ในปี 2564 ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Completed Aged Society) และพบว่าประชากรผู้สูงอายุชาวไทย มีปัญหาเรื่องสุขภาพที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และบางส่วนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากถึง 5% การบาดเจ็บที่พบบ่อยในผู้สูงอายุอันดับต้น ๆ เลย หนีไม่พ้น “การพลัดตกหกล้ม” ! อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ปีล่าสุด เผยว่า ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2559 – 2562 ที่เพิ่งผ่านมาหยก ๆ นี่เอง มีจำนวนผู้สูงอายุที่บาดเจ็บด้วยสาเหตุการพลัดตกหกล้ม ทั้งหมดถึง 141,895 ราย หรือ เพิ่มมากขึ้นทุกปี คิดเป็นร้อยละ 29.5 จากปี 2559 และถ้าเรามองลึกเข้าไปในรายละเอียด จะเห็นว่า กลุ่มที่มีอายุประมาณ 60 – 65 ปี ตามมาด้วย กลุ่มผู้สูงอายุ 66 – 69 ปี และกลุ่มอายุประมาณ 70 – 75 ปี เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่จุดที่น่าสังเกตคือ พออายุประมาณ ตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไป จะพบว่า เป็นผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย และถ้ามองลึกเฉพาะในปีที่แล้ว คือ ปี 2562 จะเห็นชัดเจนว่า ผู้สูงอายุที่บาดเจ็บด้วยสาเหตุพลัดตกหกล้ม ทั้งหมดถึง 24,364 ราย !
เมื่อเราทราบอย่างนี้แล้ว เราจะเห็นว่า ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และเมื่อเกิดแล้ว ก็อาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็น กระดูกข้อมือหัก สะโพกหัก หรือ กระดูกสันหลังหัก หรือเสี่ยงไปถึง เลือดคั่งในสมอง เป็นต้น แน่นอน ไม่มีใครอยากให้เกิดอุบัติเหตุ ผู้สูงอายุในวันนี้ ก็คือ หนุ่มสาวของเมื่อวาน ความเสื่อมของร่างกายค่อย ๆ ทยอยมา โดยเฉพาะความเสื่อมของตา การมองเห็น นี่ยังไม่นับถึงที่ผู้สูงอายุ มักเกิดความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ แขน และ ขา ทำให้เป็นสาเหตุเพิ่มปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุ พลัดตกหกล้ม ได้บ่อยขึ้นไปอีก และปัญหาที่พบบ่อยของผู้สูงอายุที่ได้รับอุบัติเหตุภายในบ้านคือ กระดูกสะโพกแตกหัก และอุบัติเหตุทางสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีอัตราความพิการ – เสียชีวิตค่อนข้างสูงมากทีเดียว !
ปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุ
โดยแบ่งง่าย ๆ ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ปัจจัยภายใน และ ปัจจัยภายนอก โดยปัจจัยภายใน คือ ปัจจัยในร่างกายของผู้สูงอายุ ส่วนปัจจัยภายนอกคือ สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวผู้สูงอายุ
ปัจจัยเสี่ยงภายในร่างกายของผู้สูงอายุ
- การเจ็บป่วยและโรคประจำตัว อาจส่งผลให้หกล้มได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมองส่งผลให้แขนขาอ่อนแรง จึงขาดสมดุลในการทรงตัว โรคพาร์กินสัน ที่ทำให้อวัยวะอยู่ในภาวะสั่น เสี่ยงต่อการหกล้มได้มากเช่นกัน
- การเปลี่ยนแปลงทางสายตา โดยปกติ ผู้สูงอายุ มักมีปัญหาสายตายาว ทำให้การคาดคะเนระยะทางได้ไม่ถูกต้อง หรือในกรณีผู้สูงอายุเป็นต้อกระจก ต้อหิน ฯลฯ ทำให้การมองเห็นไม่ชัด อาจเกิดการหกล้มได้
- ปัญหาในเรื่องทางเดินปัสสาวะ ถือเป็นปัญหาที่พบบ่อยที่ผู้สูงอายุกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ทำให้เร่งรีบเข้าห้องน้ำ อาจทำให้หกล้มได้
- ความเสื่อมของกระดูกและเอ็นที่อ่อนแอลง ส่งผลต่อการทรงตัว ทำให้หกล้มง่าย
- การใช้ยาบางตัว มีความเสี่ยงต่อการหกล้ม เช่น ยาลดความดัน ยานอนหลับ ยาลดความซึมเศร้า
