กุหลาบสวยย่อมมีหนาม แต่หญิงงามไม่ควรมีพุง
พุงกับมะเร็งเต้านมเกี่ยวพันกันอย่างไร ติดตามอ่านได้จาก Lecture Note ในครั้งนี้ค่ะ
การบรรยายหลักสูตรสื่อสุขภาพรุ่นที่ 2 ครั้งที่ 7 มีหัวข้อการบรรยายคือ “รู้ทันมะเร็งเต้านม” โดยผู้บรรยายคือ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ พรชัย โอเจริญรัตน์ หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ ศีรษะ คอ และเต้านม คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาลค่ะ
ทำไมโรคมะเร็งเต้านมถึงเป็นปัญหาสำคัญ
โรคมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก และเป็นมะเร็งที่ทำให้ผู้หญิงเสียชีวิตมากที่สุดทั่วโลกเมื่อเทียบกับมะเร็งประเภทอื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทยด้วยค่ะ โดยในแต่ละปีนั้น มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมไม่ต่ำกว่า 7 ล้าน 6 แสนคนเลยทีเดียว
นอกจากนี้แล้ว หากเราดูอุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมหรือจำนวนผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยใหม่ว่าเป็นมะเร็งเต้านมในแต่ละปีแล้วจะพบว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่กว่า 1 ล้านคนทั่วโลก และเฉพาะในสหรัฐอเมริกานั้น มีผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยใหม่ว่าเป็นมะเร็งเต้านมกว่า 175,000 คน
สำหรับประเทศไทยนั้น มีจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่ถูกวินิจฉัยใหม่ว่าเป็นมะเร็งเต้านม 20 คนต่อประชากร 1 แสนคนในแต่ละปี และคาดว่าในปี 2562 จะมีจำนวนผู้ป่วยใหม่ทั้งสิ้น 2 หมื่นคน ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมนั้นจะพบมากที่สุดในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ สำหรับในภาคกลางนั้น มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้น 8.5% ต่อปีค่ะ
อัตราการรอดชีวิตสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในแต่ละประเทศนั้นจะแตกต่างกัน ขึ้นกับระดับการพัฒนาของประเทศและความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลค่ะ โดยผู้ป่วยในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีรายได้ประชาชาติสูงจะมีอัตราการรอดชีวิตถึง 80% ในขณะที่อัตราการรอดของผู้ป่วยในประเทศที่มีรายได้ประชาชาติปานกลางจะลดลงมาอยู่ที่ 60% และเหลือแค่ 40% สำหรับผู้ป่วยในประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่ำ
ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม
สาเหตุที่ทำให้เป็นมะเร็งนั้นมีหลากหลาย ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมซึ่งทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งประมาณ 10-15% รวมถึงปัจจัยการใช้ชีวิต ทั้งการทานอาหาร การดื่มเหล้าสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย ปัจจัยด้านอาชีพการงาน รวมถึงปัจจัยสภาพแวดล้อมอื่นๆ ด้วยค่ะ
สำหรับมะเร็งเต้านมนั้น ปัจจัยเสี่ยงหลักที่เพิ่มหรือลดโอกาสในการเป็นมะเร็ง ได้แก่อายุ ฮอร์โมนเพศ เนื้อเยื่อของเต้านม น้ำหนักตัว ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิต รวมทั้งการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
อายุ
ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปจนถึงประมาณ 50 ปี จากนั้นความเสี่ยงจะเริ่มลดลง โดยผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 30-34 ปี มีอัตราการเป็นมะเร็งเต้านม 20 คนต่อประชากร 1 แสนคน ในขณะที่ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 35-39 ปี มีอัตราการเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 50 คนต่อประชากร 1 แสนคน และอัตราการเป็นมะเร็งเต้านมนี้เพิ่มขึ้นเป็น 110 คนต่อประชากร 1 แสนคนสำหรับผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 40-44 ปี และสูงที่สุดคือ 160 คนต่อประชากร 1 แสนคนสำหรับผู้หญิงที่มีอายุในช่วง 45-49 ปี
ฮอร์โมนเพศ
