หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาฉี่แล้วแสบ ฉี่เสร็จแล้วแต่รู้สึกว่ายังไม่สุด, มีปัสสาวะไหลซึมออกมาหลังจากทำธุระเสร็จ หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นมีเลือดปนออกมาในน้ำปัสสาวะด้วย อย่าละเลยเด็ดขาด เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อกระเพาะปัสสาวะในระยะยาวตามมาได้ วันนี้เราจะมาพูดถึงสาเหตุ, อาการ, วิธีการรักษา รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นมาในอนาคตด้วย
ฉี่แล้วแสบเกิดจากอะไร
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล หรือ อีโคไล (Escherichia coli: E. coli) ภายในระบบทางเดินปัสสาวะจนทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ทำให้เวลาปัสสาวะแล้วรู้สึกแสบบริเวณอวัยวะเพศ ร่วมกับอาการปวดท้องน้อย สังเกตได้จากน้ำปัสสาวะมีปริมาณน้อยกว่าปกติ มีสีขุ่นและมีกลิ่นเหม็นรุนแรง บางรายอาจติดเชื้อจนแพร่กระจายไปยังไต ซึ่งเป็นตัวกรองของเสียจากเลือดและควบคุมระดับความเข้มข้นของสารต่าง ๆ ในร่างกาย เพื่อขับออกทางปัสสาวะ หากไตมีปัญหา อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาง่ายขึ้น นอกจากการติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว กระเพาะปัสสาวะอักเสบยังมีสาเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์, การทำความสะอาดบริเวณทวารหนักหลังจากอุจจาระด้วยการเช็ดจากด้านหลังมาด้านหน้า ทำให้เชื้อโรคในอุจจาระสัมผัสกับอวัยวะเพศ, การใช้ผลิตภัณฑ์บริเวณอวัยวะเพศ, การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด, การฉายรังสีกล้ามเนื้อเชิงกราน, การใช้ยาหรือสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด รวมถึงการสวนปัสสาวะเป็นเวลานานอีกด้วย
พฤติกรรมอั้นฉี่บ่อย ภัยร้ายสุขภาพแย่ที่ไม่ควรทำ
มีอาการไหนบ้างที่บ่งบอกว่าเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ปัสสาวะไม่สุด
- ปัสสาวะปนเลือด
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- รู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อยกว่า 10 ครั้งแบบกะปริบกะปรอย โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- เมื่อปัสสาวะสุดแล้วจะรู้สึกเจ็บบริเวณปลายหลอดปัสสาวะ
- รู้สึกไม่สบายตัวบริเวณอุ้งเชิงกราน
- ปวดหน่วงบริเวณใต้สะดือ
- บางรายอาจมีไข้ต่ำ
ปัญหา ปัสสาวะบ่อย ตอนกลางคืนของผู้สูงอายุ ควรป้องกันอย่างไร
ฉี่แล้วแสบหายได้เองมั้ย เป็นนานแค่ไหน
แม้ว่าโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจะส่งผลให้ปัสสาวะแล้วแสบก็ตาม แต่ภาวะดังกล่าวก็สามารถรักษาให้หายได้ ทั้งนี้หากพบอาการรุนแรงกว่าปัสสาวะเพียงอย่างเดียว แนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี เพราะหากปล่อยไว้นานอาจมีผลต่อไตจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
วิธีรักษาอาการด้วยยาปฏิชีวนะ
ก่อนอื่นแพทย์จะตรวจปัสสาวะเบื้องต้น หากพบเม็ดเลือดขาวในน้ำปัสสาวะ แสดงว่าเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่ในกรณีที่คนไข้มีอาการรุนแรง แพทย์จะอัลตราซาวด์กระเพาะปัสสาวะเพิ่มเติม เพื่อตรวจหาความผิดปกติในกระเพาะปัสสาวะ ส่วนขั้นตอนการรักษา แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะให้ทานประมาณ 3-5 วัน (ขึ้นอยู่กับชนิดของยา) หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมาก แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะให้ทานประมาณ 7-10 วัน แต่หากคนไข้มีอาการป่วยอื่นร่วมด้วย แพทย์จะจ่ายยา รักษาตามอาการ ได้แก่ ยาแก้ปวด, ยาคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ทั้งนี้แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตรต่อวัน (ประมาณ 8 แก้ว) จนกว่าอาการจะดีขึ้น
วิธีรักษาและป้องกันอาการด้วยการดูแลตัวเอง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวันอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว หรือ 2-3 ลิตร เพื่อขับเชื้อโรคออกจากร่างกายให้เร็วที่สุด ป้องกันการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย
- ไม่กลั้นปัสสาวะ เนื่องจากไตจะขับของเสียออกจากร่างกาย หากกลั้นปัสสาวะเป็นประจำ อาจเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้
- ปัสสาวะให้สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียสะสมอยู่บริเวณท่อปัสสาวะ
- หลีกเลี่ยงอาหารและผลไม้รสจัด เช่น ของหมักดอง, ต้มยำทะเล, มะม่วงเปรี้ยว, มะดัน ฯลฯ เนื่องจากทำให้ธาตุไฟในร่างกายกำเริบ ส่งผลให้เนื้อเยื่ออักเสบ
- รับประทานอาหารป้องกันระบบปัสสาวะ โดยเฉพาะอาหารที่ช่วยกระตุ้นให้ไตขับของเสียออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะและบำรุงเลือดให้ไหลเวียนตามปกติ ได้แก่ เนื้อวัว ไข่ บรอกโคลี กล้วย บลูเบอร์รี่ ข้าวซ้อมมือ กระเทียม น้ำมันมะกอก เห็ดหลินจือ ฯลฯ
- ทำความสะอาดอวัยวะเพศหลังจากปัสสาวะหรืออุจจาระอย่างถูกวิธี ไม่เช็ดบริเวณทวารหนักจากด้านหลังไปด้านหน้า
- สวมถุงยางอนามัยและทำความสะอาดร่างกายทุกครั้งหลังจากมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าที่มีกลิ่นหอมหรือสารเคมี เพื่อป้องกันการระคายเคืองต่ออวัยวะเพศ
- นอนหลับพักผ่อนให้ตรงเวลาและหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำปริมาณมากก่อนนอน เพื่อป้องกันการอั้นปัสสาวะระหว่างนอนหลับ
5 วิธีป้องกัน โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และวิธีสังเกตอาการ
อย่าลืมนะคะว่าการดื่มน้ำให้ตรงตามความต้องการของร่างกายและไม่อั้นปัสสาวะเป็นประจำ นอกจากจะป้องกันปัญหาปัสสาวะแสบแล้ว ยังช่วยให้ขับของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งจะลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพระยะยาวอันเนื่องมาจากการสะสมเชื้อโรคภายในร่างกายอีกด้วยค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
พฤติกรรม อั้นฉี่บ่อย ภัยร้ายสุขภาพแย่ที่ไม่ควรทำ
5 วิธีป้องกัน โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และวิธีสังเกตอาการ