ความน่ากลัวของโรคความดันเลือดสูง คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่า 90-95% ไม่สามารถตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร ทำให้โรคความดันเลือดสูงถูกขนานนามว่า “โรคเพชรฆาตเงียบ” โดยทางการแพทย์นั้น ได้อธิบายโรคความดันเลือดสูงนี้ว่า เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น กรรมพันธุ์ และอายุมากขึ้น โดยส่วนใหญ่พบมากในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 – 50 ปีขึ้นไปโดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือน และความดันเลือด จะเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์และการเคลื่อนไหวของร่างกายในกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันเลือดสูงนั้น มาจากการรับประทานอาหารที่ผิด ซึ่งแน่นอน อาจส่งผลให้เกิดความดันเลือดสูงนระยะยาวได้
แล้วโรคความดันเลือดสูง สำคัญอย่างไร ?
สำคัญมากเลยค่ะ คุณผู้อ่าน เนื่องจากผู้ป่วยเกินกว่าครึ่งมักจะไม่มีแสดงอาการใด ๆ ถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัวจริง ๆ และกว่าจะรู้ว่าตัวเองมีความดันเลือดสูง ก็เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นแล้ว โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจหนา ภาวะหัวใจวาย ภาวะไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดสมองตีบเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมา บางครั้งถึงขั้นเสียชีวิตได้ และการที่เรารู้ตัวว่า เป็นโรคความดันเลือดสูงแต่เนิ่น ๆ เราก็สามารถควบคุมให้ความดันเลือดที่สูง กลับมาสู่ระดับปกติได้ เมื่อกลับมาสู่ปกติได้เร็ว ก็ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ ที่จะตามมา
EP.157 : เป็นเบาหวาน – ความดันสูง กินทุเรียนได้มั๊ย ?
เปิด ! อาหารไตรกลีเซอไรด์สูง ที่ควรเลี่ยง
ชนิดของความดันเลือดสูง
ก่อนที่ผู้เขียนจะพาไปพบชนิดของความดันเลือดสูง เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ที่เรียกว่า ความดันเลือดสูง นั้นอยู่ในระดับที่เท่าใด ในปัจจุบันแพทย์วินิจฉัยว่า ในภาวะปกติผู้ที่มีความดันเท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เป็นผู้ที่มีความดันเลือดสูง และหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเสื่อม ความเสื่อมในที่นี่ หมายถึง มีโอกาสเป็นโรคหัวใจตีบ ได้มากถึง 4-5 เท่า และมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบถึง 7 เท่าของผู้ที่มีความดันปกติ
ปัจจัยที่มีผลต่อความดันเลือดสูง
- อายุ
โดยส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น ความดันเลือดจะสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นกฎตายตัวว่าอายุมากขึ้น ความดันเลือดจะสูงขึ้นเสมอไป
- จิตใจ และอารมณ์
ขณะที่ได้รับความเครียด (ไม่ว่าจะดีใจ หรือ เสียใจ) อาจจะทำให้ความดันเลือดสูงกว่าปกติได้ถึง 30 มม.ปรอท
- พันธุกรรม
ผู้ที่มีคุณพ่อ คุณแม่ เป็นโรคความดันเลือดสูง จะมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในครอบครัว
- อาหาร
อาหารที่ผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงก็คือ อาหารเค็มจัด เช่น กะปิ น้ำปลา ซอส ไข่เค็ม หรืออาหารกระป๋อง ประเภทอาหารหมักดอง เช่น ผักกาดดองต่าง ๆ นอกจากนี้ ควรงดอาหารที่ต้องเติมซอส หรือ น้ำปลาเพิ่ม ควรฝึกตัวเองให้เป็นสุขนิสัยโดยค่อย ๆ ลดปริมาณเกลือ ลงเรื่อย ๆ ซึ่งจะดีต่อผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง
4 วิธีเลือกอาหาร สำหรับผู้ป่วยความดันเลือดสูง
- เลือกทำอาหารด้วยตัวเอง
เพราะสามารถควบคุมในเรื่องวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร และการปรุงอาหารได้ เช่น ลดการใส่เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ในอาหาร เพราะการทานเกลือหรือโซเดียมมากเกินไป จะทำให้ร่างกายกักเก็บของเหลวไว้ และนำไปสู่การเพิ่มความดันเลือด ด้วยเหตุผลนี้ ผู้ป่วยความดันเลือดสูง อาจเคยได้ยินแพทย์แนะนำว่า ทานเกลือไม่ควรเกินวันละ 1 ช้อนชา
- งดอาหารแปรรูป
พยายามเลี่ยงอาหารประเภทแปรรูป อย่างเช่น อาหารสำเร็จรูป ไส้กรอก, อาหารกล่องตามร้านสะดวกซื้อ, ฮอทด๊อก, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, เนื้อรมควัน หรือเนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป อาหารเหล่านี้ มีโซเดียมผสมอยู่ในปริมาณที่สูงมาก เนื่องจากอาหารประเภทนี้มีไขมันอิ่มตัว และใส่สารกันบูด เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีอายุยาวนาน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปทุกชนิด จะส่งผลดีต่อร่างกาย และลดความเสี่ยงโรคความดันเลือดสูง
- งดการดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ความดันเลือดสูง โดยเข้าไปทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว ทำให้เลือดสูบฉีดแรงดันในหลอดเลือดแดงมากขึ้น และแอลกอฮอล์ ยังมีน้ำตาลในระดับที่สูงมาก ที่สามารถนำไปสู่การเพิ่มน้ำหนักตัว และความดันเลือดสูงได้
- เลี่ยงการดื่มน้ำซุป
ถ้าการดำเนินชีวิตของเราต้องพึ่งการทานอาหารนอกบ้านเป็นประจำหล่ะก็ ควรเลี่ยงอาหารที่มีน้ำซุปเค็มมาก เช่น ซุปกระป๋องหรือซุปผง และครีมซุปต่าง ๆ มักจะมีโซเดียมอยู่ในปริมาณที่สูง ในซุป 1 กระป๋อง มีปริมาณโซเดียมอย่างน้อย 800 มิลลิกรัม ซึ่งมีปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณโซเดียมที่แนะนำต่อวัน และถ้าทานอาหารนอกบ้าน แนะนำว่าควรรินน้ำซุปบางส่วนออก และเติมน้ำเปล่าแทน จะช่วยลดปริมาณโซเดียม หรือ เน้นทานแต่เนื้อ และเหลือน้ำซุปทิ้งไว้
จะเห็นได้ว่า ภาวะความดันเลือดสูง ส่วนใหญ่เกิดจากอาหารที่เรารับประทาน การหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม มัน หวาน ลดการปรุงรสเพิ่มเติมในอาหาร รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและกิจกรรมบางอย่างในชีวิตประจำกัน ก็จะช่วยให้ความดันเลือดในร่างกายอยู่ในสภาวะที่สมดุลได้ พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
………………….
(เครดิต : www.somanao.com , Thailand Healthy Society, Nonthavej.co.th, Siphhospital.com/th/news/article/share/hypertension, www.i-kinn.com)