข้าสู่ภาวะเครียด จะทำให้ความดันเลือดสูงแม้จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก็ตาม แต่หากเกิดขึ้นเป็นประจำ สามารถทำให้หลอดเลือดหัวใจและไตเสียหายได้
- สูบบุหรี่เป็นประจำ ในบุหรี่มีสารนิโคตินเเละคาร์บอน ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง ส่งผลให้หลอดเลือดเเข็งตัว
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
อาการของโรค
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด จะเป็นลม
- ปวดศีรษะมาก โดยเฉพาะช่วงที่ลุกจากที่นอน หรือลุกนั่งเร็ว ๆ
- เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ไม่ว่าจะเดินขึ้นบันได หรือออกกำลังกายเบา ๆ ก็ตาม
- รู้สึกแน่นหรือเจ็บหน้าอก คล้ายมีอะไรมากดทับ
- ใจสั่น เต้นเร็ว ปลายมือปลายเท้าเย็น
ในช่วงแรกอาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจแสดงอาการเล็กน้อยตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่หากปล่อยให้ร่างกายมีระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ที่มากเกินไปเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดการสะสมของไขมันในหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง เลือดจึงไหลเวียนทั่วร่างกายได้ลำบากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนี้อาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันบริเวณหัวใจ และนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือด แต่หากเกิดขึ้นบริเวณสมอง อาจก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตามมาด้วย
บ้านหมุน วูบ เวียนหัว หน้ามืด อาจเป็นสัญญาณโรคหลอดเลือดสมอง
ภาวะแทรกซ้อน
- รู้สึกเจ็บหน้าอก เกิดจากหลอดเลือดแดงได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บหน้าอกขึ้นมา
- หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เกิดจากไขมันที่สะสมอยู่แตกออก และกลายเป็นลิ่มเลือดซึ่งจะปิดกั้นการไหลเวียนของเลือด ก่อให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
- โรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันการไหลเวียนของเลือดในสมองและก่อให้เกิดโรคดังกล่าวตามมา
ป้องกันง่าย ๆ ด้วยการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
- งดทานของทอด ของมัน เนื่องจากมีไขมันทรานส์สูง ส่งผลให้ระดับไขมันชนิดดี (HDL- cholesterol) ลดลง และระดับไขมันชนิดร้าย (LDL- cholesterol) เพิ่มสูงขึ้น ระดับไขมันในเลือดจึงพุ่งสูงขึ้น เปลี่ยนมาทานอาหารที่ใช้กรรมวิธีต้มหรือนึ่ง จะดีต่อสุขภาพมากกว่าของทอดและผัด
- หากจำเป็นต้องใช้น้ำมัน ควรลดปริมาณน้ำมันหรืองดใช้น้ำมันพืชเขตร้อน เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม
- ทานผักและสมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยลดไขมันในเลือด เช่น กระเจี๊ยบเขียว กระเทียม ถั่วนัตโตะ
- ทานผลไม้น้ำตาลน้อย ไม่ว่าจะเป็นกีวี ส้ม และผลไม้ตระกูลเบอร์รี ซึ่งจะช่วยเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุให้แก่ร่างกาย
- ทานของหวานให้น้อยลง ซึ่งจะช่วยให้ตับผลิตไขมันชนิดร้าย (LDL – cholesterol) ลดลง ส่งผลให้ระดับไขมันในเลือดอยู่ในระดับที่สมดุล
- ลดการทานเนื้อแดง เนื้อหมู อาหารทะเล และเครื่องในสัตว์ เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีไขมันคอเลสเตอรอลสูง เปลี่ยนมาทานเนื้อปลาแทนจะดีกว่าค่ะ เพราะเนื้อปลาอุดมไปด้วยกรดไขมัน Omega 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ประกอบไปด้วยกรดไขมัน EPA และ DHA ช่วยป้องกันไขมันเกาะตัวในเลือด ช่วยให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่น ป้องกันหลอดเลือดตีบตัน
- กรณีของคนทั่วไปควรทานคอเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานควรทานไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายเป็นประจำ
- หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจขาดเลือด ควรตรวจเลือดเป็นประจำทุก 6 เดือน
- หากมีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพประจำปีโดยเฉพาะการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับไขมันทุก 1 – 2 ปี
จับคู่อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารที่ควรกินคู่กัน ยิ่งกินยิ่งสุขภาพดี
2. การรักษาโดยการใช้ยา
บางกรณีที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วแต่อาจไม่เพียงพอ แพทย์จะจ่ายยาช่วยลดการผลิตคอเลสเตอรอลให้แก่ตับ ได้แก่
- กรดนิโคตินิก (Nicotinic Acid) ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์
- ยากลุ่มไฟเบรต (Fibrates) ช่วยลดไตรกลีเซอไรด์และเพิ่มปริมาณไขมันดี
- ยากลุ่มสเตติน (Statins) ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด
ยาไขมันในเลือด อันตรายถึงชีวิต ถ้าซื้อกินเอง!!
หากแพทย์สั่งจ่ายยา ผู้ป่วยไขมันอุดตันจะต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพื่อรักษาระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ และมีแนวโน้มว่าจะต้องรับประทานไปตลอดชีวิตได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยโดยแพทย์ด้วยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ยาไขมันในเลือด อันตรายถึงชีวิต ถ้าซื้อกินเอง!!
ทานเครื่องในไก่ เครื่องในสัตว์มากไป อาจเสี่ยงไขมันในเลือดสูง
ความดันสูง โรคหลอดเลือดอุดตัน ไขมันในเลือดสูง กินน้ำมันปลาได้ไหม