อาหารมงคล หรือ อาหารไหว้ ถือเป็นตัวละครสำคัญที่ขาดไม่ได้ค่ะไม่ว่าจะเป็นเทศกาลไหนก็ตาม เพราะชาวจีนนั้นมีความเชื่อมาก ๆ เกี่ยวกับอาหาร ซึ่งการคัดเลือกเมนูต่าง ๆ เพื่อนำมาไหว้นั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นเมนูอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นเมนูที่มีความหมายที่ดีเพราะจะได้ส่งผลดีต่อชีวิตด้วย ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกค่ะที่เราจะเห็นเมนูที่หลากหลายในทุก ๆ เทศกาลของชาวจีน
อาหารมงคลตามเทศกาลต่าง ๆ ของจีน มีอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีความหมายอย่างไร
จากที่กล่าวไปค่ะว่า โดยปกติแล้ว ชาวจีนนั้นเชื่อเรื่อง อาหารมงคล มากค่ะ เมื่อถึงปีใหม่หรือเทศกาลสำคัญต่าง ๆ พวกเขาก็จะต้องรับประทานอาหารที่มีความหมายดี ๆ ร่วมกับครอบครัว ญาติมิตร โดยความหมายของชื่ออาหารนั้น สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง สุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ กินแล้วรวย รวมถึงเป็นคำ “พ้องเสียง” ที่สื่อถึงความหมายดี ๆ และมี “รูปลักษณ์” สวยงาม สะท้อนถึงเงินทอง ทรัพย์สมบัติด้วยนั่นเอง ซึ่งจะเห็นได้แล้วว่า เมนูต่าง ๆ นั้นไม่ใช่เพียงแค่อาหารที่รับประทานเท่านั้น แต่ต้องมีความพิถีพิถันในการคัดเลือกความหมายด้วยค่ะ
เมนูมงคลของเทศกาลต่าง ๆ และความหมาย
อาหารมงคล คือ อาหารที่เชื่อว่ากินแล้วจะช่วยเสริมให้ประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง เจริญก้าวหน้า ซึ่งถือว่าเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับมื้อพิเศษ สำหรับเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งเทศกาลสำคัญ ๆ ของจีนนั้นก็มีอยู่หลายเทศกาลด้วยกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็น
ตรุษจีน
วันปีใหม่ที่สำคัญมาก ๆ กับชาวจีน เพราะถือเป็นวันที่เริ่มต้นชีวิตใหม่ รับสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต ดังนั้น การรับประทานอาหารก็ต้องคัดเมนูที่มีความหมายดี ๆ ด้วย เช่น
ปลา ออกเสียง หยีว, หยู ปลาจะอยู่ในเมนูอาหารค่ำ และจะเริ่มกินในวันสิ้นปี (ก่อนวันขึ้นปีใหม่) เพราะเชื่อว่า เก็บความอุดมสมบูรณ์เอาไว้ เพื่อเริ่มต้นปีหน้าอย่างราบรื่น และพอถึงวันปีใหม่ มื้อเย็นก็มักทำ ปลานึ่งทั้งตัว กินในครอบครัว
เกี๊ยว หมายถึงความมั่งคั่ง ออกเสียงว่า เจี่ยวจือ ช่วงนี้เห็นดาราจีนออกมาโพสต์รูปกิน “เจี่ยวจือ” กันตั้งแต่ยังไม่ขึ้นปีใหม่ ชาวจีนกินเกี๊ยวช่วงตรุษจีนมาตั้งแต่ 1,800 ปีก่อน ได้ชื่อว่าเป็นอาหารมงคลยอดนิยมของคนจีนทุกภาค โดยเฉพาะคนภาคเหนือ แต่ เกี๊ยว ต้องทำเป็นรูปเหมือนก้อนเงินก้อนทอง หรือมีรูปร่างคล้ายเรือ หรือรูปทรงกลมเรียวคล้ายไข่ และปิดหัวท้าย ปีใหม่ยิ่งกินเกี๊ยวมากเท่าไหร่ก็หมายถึงมีเงินมากเท่านั้น