ลักษณะการเจริญพันธุ์ ฮอร์โมนเพศที่ได้รับจากภายนอก ทั้งการทานยาคุมกำเนิดและการทานฮอร์โมนสำหรับวัยทอง และการใช้ชีวิตที่มีผลต่อระดับฮอร์โมน เช่น การดื่มสุรา การออกกำลังกาย เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งเต้านมได้ทั้งสิ้นค่ะ
การเริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย รวมถึงการหมดประจำเดือนเมื่ออายุมาก จะทำให้มีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกันค่ะ
การตั้งครรภ์และมีลูกคนแรกก่อนอายุ 30 ปีจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้ เนื่องจากตอนที่ตั้งครรภ์นั้น ฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงจะลดลง ดังนั้น หากตั้งครรภ์เร็ว ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลงเร็ว ในขณะที่การทำกิฟท์กระตุ้นให้ไข่ตก จะเป็นการเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม โดยผู้หญิงที่ทำกิฟท์จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ทำ 2.5 – 3 เท่าเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ ก่อนการทำกิฟท์ จึงควรมีการตรวจระดับฮอร์โมนก่อน และตรวจอย่างสม่ำเสมอในช่วงของการทำกิฟท์ด้วยนะคะ
เนื้อเยื่อของเต้านม
ผู้หญิงที่มีเนื้อเยื่อของเต้านมแน่นหรือมีเนื้อทึบ จะมีเซลล์เต้านมมาก จึงมีโอกาสที่เซลล์เหล่านี้จะกลายพันธุ์และกลายเป็นมะเร็งได้มากเช่นกัน เต้านมที่มีความหนาแน่นสูงกว่า 75% จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม 4 – 5 เท่าเลยทีเดียวค่ะ
น้ำหนักตัว
คุ้นเคยกับคำว่า “ค่าดัชนีมวลกาย” หรือ Body Mass Index (BMI) กันมั้ยคะ
“ดัชนีมวลกาย” คำนวณจากน้ำหนักตัว (วัดเป็นกิโลกรัม) หารด้วยความสูง (วัดหน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง ค่าดัชนีมวลกายที่จัดว่าเป็นปรกติคือน้อยกว่า 24 เราจะถูกจัดว่าเป็นคนท้วม มีน้ำมีนวล ถ้ามีดัชนีมวลกายระหว่าง 24-30 และหากดัชนีมวลกายมากกว่า 30 เราจะไม่ถูกจัดว่าเป็นคนอวบระยะสุดท้ายแต่จะถูกเรียกว่าอ้วนค่ะ (บาดใจเล็กๆ)
ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมากเมื่อหมดประจำเดือนแล้ว (ค่าดัชนีมวลกายเกิน 27) หรือผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมสูง เพราะไขมันที่สะสมเป็นแหล่งสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนชั้นดี เมื่อมีไขมันสะสมมาก ก็จะยิ่งมีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนออกมามาก
ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งค่ะ และหากเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว ผู้หญิงที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 25 จะมีโอกาสในการเป็นซ้ำและเสียชีวิตสูงกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปรกติถึง 1.3 – 2.1 เท่า เพราะร่างกายมีการกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนมาแล้วในอดีต
อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรจะยึดติดกับค่าดัชนีมวลกายแต่เพียงอย่างเดียวนะคะ สิ่งสำคัญก็คือว่า เราควรมีสัดส่วนของไขมันในร่างกายที่น้อย และสัดส่วนของกล้ามเนื้อที่มากค่ะ
การปรึกษานักโภชนบำบัดเพื่อลดและควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม และการลดปริมาณไขมันในร่างกาย สามารถจะช่วยลดอัตราการเป็นซ้ำของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้ถึง 25% เลยทีเดียวค่ะ
สภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิต
มลพิษในอากาศมีผลต่อการเป็นมะเร็งเต้านม การได้รับสารเบนซีนซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ติดต่อกันอย่างน้อย 4 ปี จะทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในขณะที่ผู้ชายที่หายใจสูดควันจากการเผาไหม้เครื่องยนต์เป็นประจำ เช่นหนุ่มนักซิ่งสิงห์บิ๊กไบค์ ก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งสูง โดยผู้ชายกลุ่มนี้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าเลยค่ะ
