รู้หรือไม่ โรคเบาหวาน ถือเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทุกเพศ และทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กอ้วน ผู้ใหญ่อ้วน จะมีโอกาสเป็นเบาหวานได้สูง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นเบาหวาน จะพบบ่อยมากที่สุด ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ตัวเลขปี 2562 ประชากรชาวไทยวัยผู้ใหญ่ป่วยเป็นเบาหวานมากถึง 4.8 ล้านคน และมักเกิดภาวะโรคแทรกซ้อนเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมาจากวิถีชีวิตแบบเนือยนิ่ง โรคอ้วน และอายุที่มากขึ้น
อัตราการเสียชีวิตชาวไทยที่ป่วยเป็นเบาหวานมีมากถึง 200 รายต่อวัน คาดการณ์จะสูงมากขึ้นถึง 5.3 ล้านคนภายในปี 2583
ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาได้ไม่ดีพอ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคไต และการถูกตัดเท้า หรือ ขา !
ระบบร่างกายควบคุมน้ำตาลในเลือดได้อย่างไร ?
เป็นเรื่องปกติที่ภายหลังมื้ออาหาร ระดับน้ำตาลจะสูงขึ้น เมื่อน้ำตาลสูงขึ้น มันจะไปกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินเข้าสู่กระแสเลือด และนำน้ำตาลไปใช้เพื่อเผาผลาญให้เป็นพลังงาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง โดยจะเก็บสะสมในรูปไขมัน (หรือเรียกว่า ไตรกลีเซอไรด์) ที่เนื้อเยื่อไขมันตามใต้ผิวหนัง และหน้าท้อง ในกรณีที่ผู้อ่านบางท่าน ต้องการอดอาหารเพื่อรักษารูปร่างไม่ให้อ้วน ร่างกายเรานั้นก็สามารถสร้างน้ำตาลเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยที่คนปกติ มีน้ำตาลในเลือด (กลูโคส) หลังอดอาหารนานกว่า 8 ชั่วโมง มีค่าอยู่ที่ 60 – 110 มก./ดล
ทำไม เพศหญิง เป็นเบาหวานมากกว่าเพศชาย
เบาหวาน ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับที่ 9 ของผู้หญิงทั่วโลก (ข้อมูลจากสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ) เพราะไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป เอนจอยสนุกกับเมนูรสหวาน ไม่ว่าจะเป็น ชานมไข่มุก บิงซู ไอศกรีม เครื่องรสหวาน ขนมเค้ก และอีกมากมายอีกเพียบเอ่ยไม่หมดค่ะ ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลในปริมาณเกินความต้องการในแต่ละวัน
เบาหวาน เกิดจากสาเหตุอะไร ?
เกิดจากความผิดปกติในกระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ซึ่งเจ้าตัวอินซูลิน เป็นฮอร์โมนที่สร้างโดยตับอ่อน และมีหน้าที่ในการส่งต่อน้ำตาลในเลือด ไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายได้เพียงพอ และถ้าเกิดภาวะดื้ออินซูลิน จะทำให้ไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ทำให้เป็นเบาหวาน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดเบาหวาน มีอยู่ด้วยกันหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นเบาหวาน, ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย และภาวะความเครียดทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินไม่ดีนัก, อายุที่มากขึ้น ทำให้ตับอ่อนมีการสร้างอินซูลินน้อยลง หรือ การใช้ยาบางชนิด ในกรณีที่ใช้ยาไปนาน ๆ จะมีโอกาสเป็นเบาหวานได้ เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ ฯลฯ