เปาะเปี๊ยะ แปลว่า มั่งคั่ง ลักษณะของเปาะเปี๊ยะคล้ายกับเกี๊ยว คือการ “ห่อและคลุม” ออกเสียงว่า ชุนจ่วน มีที่มาว่าชาวจีนนิยมกินเปาะเปี๊ยะในฤดูใบไม้ผลิ (ชุนแปลว่าฤดูใบไม้ผลิ) และเป็นอาหารมงคลตรุษจีน ด้วย
ขนมเข่ง ออกเสียงว่า เหนียนเกา คำว่า “เกา” พ้องเสียงกับความหมายว่า “สูง” หมายถึง ธุรกิจก้าวหน้า การงานสูงส่งยิ่งขึ้นทุกปี อีกทั้งยังหมายถึงการศึกษาเล่าเรียนด้วย เหนียนเกา หรือ ขนมเข่ง ทำจากแป้งข้าวเหนียว น้ำตาล มีหลายสูตร จะใส่เกาลัด อินทผลัม เม็ดบัว ฯลฯ สูตรใครก็สูตรมัน เป็นขนมโชคดีปีใหม่ที่ทุกบ้านต้องกิน
บะหมี่ สื่อถึงความสุขและอายุมั่นขวัญยืน เป็น อาหารมงคล ที่คนจีนทุกที่นิยมกินในช่วงปีใหม่ เรียกว่า ฉางโซ่วเมี่ยน โดยจะสื่อถึงว่า ในตรุษจีนต้องกินบะหมี่ที่ยาว ๆ (ฉาง) สื่อความหมายว่าคนที่กินจะมีอายุยืน บะหมี่อายุยืนมีวิธีทำแตกต่างจากบะหมี่ทั่วไปคือ ไม่ตัดเส้น จะปรุงแบบต้มกินกับน้ำซุปหรือทำบะหมี่ผัดก็ได้
สารทจีน
วันสารทจีน หรือ เทศกาลสารทจีน ถือเป็นวันสำคัญที่ลูกหลานชาวจีนจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ พร้อมทั้งเป็นการไหว้เทพเจ้า สัมภเวสี และผีเร่ร่อน โดยมีพิธีเซ่นไหว้รวมถึงอาหารต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งก็ต้องมีความหมายที่ดีไม่แพ้เทศกาลอื่น ๆ เช่นเดียวกัน
ไก่ต้มทั้งตัว รวมเครื่องใน หมายถึง ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ความขยันขันแข็ง เหมือนไก่ที่ต้องลุกมาขันในทุก ๆ เช้า ไก่ที่นำมาไหว้จะต้องมีครบทุกส่วน ทั้ง หัว ปีก ตัว ขา รวมไปถึง ในส่วนของเครื่องใน หัวใจ กึ๋น ตับ ด้วย เพราะตับเปรียบเหมือนหมวกของขุนนาง แสดงถึงความมีอำนาจวาสนา และความอุดมสมบูรณ์ ควรเลือกไก่ตัวที่ปีกไม่หักและหนังสวยงามไม่ลอก จะเป็นมงคลที่สุดค่ะ
เป็ดต้มพะโล้ทั้งตัว รวมเครื่องใน หมายถึง ความสามารถที่หลากหลาย ความสมบูรณ์ ความสะอาด และความมั่งคั่ง ลูกหลานจะได้เก่งรอบด้าน เหมือนกับเป็ดที่อยู่ได้ทั้งบนบก และลอยน้ำได้ ในส่วนของเครื่องในจะให้ความหมายเหมือนกับไก่ค่ะ
ขาหมูพะโล้ หรือคากิ ขาหมูเปรียบเหมือนก้อนทอง มีความหมายถึงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ให้ลูกหลานมีเงินเหลือกินเหลือใช้
กุ้ง หมายถึง ชีวิตที่รุ่งเรืองรวมทั้งเป็นตัวแทนของความสุข และนอกจากนี้กุ้งลวกหรือกุ้งอบ ที่สุกแล้วจะมีสีแดง แสดงถึงความเฮง ๆ ปัง ๆ ของลูกหลานนั่นเองค่ะ
ปลา หมายถึง ให้ลูกหลานมีอันจะกิน ตามความเชื่อที่ว่าปลาเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ ความสง่างาม และความมั่งคั่ง ปลาที่นำมาใช้นิยมเป็นปลานึ่งทั้งตัว ไม่ขอดเกล็ด และยังไม่เอาเครื่องในออก
เชงเม้ง
ถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญมากที่สุดของของชาวจีน เนื่องจากเป็นประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยก่อน “วันเช็งเม้ง” จะมีการทำความสะอาดหลุมฝังศพของบรรพบุรุษ หลังจากนั้นในวันเช็งเม้งจะต้องนำ “ของไหว้เช็งเม้ง” มาเซ่นไหว้ที่หลุมฝังศพ เพื่อเป็นการ รำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ ซึ่งจะมีอาหารและเมนูมงคลต่าง ๆ ดังนี้
ไก่ต้ม, เนื้อหมูสามชั้นต้ม, เป็ด หรือปลา เป็นต้น หากไหว้ไก่หรือเป็ดควรเลือกแบบเต็มตัวตามความเชื่อดั้งเดิมว่า ควรให้มีปีก ขา และเครื่องในให้ครบ โดยการเซ่นไหว้บรรพบุรุษตามความเชื่อของชาวจีนควรเตรียมเนื้อสัตว์มงคลไหว้ทำพิธีด้วย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ค่ะ
ขนมหวาน เช่น ขนมอี๋ ที่หมายถึงความรักใคร่กลมเกลียว, ขนมถ้วยฟู ที่หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง, ขนมเปี๊ยะที่มีความหมายว่าความสุขตลอดปี และซาลาเปาก็เป็นขนมที่คนนิยมนำไปไหว้บรรพบุรุษ
ผลไม้ โดยเลือกไหว้ตามความสะดวกและกำลังทรัพย์ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมไหว้ส้ม, สับปะรด, องุ่น, แอปเปิล และสาลี่
ไหว้พระจันทร์
เทศกาลไหว้พระจันทร์ของทุกปี (วันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน) ทุก ๆ ครัวเรือนจะซื้อขนมไหว้พระจันทร์มาไหว้พระจันทร์ ซึ่งในสมัยก่อนขนมไหว้พระจันทร์ดังกล่าวนี้ไม่ได้มีไส้ด้านในมากมายนักค่ะ แต่ในปัจจุบันได้รับการปรับสูตร ปรับปรุงให้มีหลายไส้มากขึ้น เช่น
ไส้ไข่แดง สื่อ ความหมายมงคล ถึง ความอุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดความโชคดี
ไส้โหงวยิ้ง หรือ ธัญพืช เป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภ และความอุดมสมบูรณ์
ไส้ลูกพลัม หรือ ลูกพรุน เป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญและความหวัง
ไส้ทุเรียน สื่อ ความหมายมงคล ถึง ความฉลาดหลักแหลม เข้มแข็ง
เมนูมงคลและพลังงานแคลอรี่ที่ผู้บริโภคควรรู้
หลังเทศกาลตรุษจีนหรือเทศกาลใด ๆ ก็ตาม เวลาที่ทุกคนรอคอยก็มาถึงค่ะ นั่นคือการนำอาหารที่ไหว้นั้นมารับประทานต่อ เช่น เป็ด ไก่ หมู ที่ถูกนำมาประกอบอาหาร รวมถึงผักหรืออาหารไหว้ที่นำมาบริโภคต่อเพื่อความเป็นมงคลชีวิต ดังนั้น เรามาดูกันว่า แคลอรี่เนื้อสัตว์และอาหารแต่ละประเภท มีเท่าไหร่บ้าง
- ไก่ 1 ตัว 2,800 กิโลแคลอรี่
- เป็ด 1 ตัว 5,700 กิโลแคลอรี่
- หัวหมู 1 หัว 3,000 กิโลแคลอรี่
- กุ้ง 100 กรัม 99 กิโลแคลอรี่
- ปลา 100 กรัม 97 กิโลแคลอรี่
- หมี่ซั่ว 1 จาน 395 กิโลแคลอรี่
- สาหร่ายทะเลสีดำ 100 กรัม 43 กิโลแคลอรี่
- หน่อไม้ 100 กรัม 27.5 กิโลแคลอรี่
- เม็ดบัว 100 กรัม 89 กิโลแคลอรี่
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยยังไม่รวมอาหารในหมวดอื่น ๆ เช่น ของหวาน หรือ เมนูเส้นผัดอื่น ๆ ด้วยค่ะ
ประโยชน์-โทษของอาหารคอเลสเตอรอลสูง