เชื้อชาติและที่อยู่อาศัยก็มีผลต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน การแต่งงานกันภายในชาวยิวด้วยกัน หรือการแต่งงานของคนที่อาศัยอยู่ภายในประเทศไอซ์แลนด์กันเอง เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่แยกออกไปทำให้มีอัตราการอพยพย้ายถิ่นฐานในระดับต่ำ ทำให้คนกลุ่มเหล่านี้มีความเสี่ยงในการถ่ายทอดยีนส์ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนทั่วไปด้วยค่ะ
การถ่ายทอดทางพันธุกรรม
การมีสมาชิกในครอบครัวหรือญาติสายตรง เช่น แม่ ลูก พี่น้อง เป็นมะเร็งเต้านม จะทำให้เรามีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่าคนทั่วไป 2-5 เท่า ด้วยเหตุนี้ ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัวจึงถือเป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมอีกประการหนึ่ง
เราสามารถนำข้อมูลเกี่ยวกับการเป็นมะเร็งทุกชนิดในญาติอันดับต้น ซึ่งก็คือ พ่อแม่พี่น้องและลูก และการเป็นมะเร็งในญาติอันดับที่ 2 และ 3 ซึ่งก็คือ ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา หลาน ลูกพี่ลูกน้อง รวมถึงตำแหน่งและชนิดของมะเร็งที่เป็น อายุเมื่อถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง มาประเมินความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้
เราจะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากเรามีสมาชิกในครอบครัว 2 คนขึ้นไปในสายเดียวกัน (พ่อหรือแม่) ที่เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ และมีปัจจัยดังต่อไปนี้ร่วมด้วยค่ะ
∗ มีสมาชิกในครอบครัวอีก 1 คนที่เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่
∗ เป็นมะเร็งเต้านมและรังไข่ในคนคนเดียว
∗ เป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 40
∗ เป็นมะเร็งเต้านม 2 ข้างในคนคนเดียว
∗ เป็นมะเร็งเต้านมในเพศชาย
ดาราสาว Angelina Jolie คือตัวอย่างของการมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยคุณยายและคุณแม่ของคุณ Jolie นั้นเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมทั้งคู่
สำหรับยีนส์ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมซึ่งสามารถถ่ายทอดผ่านยีนส์นั้นคือยีนส์ BRCA1 ยีนส์ BRCA2 และยีนส์ TP53 ค่ะ
ยีนส์ BRCA1 ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุ 75 ปีได้ถึง 40 -80% และเป็นมะเร็งรังไข่ 10-60% นอกจากนี้แล้ว ยีนส์ BRCA1 ยังทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มด้วย สำหรับยีนส์ BRCA2 นั้น ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุ 75 ปีเท่ากับยีนส์ BRCA1 คือ 40-80% และทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่ 10-40% นอกจากนี้ ยีนส์ BRCA2 ยังทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านมในผู้ชายได้ด้วยค่ะ
สำหรับยีนส์ TP53 นั้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุ 75 ปีกว่า 50% และเป็นมะเร็งกระดูก 10-50% ยีนส์ TP53 ยังทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งสมอง มะเร็งปอด และมะเร็งต่อมหมวกไตเพิ่มด้วยค่ะ
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งเต้านม จึงควรต้องระมัดระวังกว่าคนทั่วไป ควรมีการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น สำหรับผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงนั้น ก็ควรมีการตรวจเป็นระยะ เนื่องจากมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกันค่ะ
การคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม
การคัดกรองมะเร็งเต้านมนั้น สามารถตรวจคัดกรองได้โดยการคลำเต้านมด้วยตนเอง หรือตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ และการถ่ายภาพทางรังสี (Mammogram) และ Ultrasound ร่วมด้วย
การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นวิธีการที่นิยมในปัจจุบัน ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปควรได้รับการสอนวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกวิธี โดยทั่วไปแล้ว 90% ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์นั้น มักจะมาด้วยการคลำพบเจอก้อนที่เต้านม หากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 3 เซนติเมตรและเป็นมะเร็งระยะที่ 2 หรือ 3 การตรวจเต้านมด้วยตนเองจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมาพบแพทย์ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีนะคะ
สำหรับการตรวจเต้านมโดยแพทย์นั้น มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองและช่วยทำให้พบมะเร็งที่มีขนาดเล็กในระยะเริ่มต้น มีความไวในการพบเกือบเทียบเท่าการตรวจแมมโมแกรม ทั้งยังใช้ทรัพยากรน้อยและค่าใช้จ่ายที่น้อย ถือว่ามีความคุ้มค่า
การตรวจแมมโมแกรมนั้น มีประโยชน์ในการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก มักใช้ในการตรวจหามะเร็งชนิดไม่ลุกลาม และช่วยเพิ่มโอกาสในการผ่าตัดรักษามะเร็งแบบที่สามารถเก็บเต้านมไว้ได้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่าผู้หญิงไทยยังไม่ตระหนักถึงประโยชน์ของการตรวจแมมโมแกรมเท่าใดนัก
ผู้หญิงที่อายุ 35 ปี ควรมีการตรวจแมมโมแกรม และหากผลตรวจเป็นปรกติ ควรมีการตรวจซ้ำในช่วงอายุ 35-40 ปี สำหรับผู้หญิงที่มีอายุในช่วง 40-50 ปี ควรจะตรวจแมมโมแกรมทุกปีถ้าไม่มีความผิดปรกติ และสำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรจะไปตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปีหากไม่มีความผิดปรกติใดๆ
สำหรับการตรวจเต้านมด้วยอัลตราซาวด์นั้น มีประโยชน์มากในผู้หญิงที่เต้านมมีเนื้อแน่นและกลุ่มผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 50 ปี โดยการตรวจด้วยอัลตราซาวด์นั้น ทำให้ช่วยตรวจพบมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 3.7 รายในกลุ่มผู้หญิงที่มีเต้านมเนื้อแน่น 1,000 คน ถึงแม้การตรวจด้วยวิธีนี้มีต้นทุนต่ำและมีอยู่แพร่หลาย แต่ต้องอาศัยแพทย์ที่มีความชำนาญ และความไวสูงในการตรวจพบก้อนลักษณะต่างๆ อาจทำให้ต้องมีการเจาะชิ้นเนื้อตรวจตามมามากเกินความจำเป็นก็เป็นได้ค่ะ
การแบ่งกลุ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านม
เราสามารถแบ่งกลุ่มเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้ 3 กลุ่มค่ะ
- ผู้ที่มีความเสี่ยงเท่ากับประชากรทั่วไปหรือสูงกว่าเล็กน้อย (1 – 1.5 เท่า)
90% ของผู้หญิงทั่วไปจะอยู่ในกลุ่มนี้ค่ะ ผู้ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้จะมีลักษณะดังต่อไปนี้
∗ ไม่มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านมในครอบครัว
∗ มีสมาชิก 1 คนที่เป็นญาติอันดับต้น (แม่ พี่น้อง ลูก) เป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป
∗ มีสมาชิก 1 คนที่เป็นญาติอันดับ 2 (ป้า น้า อา ย่า ยาย หลาน) เป็นมะเร็งเต้านมที่อายุใดก็ตาม
∗ มีสมาชิก 2 คนของญาติอันดับต้นที่อยู่คนละสาย เป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป
∗ มีสมาชิก 2 คนของญาติอันดับ 2 เป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป
หากอ่านดูแล้ว เราจัดอยู่ในกลุ่มนี้ มาดูแนวทางในการปฏิบัติตัวกันต่อเลยค่ะ ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง
∗ อายุ 25 ปีขึ้นไป ควรตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน
∗ อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคลำเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทุกปี
∗ อายุ 35-40 ปี ควรตรวจแมมโมแกรมครั้งแรก
∗ อายุ 41-60 ปี ควรตรวจแมมโมแกรมทุกปี
∗ อายุ 61-75 ปี ควรตรวจแมมโมแกรมทุก 2-3 ปี
- ผู้ที่มีความเสี่ยงปานกลาง (1.5 – 3 เท่า)
4% ของผู้หญิงทั่วไปจะอยู่ในกลุ่มนี้ค่ะ ผู้ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้จะมีลักษณะดังต่อไปนี้
∗ มีสมาชิก 1 คนที่เป็นญาติอันดับต้น (แม่ พี่น้อง ลูก) เป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุน้อยกว่า 50 ปี
∗ มีสมาชิก 2 คนของญาติอันดับต้นที่อยู่สายเดียวกัน เป็นมะเร็งเต้านม
∗ มีสมาชิก 2 คนของญาติอันดับ 2 ที่อยู่สายเดียวกัน เป็นมะเร็งเต้านม โดยที่ 1 คนเป็นก่อนอายุ 50 ปี
