เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่าน เมื่อเข้าสู่ปีใหม่มักจะเปรยกับตัวเองตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ ให้กับชีวิตตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว การเงิน และการงาน ความสำเร็จต่าง ๆ ซึ่งมักรวมไปถึงเรื่องสุขภาพ และในปีนี้ น่าจะเป็นเรื่องหลักสำหรับใครหลาย ๆ คน ด้วยสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ด้วยกันนี้ ไม่ว่าจะเป็น โควิด 19 บ้าง, มลพิษฝุ่น PM2.5 บ้าง ล้วนแล้วแต่เป็นภาวะที่เราต้องเพิ่มการดูแลสุขภาพให้ดีมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีมากเท่านั้น วันก่อนผู้เขียนเขียนเรื่องเกี่ยวกับ “ทั้ง ๆ รู้ ดื่มเหล้าทำลายตับ แต่ก็ (จะ) ดื่ม” ไปแล้ว ก็มีหลังไมค์มาอยากให้รวบรวมเทคนิควิธีการดูแลตับให้ด้วย ถ้าสังเกตดี ๆ ตามสถิติในประเทศไทยด้วยโรคมะเร็งตับ ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2563 ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยข้อมูลว่า มะเร็งตับ พบในเพศชายมากเป็นอันดับหนึ่ง ของมะเร็งทั้งหมดในคนไทย จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทยปี 2560 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ 20,671 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,912 คน ซึ่งมะเร็งตับที่พบมากในประเทศมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีตับ
มะเร็งตับ แชมป์โรคมะเร็งของคนไทย
วิธีดูแลตับ ทำไม ต้องดูแล “ตับ”
ตับ เป็นอวัยวะที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของร่างกาย ตับ เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุด มีสีแดง อยู่บริเวณชายโครงขวาใต้กระดูกซี่โครง ในหนึ่งวัน เลือดทั้งหมดในร่างกายประมาณ 5 ลิตรนั้น จะใช้เวลาไหลเวียนผ่านตับเพียง 4-5 นาทีเท่านั้น ฉะนั้น เราจะสังเกตุได้ในหนึ่งวัน ตับทำงานหนักมาก เพราะหน้าที่ตับ ก็รับผิดชอบ 3 ข้อหลัก ๆ ดังนี้
- สะสมอาหาร
หลังจากที่ตับเปลี่ยนสารอาหารที่ถูกย่อยมาแล้ว จะส่งต่อไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตัวตับเอง ก็สะสมอาหารต่าง ๆ เอาไว้ใช้ในเวลาที่ร่างกายต้องการด้วย ไม่ว่าจะเก็บน้ำตาลกลูโคสไว้ในตับ เมื่อใดที่ร่างกายต้องการพลังงาน ก็จะส่งสัญญาณมาที่ตับ และตับก็จะส่งกลูโคสนี้ออกไปให้ร่างกายได้ใช้
- ย่อยสารอาหาร
ตับ จะดึงสารอาหารที่ถูกย่อยจากทางเดินอาหารมาเปลี่ยนเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย หรืออธิบายง่าย ๆ คือเปลี่ยนสารอาหารต่าง ๆ ให้เป็นสิ่งที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้นั่นเอง
- กำจัดของเสียสารพิษออกจากร่างกาย
ตับ ทำหน้าที่ในการขับถ่ายของเสียออกมาในรูปแบบน้ำดี ส่งผ่านไปยังลำไส้เล็กส่วนต้น แต่น้ำดีที่ว่าบางส่วนของน้ำดีจะเป็นของเสียแล้ว แต่ในบางส่วนของน้ำดีจะเป็นตัวช่วยย่อยไขมันในลำไส้เพื่อดูดซึมวิตามิน เอ ดี อี และ เค เพื่อใช้ในร่างกายด้วยค่ะ
ไม่ “ดื่มเหล้า” จะเสี่ยงเป็นโรคตับมั๊ย ?
