โซเดียมแฝง หลายคนอาจจะเข้าใจว่า ร่างกายคนเราจะได้รับโซเดียมเกินจากการทานอาหารเค็ม แต่ที่จริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปค่ะ เพราะโซเดียมไม่ได้มีแค่ในเกลือเท่านั้น แต่ยังแฝงอยู่ในสารประกอบอาหารบางชนิดอีกด้วย อย่างไรก็ดี การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมแฝงอยู่มากเกินไปนั้นอาจทำให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ ได้ ในบทความนี้ I-Kinn จึงจะมานำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโซเดียมตัวนี้ให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกันค่ะ
โซเดียมแฝง คืออะไร มีอยู่ในสารประกอบอาหารอะไรบ้าง?
จากที่กล่าวไปในข้างต้นค่ะว่า โซเดียมนั้นเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มักรู้จักกันในรูปแบบของเกลือ ซึ่งความเป็นจริงนั้นโซเดียมมีอยู่ในอาหารเกือบทุกชนิดที่เรารับประทานเลยทีเดียว แม้ไม่ได้ให้รสชาติที่เค็มแต่โซเดียมก็จะแฝงอยู่ตามเมนูอาหารที่เราทานเสมอ ซึ่งจะมีปริมาณมากหรือน้อยนั้น ก็จะมีความแตกต่างกันออกไป
โซเดียมที่แฝงอยู่ในอาหาร มีอะไรบ้าง?
สามารถแบ่งออกได้หลายชนิดค่ะ เช่น
โซเดียมไนไตรท์
วัตถุเจือปนอาหาร ที่มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น รสชาติออกไปทางเค็ม ช่วยป้องกันการเน่าเสียของอาหาร และทำให้เนื้อสัตว์มีสีที่สดใหม่อยู่เสมอ
มักอยู่ในอาหารจำพวก: ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง และปลาเค็มตากแห้ง
โซเดียมคาร์บอเนต
หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรารู้จักกันดี คือ เบกกิ้งโซดา (Baking Soda) นั่นเอง มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ละลายในน้ำได้ ช่วยให้ลักษณะอาหารฟูขึ้น
มักอยู่ในอาหารจำพวก: เค้ก คุกกี้ และขนมปัง
โมโนโซเดียมกลูตาเมต
หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ผงชูรส มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น รสชาติแปลก ๆ แต่ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยขึ้นได้ โดยสารกลูตาเมตจะมีส่วนที่ทำให้ต่อมรับรสในปากและลำคอขยาย จึงส่งผลให้เราสามารถรับรสได้ไวกว่าปกติค่ะ
มักอยู่ในอาหารจำพวก: อาหารทั่วไป
โซเดียมซอร์เบต
สารกันเสียชนิดหนึ่ง ใช้ในการถนอมอาหาร เพื่อให้อาหารเกิดการเน่าเสียได้ช้ากว่าปกติ
มักอยู่ในอาหารจำพวก: เนย ชีส และโยเกิร์ต
โซเดียมอัลจิเนต
เป็นอีกหนึ่งโซเดียมที่เป็นสารเจือปนอาหาร มีคุณสมบัติที่ทำให้อาหารนั้น ๆ เกิดการคงตัว หรือคงรูปร่างมากขึ้น
มักอยู่ในอาหารจำพวก: เจลลี่ ไข่มุก และไอศกรีม
อาหารที่มักมีโซเดียมต่าง ๆ แฝงอยู่ มีอะไรบ้าง?
สามารถแบ่งออกได้หลายประเภทด้วยกันค่ะ เช่น
ประเภททั่วไป
เช่น อาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ แต่ก็ยังมีปริมาณโซเดียมที่น้อยกว่าอาหารที่ผ่านการปรุงแต่ง
ประเภทเครื่องปรุง
เช่น เครื่องปรุงรส ซีอิ๊วขาว กะปิ ซอสปรุงรส ซุปก้อน ผงชูรส เป็นต้น
ประเภทเครื่องดื่ม
เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม น้ำผลไม้จากการแต่งกลิ่น
ประเภทเบเกอรี
เช่น ขนมปัง คุกกี้ เค้ก แพนเค้ก
หากทานโซเดียมที่แฝงมากับอาหารมาก ๆ จะเกิดอะไรขึ้น?
โดยปกติแล้ว ร่างกายต้องการปริมาณโซเดียมแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสภาวะของร่างกาย เพศ และอายุ โดยทั่วไปแล้วสามารถบริโภคโซเดียมสูงสุดโดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายอยู่ที่ 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน เมื่อเทียบเป็นเกลือป่นอยู่ที่ประมาณ 1 ช้อนชาหรือ 6 มิลลิกรัม โดยปกติแล้วอาหารจากธรรมชาติที่บริโภคทุกวันก็มีปริมาณโซเดียมที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว ซึ่งถ้าหากผู้บริโภคทานโซเดียมมากเกินไป อาจทำให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ ได้ เช่น
- ไตวาย
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคหลอดเลือดในสมอง
- โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- โรคหัวใจ
ดังนั้น เพื่อป้องกันโรคไตเรื้อรังในอนาคต และถนอมไตไว้ใช้ให้ยาวนานที่สุด ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคโซเดียมที่เกินต่อความจำเป็นของร่างกาย โดยเน้นอาหารตามธรรมชาติ รสจืด รสเปรี้ยว รสเผ็ด หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม รสจัด หลีกเลี่ยงการใส่วัตถุปรุงรสในอาหารทุกชนิด เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เกลือโพแทสเซียม เกลือลดโซเดียมแบบใหม่ ทางเลือกของคนรักสุขภาพ
อันตรายจากซุปก้อน ซุปผง ซุปสำเร็จรูป อร่อยได้ง่าย ๆ แต่เสี่ยงไตพัง