ปัจจัยเสี่ยงภายนอก หรือ สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวผู้สูงอายุ เช่น สิ่งแวดล้อมภายในบ้านที่ไม่เอื้ออำนวยให้ปลอดภัย เช่น พื้นบ้าน (ปูด้วยหินอ่อน หินแกรนิต เวลาทำน้ำหก แทบแยกไม่ออกส่วนไหนเงาของหิน หรือเงาของผิวน้ำที่หก) แสงสว่างไม่เพียงพอในบ้าน ห้องน้ำ บันได หรือ แม้กระทั่งการเลือกรองเท้าที่ไม่เหมาะสม ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการหกล้ม
ชีวิตผู้สูงอายุในญี่ปุ่น Hyper Aging Society
ถ้าพูดถึงสังคมสูงอายุ ประเทศอันดับต้น ๆ ที่เรานึกถึงก็คือ ประเทศญี่ปุ่น เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ติดอันดับสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ด้วยเพราะประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศแรก ๆ ที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นประเทศแรก ตั้งแต่ปี 2513 ถึงแม้ว่า พวกเราจะทราบว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด หรือที่เรียกว่า Hyper Aging Society แต่ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Aging Society ก็มีการแข่งขันกันสูงมากกว่าทุกประเทศด้วยเช่นกัน เมื่อปีที่แล้ว (ก่อนวิกฤต โควิท 19) ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเดินดูงาน H.C.R. 2019 International Home Care & Rehabilitation Exhibition ถือเป็นงาน Aging Society ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย จัดงานใน Tokyo Big Sight อยากจะเล่าแบบชาวบ้านเลยว่า นวัตกรรมสินค้าที่วางโชว์อยู่ในงาน ล้วนแล้วแต่เป็นการ “ป้องกัน” เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ “ภายหลังเกิดอุบัติเหตุ” ไม่ว่าจะเป็น เตียงไฟฟ้าแบบแยกชิ้นผู้ป่วยนอนได้ เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง ไปยังโรงพยาบาล, รถเข็นคนไข้ แบบปรับระดับได้ชนิดที่เบาที่สุดเพียง 2 กก., เข็มขัดกลช่วยพยุงแผ่นหลัง และหน้าขา ขณะเดินเพื่อป้องกันการหกล้มจากกล้ามเนื้อขา-หลัง อ่อนแรงขณะเดิน, อุปกรณ์กันลื่น ตัวจับในห้องน้ำ, ไม้เท้าไทเทเนี่ยม, เก้าอี้ที่ดีไซน์เป็นโถชักโครก สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาการเดิน และอื่น ๆ อีกมากมาย เออ ยังมี รถเก๋งแปลงส่วนที่นั่งให้โล่ง เพื่อรองรับรถเข็นไฟฟ้า เข็นขึ้นรถได้สะดวก ถือว่าเป็นงานที่เปิดโลกอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับผู้สูงอายุแบบ 360 องศา เลยทีเดียว กลุ่มคนที่เดินในงาน แน่นอน เป็นกลุ่มคนผู้สูงอายุ (ที่ยังเดินได้ดี) และกลุ่มคนที่เป็นผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็นไฟฟ้า (บังคับเองได้) มาเดินดูของ และอีกกลุ่มหนึ่งที่สังเกต คือ กลุ่มคนที่ทุพลภาพจริง ๆ ที่ลูกหลานเข็นมาเพื่อชม นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเหมาะกับผู้สูงอายุในบ้านตนเอง
ผู้สูงอายุ ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน
ถือเป็นบุคคลที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นกรณีพิเศษ เพราะด้วยวัยที่มากขึ้น ทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นตาที่เริ่มพร่ามัว หูที่ได้ยินไม่ชัด รวมถึงความทรงตัวที่ดูจะน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น เป็นเหตุให้ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย และแน่นอน เมื่อผู้สูงอายุเกิดหกล้มแล้ว จะส่งกระทบต่อคนในครอบครัวเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ดังคำกล่าวที่ว่า “ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน” และเมื่อผู้สูงอายุหกล้มแล้ว แน่นอน ไม่เหมือนเดิม และต้องใช้เวลาพักฟื้นค่อนข้างนาน บางรายถึงกับต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิตที่เหลือ สร้างความทุกข์ใจกับผู้สูงอายุนั้น ๆ