ถึงแม้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ 75-90% จะไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมในอนาคต แต่ก็ควรที่จะตรวจแมมโมแกรม และ Ultrasound เต้านมทุกปีตั้งแต่อายุ 35 ปี และพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านเต้านมด้วย
- ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง (3 เท่าขึ้นไป)
น้อยกว่า 1% ของผู้หญิงทั่วไปจะอยู่ในกลุ่มนี้ค่ะ ผู้ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้จะมีลักษณะดังต่อไปนี้
∗ มีสมาชิก 2 คนของญาติอันดับต้นหรือญาติอันดับ 2 ที่อยู่สายเดียวกัน เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ร่วมกับข้อดังต่อไปนี้
✓ มีสมาชิกอีก 1 คน เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่
✓ เป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 40
✓ เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ในคนคนเดียวกัน
✓ เป็นมะเร็งเต้านม 2 ข้าง
✓ เป็นมะเร็งเต้านมในเพศชาย
ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงนี้ควรเข้ารับการตรวจค้นหามะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย และพบแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเต้านมและแพทย์ด้านพันธุศาสตร์ เนื่องจากผู้หญิงในกลุ่มนี้มากกว่า 30% จะเป็นมะเร็งในที่สุดนะคะ
มะเร็งเต้านมในระยะต่างๆ
หากมาดูเส้นทางของการป่วยเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว เราสามารถแบ่งช่วงระยะเวลาออกได้ดังนี้ค่ะ
ระยะที่ 1 ระยะก่อนการวินิจฉัย
ระยะนี้ถือเป็นระยะของการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมและการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแต่เนิ่นๆ เนื่องจากมะเร็งเต้านมมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมเพียง 10-15% แต่สาเหตุที่เหลือมาจากปัจจัยที่เราสามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น การสร้างเสริมสุขภาพของเราให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม และตรวจคัดกรองมะเร็งให้เหมาะสมกับความเสี่ยง ก็จะช่วยลดโอกาสของการเป็นมะเร็งได้
ระยะที่ 2 ระยะการตรวจวินิจฉัยโรค
เนื่องจากมะเร็งเต้านมนั้นมักจะไม่เจ็บไม่ปวด จึงทำให้ผู้ป่วยไม่รับรู้ความรุนแรงของอาการในระยะแรก นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีความกลัวเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น จึงทำให้เข้ารับการรักษาช้า ซึ่งอาจส่งผลทำให้มีความรุนแรงของโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น ขนาดของก้อนใหญ่ขึ้น มะเร็งมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น โอกาสในการรอดชีวิตลดลง และมีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ การให้ความรู้กับประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งสามารถทำได้เร็ว
ระยะที่ 3 ระยะรอฟังผล
การรอคอยฟังผลถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยและญาติเกิดความเครียด วิตกกังวล การแจ้งข่าวร้ายให้ผู้ป่วยและญาติทราบจึงเป็นสิ่งที่แพทย์ต้องมีความระมัดระวัง
ระยะที่ 4 ระยะรับการรักษา
อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในทุกระยะสูงถึง 92.1% ในขณะที่อัตราการรอดชีวิตที่ 10 ปีของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในทุกระยะนั้นอยู่ที่ 85.6% อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทยนั้นสูงกว่าในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการรอดชีวิตสูงคือความร่วมมือของทุกหน่วยงานในโรงพยาบาลในการวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วย รวมถึงการดูแลผู้ป่วยแบบสหสาขาของทีมแพทย์พยาบาลจากหลากหลายสาขา และตัวผู้ป่วยเองที่ให้ความร่วมมือในการรับการรักษาและการติดตามที่ครบถ้วนค่ะ
การรักษามะเร็งเต้านมแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ 1) การรักษาเพื่อควบคุมเฉพาะที่ โดยใช้การผ่าตัดหรือการฉายรังสี และ 2) การรักษาเพื่อควบคุมการกระจายในร่างกาย โดยการใช้เคมีบำบัดหรือฮอร์โมนบำบัด
