1. พิษร้ายในใจคือกิเลส กิเลสในใจมีอยู่สามตัวหลักๆ หนึ่งคือความโลภ สองคือความโกรธ สามคือความหลง อวิชชาสามตัวนี้หมุนเวียนสิงสู่ชีวิตเรา มันอำพราง ปิดบัง ซ่อนเร้นให้เราเห็นว่า การดำรงอยู่ของมันเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข เราจึงนอนกอดกับผี อยู่กับผี ไปไหนมาไหนก็ไปกับผี ผู้ใดต้องการล้างพิษในใจ จงตั้งทัศนคติให้ถูกต้องตรงธรรม สิ่งใดคือความสุข สิ่งใดคือความทุกข์ที่มาในนามของความสุข ท่านจำเป็นต้องแยกแยะให้ออก
2. พิษแห่งความโลภคืออะไรหรือ มันคือการตั้งตนเป็นศูนย์กลางเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ กอบโกยความรัก ความเข้าใจ กอบโกยวัตถุ เงินทอง ลาภ สรรเสริญเกินความจำเป็น มีหนึ่งต้องการสิบ มีร้อยต้องการพัน มีแสนต้องการล้าน มีเท่าไหร่ไม่รู้จักพอ ต้องปล้น ฆ่า แย่งชิงตลอดเวลา เหล่านี้คือความโลภซึ่งเป็นพิษภัยกัดกินชีวิตตนเอง คนจนก็โลภได้ คนรวยก็โลภได้ ความโลภไม่ขึ้นอยู่กับจนหรือรวย ความโลภคือหลุมอันกว้างใหญ่ ถมเท่าไหร่ ๆ ไม่เคยเต็ม
3. พิษแห่งความโกรธคืออะไรหรือ มันคือการตั้งตนเป็นศูนย์กลางเพื่อทำลายล้างผู้อื่น บีบเขาให้เล็กลงด้วยการโอ้อวด ปลดปล่อยถ้อยคำรุนแรง เพื่อขู่เข็น เพื่อขยับขยายอัตตาตนเองให้กว้างใหญ่คับฟ้า ในนามของความถูกต้อง จงฟังคำกู ในนามของความดีงาม จงฟังคำกู ในนามของเหตุและผล ในแบบของกู เหล่านี้คือพิษภัยแห่งความโกรธ ที่มาในนามของความชอบธรรมต่าง ๆ จงตระหนักให้ดีว่า กิเลสแห่งความโกรธนี้ สรรหาเหตุผลเพื่อให้มันครอบครองจิตใจของเราได้เสมอ
4. พิษแห่งความหลงคืออะไรหรือ มันคือการไม่รู้ในความธรรมดาของโลก เช่นคนเราเกิดมา ต้องแก่ เจ็บ ตาย คนเราเกิดมา ต้องพบพานสิ่งดี สิ่งร้าย สิ่งสมหวัง สิ่งผิดหวัง พบเจอผู้ที่เราพอใจ ไม่พอใจ พบเจอผู้ชื่นชม นินทา ด่าทอ บางเจอกับความเหนื่อยยากจากการประกอบการงานเลี้ยงชีพ มีคนรัก มีคนเกลียด มีคนชัง บางครั้งถูกต้อง บางครั้งผิดพลาด มีพบ พราก จาก ลา รวมความแล้ว ความหลงคือความไม่รู้ธรรมชาติของชีวิต เมื่อไม่รู้ธรรมชาติของชีวิตแล้ว จิตใจจึงเข้ายึดครองชีวิตด้วยความรู้สึกว่าตัวฉันคือผู้ยิ่งใหญ่ ตัดขาดตนเองจากเพื่อนมนุษย์ เหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ความหลงนี้ช่างยิ่งใหญ่ หลงอะไรจะหนักหนาเท่าหลงชีวิตเป็นไม่มีอีกแล้ว การรู้จักตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งสำคัญกว่านั้น คือการรู้จักตนเองว่าไม่มีตนเอง