คอเลสเตอรอล คือ สารประกอบไขมันชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกาย ร่างกายของเราต้องการคอเลสเตอรอลบางอย่างในการสร้างสุขภาพที่ดี เช่น เป็นสารตั้งต้นผลิตฮอร์โมนบางชนิด และเป็นองค์ประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ และหากร่างกายเรามีคอเลสเตอรอลมากเกินไป จากประโยชน์ก็อาจกลับกลายเป็นโทษร้ายได้เหมือนกันค่ะ ดังนั้นจึงควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวและผู้สูงอายุ
ใครบ้างที่ควรหลีกเลี่ยงอาหารไหว้คอเลสเตอรอลสูง
สำหรับผู้ที่ไม่เหมาะกับการกินอาหารไขมันสูงหรือมีคอเลสเตอรอลสูง สามารถแบ่งออกหลัก ๆ ได้ดังนี้ค่ะ
- ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเกาต์
- ผู้สูงอายุ
ในการรับประทานแต่ละครั้งนั้น ญาติ ๆ หรือผู้ดูแลควรระมัดระวังในเรื่องของปริมาณให้ดี ไม่ควรให้บุคคลในกลุ่มดังกล่าวกินเกินปริมาณที่ควรนะคะ
วิธีรับประทานอาหารไหว้อย่างปลอดภัย ห่างไกลคอเลสเตอรอล
- ควรรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม อย่าทานมากจนเกินปกติ เพราะจะทำให้เกิดโรคอ้วนตามมา
- เน้นรับประทานอาหารที่ไม่มีไขมันหรือไขมันน้อย เช่น เนื้อไก่ไม่ติดหนัง เนื้อปลา เนื้อกุ้ง ปลาหมึก เพราะจะช่วยเพิ่มไขมันดี และลดไขมันเลวได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเครื่องในสัตว์เพราะมียูริกสูง ซึ่งยิ่งจะส่งผลให้คนที่เป็นโรคเกาต์มีอาการรุนแรงขึ้นได้
- ควรปรุงอาหารด้วยหลักการลดหวาน มัน เค็ม เพราะอาหารตรุษจีนมักเป็นแบบคั่วเกลือหรือผัดมัน ๆ เทคนิคง่าย ๆ คือคั่วหรือผัดด้วยน้ำมันน้อย ๆ โดยใช้สมุนไพรลดไขมันอย่าง ขิง กระเทียม ขึ้นฉ่าย และก่อนการปรุงอาหาร ต้องล้างวัตถุดิบให้สะอาดทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ก็คือ การรับประทานอาหารในเทศกาลตรุษจีนอย่างถูกต้องและเหมาะสม ต้องไม่กินหวาน มัน เค็ม ซึ่งจะทำให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง จะได้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงรับปีใหม่ตามประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนด้วย
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเกาต์ ควรเลือกกินอาหารด้วยการต้ม อบ ยำ แทนการทอดหรือผัด เลี่ยงเนื้อสัตว์ติดหนัง ติดมัน หมูสามชั้นขนมหวานต่าง ๆ รวมถึงการจิ้มน้ำจิ้ม ซีอิ๊ว และน้ำปลา เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง และโรคไต ให้เลือกกินอาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย ในปริมาณเหมาะสม ดื่มน้ำเปล่าสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อสุขภาพที่ดี ช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
กินไข่ขาวทุกวันได้ไหม ดีต่อผู้ป่วยโรคไตจริงหรือไม่
กินไข่ทุกวัน เสี่ยงคอเลสเตอรอลสูงหรือไม่ ควรกินไข่วันละกี่ฟอง
แคลอรี่ไข่แต่ละชนิด เมนูไข่ต้ม ไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ออนเซ็น กี่แคลอรี่?