การรักษาเฉพาะที่โดยการผ่าตัดนั้น สามารถจะผ่าตัดเต้านมออกทั้งข้างแล้วเสริมเต้านมใหม่เข้าไป หรือผ่าตัดเฉพาะเอาก้อนมะเร็งออก แล้วฉายแสงที่เต้านมส่วนที่เหลือ ในส่วนของการรักษาโดยการฉายแสง จะเป็นการใช้รังสีที่มีพลังงานสูงเข้าไปหยุดยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง มักจะใช้ควบคู่กับการผ่าตัด หรือใช้ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ จึงฉายแสงเพื่อให้ก้อนยุบลง การฉายแสงจะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วันค่ะ
สำหรับการรักษาเพื่อควบคุมการกระจายโดยใช้เคมีบำบัด จะเป็นการใช้สารเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย โดยมักใช้ยาหลายชนิดเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ปริมาณและสูตรยาจะขึ้นกับประเภทและระยะมะเร็งที่เป็นนะคะ ยาเหล่านี้อาจอยู่ในรูปของยากินหรือยาฉีดเข้าเส้นเลือดก็ได้ โดยต้องมีการให้ยาทุก 3 สัปดาห์ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ส่วนการใช้ฮอร์โมนบำบัดนั้น แม้จะได้ผลดีประมาณ 30% แต่ก็เป็นที่นิยมค่ะเพราะมีอาการแทรกซ้อนน้อย และผู้ป่วยมะเร็งเต้านมบางรายมีการตอบสนองต่อฮอร์โมนดีมาก การใช้ฮอร์โมนบำบัดมักอยู่ในรูปของยากิน โดยต้องกินต่อกันเป็นเวลา 5-10 ปี
นอกเหนือจากการรักษามะเร็งเต้านมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีการรักษามะเร็งอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่าการรักษามะเร็งแบบภูมิคุ้มกันบำบัดค่ะ
โดยปรกติแล้วเม็ดเลือดขาวในร่างกายเราจะทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคและทำลายเซลล์มะเร็ง แต่การผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวจำนวนมากเกินไปอาจทำให้เราแพ้ภูมิตัวเองได้ ร่างกายจึงมีกลไกในการควบคุมการทำงานดังกล่าว เพื่อรักษาสมดุลให้เกิดขึ้น คุณหมอ James Allison ในสหรัฐอเมริกาและคุณหมอ Tasuku Honjo ในญี่ปุ่น ได้ค้นพบวิธีการ Block กลไกดังกล่าวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้สามารถจัดการกับเซลล์มะเร็งได้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยคุณหมอทั้ง 2 ท่านได้พัฒนาแอนติบอดีขึ้นมาจับกับโปรตีนบนผิวของเซลล์ที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบการทำงานของภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ เพื่อเสริมการทำงานให้กับเซลล์ภูมิคุ้มกัน การค้นพบดังกล่าวส่งผลให้คุณหมอทั้ง 2 ท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 2561 ที่ผ่านมาด้วยค่ะ
ประเด็นฝากจากผู้บรรยาย
ช่วงสุดท้ายของการบรรยาย คุณหมอพรชัยได้สรุปแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อให้หลีกไกลจากมะเร็งเต้านมค่ะ กุหลาบสวยย่อมมีหนาม แต่หญิงงามไม่ควรมีพุง เราจึงควรระมัดระวังน้ำหนักตัวของเราให้เหมาะสมอยู่ตลอด เราควรใช้ชีวิตที่กระฉับกระเฉง มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ในเรื่องของการกินอาหารนั้น ก็ต้องรู้จักเลือกอาหารที่ถูกสุขอนามัยและมีประโยชน์ กินผักและผลไม้อยู่เสมอ นอกจากนี้ เรายังควรลดหรืองดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และควบคุมโรคร่วมต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดัน ร่วมด้วย
ท้ายสุด ก็คือการตรวจเต้านมอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน และหากคลำพบก้อนหรือมีอาการผิดปรกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันทีค่ะ มะเร็งเต้านมไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน จึงทำให้มะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายขาดได้และผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยค่ะ
ขอขอบคุณราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ พรชัย โอเจริญรัตน์ สำหรับการถ่ายทอดความรู้ในหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมให้กับนักศึกษาหลักสูตรสื่อสุขภาพรุ่นที่ 2 ในวันนี้ค่ะ
สรุปและเรียบเรียงโดย ดร. ติ๊ดตี่ ปิยวดี โขวิฑูรกิจ กลุ่มดารารัตน์
……………………….