5. พิษในใจล้างได้ที่ไหน ก็ล้างได้ที่ใจของเราเอง มองที่ใจของเราสิ ขณะนี้เรากำลังคิดอะไรอยู่ แล้วความคิดของเรานี้ นำไปสู่ความรู้สึกแบบใด แล้วความรู้สึกของเรานี้ นำไปสู่คำพูด และการกระทำแบบใด สังเกตใจตนให้ดี นิ่งๆ ไว้ ใจเย็น ๆ พูดให้น้อยลงอีกนิด แล้วเราจะเริ่มเห็น เห็นการทำงานของใจ เห็นพิษร้ายที่ปะปนอยู่ในจิตใจของเรา เงียบแล้วฟัง อย่าฟังผ่าน ๆ แต่ต้องฟังให้ดี ได้ยินไหม กิเลสคุยกันใหญ่เลย
6. พิษในใจล้างได้อย่างไร ก็ล้างได้ด้วยการรับผิดชอบตนเอง เราไม่ได้โกรธ เพราะคนอื่นทำให้โกรธ แต่เราโกรธเพราะเรามีเชื้อไฟแห่งความโกรธอยู่แล้วในใจ แล้วความโลภเล่า เราโลภเพราะมีไม่พอจริงหรือ คงมิใช่อย่างนั้นหรอก เราโลภเพราะเราปรารถนาไม่จบสิ้นต่างหาก แล้วความหลงนี่ละ เราจะออกจากท้องทะเลแห่งอัตตาตัวตนได้อย่างไร ทางออกไม่ใกล้ไม่ไกล เริ่มต้นด้วยใจที่ไม่เห็นแก่ตัว
7. ล้างพิษแล้วเราจะได้อะไร ก็ได้ใจให้สะอาด ใจที่โล่ง โปร่ง เบา คือใจที่สะอาด ใจที่สะอาดนำมาซึ่งความสุข ทุกข์คือความบีบคั้น เวลาโกรธ ทำไมเราจึงอยากกำมือ ก็เพราะใจมันบีบคั้น เวลาเราหลับสบายทำไมเราจึงคลายฝ่ามือออก ท่านเคยคิดบ้างไหม อันที่จริงธรรมชาตินั้นทิ้งเบาะแสแห่งความสุขไว้ให้เราถอดรหัสเสมอ ทว่าต้องสังเกต เมื่อเริมต้นสังเกตก็จะเห็นจริงตามนั้น
8. พิษร้ายในใจคือกิเลสในใจจริงหรือไม่ อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเชื่อจนกว่าจะได้พิสูจน์ คำพูดนี้สำคัญนัก ท่านไม่ควรเชื่ออะไรง่ายๆ เพราะจิตใจมิใช่สิ่งที่จะเข้าใจได้โดยง่าย ไม่อย่างนั้นแล้ว เราคงเห็นผู้คนมีความสุขอยู่ล้นโลก ไม่อย่างนั้นแล้ว กระแสหลักของโลก คงเป็นกระแสทำลายกิเลส มิใช่กระแสปรนเปรอกิเลส
9. พิษร้ายในใจคือกิเลส ถ้อยคำนี้เป็นสิ่งที่ท่านต้องนำไปขบคิดต่อหลังจากที่อ่านบทความนี้จบลง จริงหรือไม่ ที่ท่านมีความทุกข์เพราะถูกย่ำยีด้วยความโลภ โกรธ หลงที่ตัวท่านเองเป็นคนสร้าง
10. พิษร้ายในใจคือกิเลส ผู้คิดล้างพิษในใจ คือผู้ทวนกระแสต่อสู้กับกิเลส การต่อสู่กับกิเลสคือการปฏิบัติธรรม “การปฏิบัติธรรม คือการทำ สิ่งที่ควรทำ แต่เราไม่อยากทำ”
ขออวยพรให้ทุกท่าน มีความสุขกันทั่วหน้า
ล้างพิษในใจได้สำเร็จกันทุกคน
………….
(เครดิต: พศิน อินทรวงค์)