ทีนี้ เมื่อเราทราบถึงอันตรายที่เกิดขึ้นในกรณีผู้สูงอายุหกล้ม เรามาดูวิธีป้องกัน พร้อมกันเลยค่ะ :-
-
หาอุปกรณ์ช่วยเวลาเดินสำหรับผู้สูงอายุ
แน่นอน ในวัยนี้ การทรงตัวย่อมจะไม่แน่น แข็งแรงเหมือนวัยหนุ่มสาว ดังนั้นเวลาเดิน แนะนะควรมีตัวช่วยในการทรงตัว เพื่อป้องกันการหกล้ม ไม่ว่าจะเป็น ไม้เท้าสามขา วอลค์เกอร์ (ไม้เท้าสี่ขา) ไม้ค้ำยัน ต่าง ๆ และแนะนำควรเลือกให้เหมาะสมกับความสูง (ปรับขนาดต้องไม่ยาวหรือสั้นเกินไป) เพราะถ้าปรับขนาดไม่พอดีกับความสูง แทนที่จะป้องกันหกล้ม กับกลายเป็นเหตุให้หกล้ม ก็เป็นได้
-
หมั่นสังเกตอาการผิดปกติด้านการรับรู้
ไม่ว่าจะเป็นอาการสับสน ความหลงลืม ของวันเวลาต่าง ๆ ชื่อเพื่อน ชื่อลูกหลาน หรือ สมาชิกครอบครัว รวมถึงการทำการตัดสินใจช้าลง ตอบสนองต่อการรับรู้ช้า นั่นเอง
-
หมั่นสังเกตผิดปกติการเดิน
การเดิน การทรงตัวในการเดิน เพราะผู้สูงอายุมีกลไกการทำงานที่จะควบคุมการทรงตัวลดลง ทำให้บางที ยืนเฉย ๆ อาจเซ ได้ เรียกว่า เด็กวิ่งชน สามารถทำให้ท่านล้มได้เลย
-
จัดอุปกรณ์ภายในบ้านเพื่อเอื้อต่อผู้สูงอายุ
- ทางลาดในบ้าน ควรจะมีเพื่อผ่อนแรงผู้สูงอายุในกรณีที่ต้องใช้ Wheel Chair (เก้าอี้รถเข็นผู้ป่วย) ควรทำทางลาดไว้ตามบันไดต่าง ๆ ความชันไม่ควรเกิน 5 องศา และมีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 ซม. และมีความลาดยาว ต้องไม่เกิน 5 เมตร
- ขนาดเตียงต้องเหมาะสม
ควรจัดให้นอนบนเตียงที่มีความยาวไม่น้อยกว่า 180 ซม. สูงประมาณ 40 ซม.
- ต้องเพิ่มราวจับ
เพิ่มราวจับบริเวณทางเดินรอบบ้าน ในห้องน้ำ การติดตั้งราวจับ ควรเน้นให้มีลักษณะสั้น – ยาว หรือเป็นรูปตัวซี ได้เลยค่ะ ติดตั้งที่ผนังห้องน้ำ ทางเดินลาด ทางเดินในบ้าน ห้องครัว และออกแบบติดตั้งไว้สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 ซม.
- ต้องเพิ่มแรงเสียดทานให้พื้น
แน่นอน เพื่อระวังการหกล้ม พื้นต้องพื้นแรงเสียดทาน เช่น ติดแผ่นกันลื่น เป็นแถบยางกันลื่น หรือ วัสดุไม้สังเคราะห์ หรือถ้าเป็นกระเบื้อง ควรเป็นกระเบื้อง ลวดลายกันลื่นโดยเฉพาะ ที่ปัจจุบัน มีหลายแบรนด์ หลายลวดลายให้เลือก เพื่อความสวยงามด้วย
-
หมั่นสังเกตอาการของการมองเห็น
สังเกตอาการ หรือสิ่งผิดปกติของการมองเห็น เช่น ตาพร่า มัว บอกระยะห่างชัดเจนไม่ได้ และการที่ไม่สามารถแยกความต่างของสีได้ เหล่านี้ ควรต้องสังเกต เพื่อปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไข
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สาเหตุสำคัญของการพลัดตกหกล้ม คือ ตัวผู้สูงอายุเองมีความเสื่อมของร่างกาย ให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ลดลง ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา อย่าตื่นตกใจ ให้ตั้งสติให้ดี จากนั้นให้ประเมินการบาดเจ็บ หากไม่สามารถขยับหรือลุกได้ ให้ท่านนอนในท่าที่สบาย อย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อป้องกันกระดูกอาจหักไปทำลายเนื้อเยื่อ หลอดเลือด ฯลฯ และให้รีบโทร.สายด่วนไปยังโรงพยาบาล เพื่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน
…………..
(เครดิต : Medication – Related Falls in Older People, www.link.springer.com, National Council on Aging, ncoa.org/news/resources-for-reporters/get-the-facts/falls-prevention-facts/, www.i-kinn.com, สพฉ.)
Anonymous
December 4, 2020ประสบการ์ตรงคุณแม่ล้มเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ชีวิตเปลี่ยนเลย ล้มจากเก้าอี้ที่โตะเครื่องแป้ง เพราะเข้าใจว่า ตรงนั้นมีเก้าอี้ เลยหย่อนก้นนั่ง กระแทกกับพื้นอย่างแรง กระดูกตรงข้อศอก หัก สองท่อนทันที ต้องกายภาพอีกหลายเดือน คนสูงอายุฟื้นตัวนาน ต้องใช้เวลา
Siriphorn Ariya
December 10, 2020ต้องระวังมากขึ้นสำหรับผุ้สูงอายุค่ะ