อย่างที่เราท่านทราบดีว่า “การดื่มเหล้า” อาจเป็นส่วนหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เป็นโรคตับแข็ง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คนทั่วไปจะไม่เสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบ แน่นอน ย่อมเกี่ยวข้องโดยตรงกับพฤติกรรมบริโภคอาหารด้วย อาหารที่มีสารเจือปนในอาหารมีมากมายในปัจจุบัน จึงทำให้คนส่วนใหญ่ สะสมสารพิษในตับมากมายโดยไม่ทันจะรู้เนื้อรู้ตัว และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมเราต้องหมั่นดูแลบำรุงตับให้มีสุขภาพดี
7 อาหาร ดีต่อ “ตับ”
เลี่ยงทานอาหารตามใจปาก เพราะอาหารที่เป็นส่วนเกินจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันในตับ นั่นเอง ดังนั้นหากคณต้องการหาวิธีดูแลตับ การทานอาหารของเราในแต่ละวัน จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังโดยไม่ทานอาหารตามใจปาก (มากเกินไป) เพราะอาหารที่เป็นส่วนเกินจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันในตับ และส่งไปสะสมในร่างกายมากขึ้น ดังนั้นอาหาร “บำรุงตับ” จึงมีความสำคัญไม่น้อยทีเดียว เพื่อช่วยให้ตับของเราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เรามาดูกันว่าอาหารบำรุงตับ มีอะไรบ้าง :-
1.ผักกะหล่ำ
หยิบมาไว้อันดับแรกอาหารบำรุงตับ หาง่าย เจอได้ในตลาดนัดแถวบ้าน นั่นคือกะหล่ำปลี เพราะในกะหล่ำปลีมีส่วนช่วยเพิ่มกลูต้าไธโอนในร่างกาย ทำให้ล้างสารพิษ บำรุงตับได้เป็นอย่างดี เหมาะกับคนยุคใหม่ที่ต้องสังสรรค์ ดื่มเหล้าสังสรรค์ เป็นประจำ
2.แครอท
ถือเป็นทางเลือกที่แสนหาทานได้ง่าย เพราะในแครอท มีวิตามินมากมาย เช่น วิตามิน เอ วิตามิน บี 1, วิตามิน บี2, วิตามินซี และวิตามิน ดี และวิตามินเค อีกทั้งยังมีกรดโฟลิคฟอสฟอรัส โซเดียม โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก สังกะสี และทองแดง ซึ่งทั้งหมดนี้มีคุณสมบัติช่วยบำรุงตับ และบำรุงเลือดได้อีกด้วย
3.ขมิ้นชัน
ถือเป็นตัวช่วยในการขับพิษสะสมในตับ ขมิ้นชัน ถือเป็นสมุนไพรที่หาง่าย และดีต่อตับโดยตรงมากที่สุด ซึ่งเจ้าตัวขมิ้นชัน นอกจากจะช่วยขับพิษออกจากตับได้แล้ว ยังช่วยฟื้นฟูตับ บำรุงตับ และยังล้างพิษออกจากตับได้อีกด้วย โดยสามารถเลือกทานขมิ้นชันแคปซูลก่อนนอน แนะนำไม่ควรบริโภคเกิน 8000 มิลลิกรัมต่อวัน
4.กระเทียม
แน่นอน สมุนไพรกระเทียม เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน ที่หาซื้อกันได้ง่าย แถมประโยชน์มากมายมหาศาล สรรพคุณกระเทียม ช่วยกระตุ้นให้ตับผลิตเอมไซม์ตัวที่ช่วยขับสารพิษออก อีกทั้งกระเทียมยังมีอัลลิซิน (Allicin) และซีลีเนียม (Selenium) ทั้งสองตัวนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญจากธรรมชาติที่ช่วยดีท๊อกซ์สารพิษสะสมในตับ ได้เป็นอย่างดี
5.มะขามป้อม
อย่างที่เราเล่าเรียนมาสมัยยังเป็นเด็ก เจ้าตัวมะขามป้อมนั่น อุดมไปด้วยวิตามินซี มากกว่าแอปเปิ้ลถึง 170 เท่า ซึ่งวิตามินซีในมะขามป้อ จะช่วยในการรักษาอาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แถมยังช่วยต้านอนุมูลอิสระด้วย
6.ชาเขียว
ชาเขียว อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสารคาเทซิน (Catechins) ที่มีส่วนช่วยยับยั้งการดูดซึมไขมันของร่างกาย ลดการสะสมไขมันในร่างกาย ลดการสะสมไขมันในตับ การดื่มชาเขียวที่มีสารคาเทซินสูง จะช่วยให้ไขมันในเลือดและค่าเอมไซม์ตับลดน้อยลง
7.อะโวคาโด
อีกหนึ่งผลไม้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดผลไม้เพื่อสุขภาพ เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยในการลดน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนักได้ดีเยี่ยมแล้ว ยังช่วยบำรุงร่างกายแบบองค์รวมได้ด้วย อะโวคาโด ช่วยบำรุงตับได้เป็นอย่างดี เพราะมีกลูต้าไธโอนอยู่เยอะมาก ๆ แถมมีโอเมก้า 3 และ โอเมก้า 6 ทำให้ยิ่งทานยิ่งความจำดี สุขภาพดี รูปร่างดี ตับดี อุ้ยย..ดีทุกส่วนของร่างกายเลยค่ะ
นอกจากอาหารที่ช่วยบำรุงตับแล้ว วิธีดูแลตับอื่นๆ ก็สามารถทำได้ เพียงปรับเปลี่ยนเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในชีวิต ก็ยิ่งช่วยให้ตับแข็งแรงมากขึ้น เช่น เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์, เลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก (โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง), ไม่นอนดึก เกินไป เพราะช่วงเวลา 4 ทุ่มถึง ตี 2 เป็นช่วงเวลาที่ตับใช้ซ่อมแซมตัวเอง เพียงเท่านี้ เราก็สามารถมี “ตับ” ที่แข็งแรงอยู่กับเราได้นานนาน พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
…………..
(เครดิต : How To Keep Your Liver Healthy, www.webmd.com, www.paolohospital.com/th, www.healthline.com, Food For Healthy Liver, 11 foods That Are Good For Your Liver, www.i-kinn.com)