ไขมันพืชกับไขมันสัตว์ เราต่างได้ยินคำนี้มานาน เนื่องจากทั้งคู่เป็นไขมันที่เรามักจะได้รับจากการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อของเรานั่นเอง อย่างไรก็ตาม ไขมันทั้ง 2 ชนิดนี้ได้ถูกเปรียบเทียบกันมาอย่างยาวนานว่าแตกต่างกันอย่างไร แบบไหนดีกว่ากัน ซึ่งก็จะมีข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็อาจทำให้หลาย ๆ คนสับสนและสงสัยว่าท้ายที่สุดแล้วไขมันทั้ง 2 อย่างนี้มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง โดย I-Kinn ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับไขมันพืชและสัตว์ทั้งในแง่ของความแตกต่างและผลข้างเคียงที่เกิดกับร่างกายหากทานเข้าไปมาให้ผู้อ่านได้ลองศึกษาดูค่ะ
ไขมันพืชกับไขมันสัตว์ แตกต่างกันยังไง ไขมันแต่ละชนิดส่งผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง?
“ไขมัน” เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ต้องได้รับในปริมาณที่พอดี ไม่มากจนเกินไป ซึ่งจะทำให้ร่างกายได้รับโทษ มีปัญหาเรื่องน้ำหนักเกิน เกิดโรคอ้วน หรือ มีปัญหาเรื่องไขมันอุดตันในหลอดเลือด และไม่เพียงแต่ปริมาณไขมันที่ได้รับเท่านั้นที่ส่งผลต่อร่างกาย เพราะชนิดของไขมันก็สำคัญไม่แพ้กัน หากเลือกรับประทานไขมันชนิดที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้ร่างกายห่างไกลจากโรคต่าง ๆ ได้ค่ะ ซึ่งก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกันก่อนดีกว่าค่ะว่าไขมันแต่ละชนิด คืออะไรและมีประโยชน์ต่อเรายังไง
ทำความรู้จัก “ไขมันพืช” และ “ไขมันสัตว์”
โดยปกติแล้ว ไขมันทั้งสองอย่างที่กล่าวไป มีข้อมูลอย่างชัดเจนว่ามีที่มาจากไหน ซึ่งก็เป็นข้อแตกต่างแรกที่เราเห็นกันได้ชัดเจนที่สุดค่ะ ทั้งนี้สิ่งที่หลาย ๆ คนอาจยังไม่เคยทราบคือ ไขมันพืช และ ไขมันสัตว์ นั้น นอกจากที่มาของไขมันจะต่างกันแล้ว ก็ยังต่างกันที่ประเภทของไขมันอีกด้วย
ประเภทของไขมัน
ไขมันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ไขมันอิ่มตัว กับไขมันไม่อิ่มตัว (ไตรกลีเซอไรด์)
ไขมันอิ่มตัว
การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมากขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง มักพบในผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์และอาหารสำเร็จรูป ดังนี้
- ผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน น้ำมันปาล์ม มะพร้าว กะทิ ครีม มาการีน
- ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป เช่น มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ เค้ก มัฟฟิน ขนมอบและพาย
ข้อดีของไขมันอิ่มตัว
คือ มีความคงตัวแม้จะโดนความร้อนสูง ไม่กลายเป็นไขมันทรานส์ง่าย ๆ (ไขมันที่ถือว่าแย่ที่สุด) ในขณะที่ไขมันไม่อิ่มตัวมักกลายเป็นไขมันทรานส์เมื่อโดนความร้อนสูง ส่วนข้อเสียคือไขมันอิ่มตัวหากรับประทานมากเกินไปจะทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น และมีปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่มได้ง่ายเพราะดึงมาเผาผลาญเป็นพลังงานได้ยากกว่าไขมันไม่อิ่มตัว
ไขมันไม่อิ่มตัว
เป็นไขมันที่เหมาะสมกับสุขภาพ ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและลดระดับคอเลสเตอรอล แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน คือ ไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาทะเล และไขมันโอเมก้า 6 เช่น ดอกคำฝอย น้ำมันถั่วเหลือง ถั่วบางชนิด
- ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา อะโวคาโด และถั่วบางชนิด เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์
ข้อดีของไขมันไม่อิ่มตัว
คือ ได้เปรียบเรื่องการเผาผลาญที่ง่ายกว่า แต่ไม่คงตัวเมื่อถูกความร้อนสูง น้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารนั้น ประกอบไปด้วยไขมันชนิดอิ่มตัว และไม่อิ่มตัว เป็นสัดส่วนที่ต่างกันไปในแต่ละชนิดน้ำมัน เช่น น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม จะมีสัดส่วนไขมันอิ่มตัวสูง มากกว่า 80% จึงทำให้มีคุณสมบัติทนความร้อนได้ดี เหมาะกับการทอดอาหารที่ต้องใช้ความร้อนสูง และเวลานาน เพราะไม่เปลี่ยนไปเป็นไขมันทรานส์นั่นเอง
ประเภทของไขมัน ส่งผลต่อสุขภาพที่ต่างกัน
ตามหน้าที่ของไขมันที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้นแล้วร่างกายควรได้รับพลังงานจากไขมันประมาณร้อยละ 20 ถึง 35 ของปริมาณพลังงานที่ได้รับทั้งหมดต่อวัน ไม่ควรรับประทานไขมันต่ำกว่าร้อยละ 15 ถึง 20 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน เนื่องจากอาจส่งผลต่อการลดลงของ HDL ซึ่งถือเป็นไขมันชนิดดีต่อร่างกาย และส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งในเรื่องของปริมาณนั้นผู้บริโภคก็สามารถคิดได้จากค่าแคลอรี่ของไขมันจากมื้ออาหารต่าง ๆ ที่รับประทานได้ในแต่ละวัน
ประโยชน์และโทษของไขมันที่มีต่อร่างกาย
ประโยชน์และโทษของไขมันที่มีต่อร่างกายสามารถแบ่งออกได้หลายประการ ดังนี้ค่ะ
ประโยชน์ของไขมัน
- ให้พลังงานแก่ร่างกาย
- ช่วยในการดูดซึมวิตามิน A D E K
- ช่วยในการสร้างฮอร์โมนบางชนิด
โทษของไขมัน
- หากกินในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน หรือ เกิดโรคอ้วนได้
- ทำให้เกิดโรคบางอย่าง อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
ควรเลือกรับประทานไขมันพืชหรือไขมันสัตว์?
การเลือกทานไขมันนั้นควรพิจารณาจากชนิดของไขมันเป็นหลัก ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากแหล่งของไขมันเช่นกัน แม้ว่าไขมันสัตว์ (ยกเว้นไขมันจากปลา) ที่เป็นกลุ่มของไขมันอิ่มตัวจะยังไม่มีผลการศึกษาชี้ชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดโรคหัวใจ แต่การรับประทานไขมันในชนิดนี้ส่งผลต่อการเกิดโรคหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป การเปลี่ยนมาบริโภคไขมันในกลุ่มไขมันจากพืชหรือจากปลา ซึ่งเป็นกลุ่มของไขมันไม่อิ่มตัวจึงเป็นทางเลือกที่ดีสุด แต่อย่างไรก็แล้วแต่ปริมาณในการรับประทานก็ควรรับประทานให้เหมาะสม คือประมาณร้อยละ 20 ถึง 35 ของปริมาณพลังงานที่ได้รับทั้งหมดต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านทุกคนอาจได้ทราบแล้วว่า ประโยชน์ของไขมันนั้น ไม่ว่าจะมาจากพืชหรือสัตว์ก็มีอยู่หลายประการทีเดียว แต่การเลือกรับประทานชนิดของไขมัน โดยเปลี่ยนมารับประทานไขมันไม่อิ่มตัวแทนไขมันอิ่มตัว และรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมอาจส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมมากกว่า แต่ท้ายที่สุดสิ่งสำคัญคือการทำให้ไขมันทั้ง 2 ชนิดนี้มีปริมาณที่สมดุลในร่างกายจะดีที่สุดค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
ข้อควรระวัง กินไขมันดีเยอะเกินไป เสี่ยงเป็นโรคหัวใจสูงขึ้น!!
ความดันสูง โรคหลอดเลือดอุดตัน ไขมันในเลือดสูง กินน้ำมันปลาได้ไหม