จริงอยู่ เบาหวาน โดยเริ่มแรกๆ คนที่เป็นเบาหวาน แทบจะไม่รู้สึกตัว หรือ ทราบว่าตัวเองเป็นเบาหวาน หากไม่สังเกตให้ดี จะไม่ทราบเลยว่าตัวเองนั้นเป็นอยู่ ซึ่งกว่าจะมารู้ตัวอีกที อาการเริ่มรุนแรงขึ้น ต้องใช้เวลานานในการรักษา ต้องคอยหมั่นสังเกตตัวเองบ่อย ๆ ว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือไม่ ดังนี้ :-
-
หิวน้ำบ่อย
ต้องเข้าใจกลไกในร่างกายของเรา ในการเปลี่ยนน้ำตาล ในเลือดให้เป็นกลูโกส เพื่อใช้เป็นพลังงานให้กับเซลล์ต่าง ๆ ตรงจุดนี้เองคนเป็นเบาหวานจะผิดปกติ ทำให้ร่างกายแทบไม่สามารถนำน้ำตาลเลือดไปใช้ได้ จนเกิดการสะสมน้ำตาลในเลือด และถูกขับออกมาพร้อมปัสสาวะ ทีนี้ พอร่างกายขาดพลังงาน จึงทำให้ หิวบ่อย ร่างกายต้องการน้ำมากกว่าปกติ ผู้ป่วยจึงมีอาการหิวน้ำบ่อย และดื่มน้ำครั้งละมาก ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ปัสสาวะบ่อยด้วย
-
ปัสสาวะบ่อย
ความเด่นชัดของเบาหวาน ประการหนึ่งคือ ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาทำงานตอนกลางวัน หรือ ตอนกลางคืน และบางราย ปัสสาวะหนักมากช่วงตอนกลางคืน ทำให้ตื่นบ่อย หนักกว่านั้น ทำเอา นอนไม่หลับ แถมต้องลุกไปเข้าห้องน้ำปัสสาวะอีก ถึงแม้ว่า อาการปัสสาวะบ่อย มีด้วยกันอยู่หลายสาเหตุ จึงขอแนะนำให้สังเกตุที่ตัวปัสสาวะตัวเองว่า มีมดขึ้น ภายหลังปัสสาวะหรือไม่ ถ้ามี ควรรีบปรึกษาแพทย์
-
เหนื่อย เพลีย ง่าย
อาการอ่อนเพลียง่าย เหนื่อยง่าย และบางครั้งทำเอาน้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็วอย่างไร้สาเหตุ อย่าเพิ่งดีใจนะคะ ว่า ลดน้ำหนักเป็นผลสำเร็จแล้ว เพราะบางครั้งอาจไม่ใช่ การที่มีน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจำต้องพยายามช่วยสลายพลังงานออกมาจากไขมัน และกล้ามเนื้อที่มี เพื่อนำพลังงานมาใช้ นี้คือสาเหตุว่าทำไม น้ำหนักตัวลดฮวบ ภายใน 2-3 เดือน ทั้ง ๆ ที่ทานก็บ่อย ต้องสังเกตร่างกายตัวเราเองดี ดี นะคะ
-
แผลหายช้า
ข้อนี้ชัดเจน หลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า คนเป็นเบาหวาน บาดแผลจะหายช้ากว่าปกติ และอาจจะลุกลาม ติดเชื้อได้ง่าย จากบาดแผลเล็ก ๆ จะกลายเป็นบาดแผลใหญ่ เพราะติดเชื้อ จนเกิดโรคแทรกซ้อน ค่อนข้างพบบ่อย
-
ชา ตามปลายมือ ปลายเท้า
อาการชา คืออะไร ต้องบอกว่า อาการชา เป็นอาการผิดปกติของระบบประสาทรับความรู้สึก บางครั้งเกิดขึ้นตามอวัยวะบางส่วน หรือ ทุกส่วนของร่างกาย แต่ทั้งนี้ อาการชา ตามปลายมือ ปลายเท้า ของเบาหวาน จะเริ่มจากปลายนิ้วเท้าก่อน แล้วค่อยๆ เลื่อนขึ้นมาที่ปลายนิ้วมือ และอาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ทำไมเป็นเบาหวานแล้ว ต้องเสี่ยงถูกตัดขา ?
ถือเป็นประเด็นที่น่าใจทีเดียว แม้ว่า สถิติผู้ป่วยเบาหวานที่ถูกตัดขาในประเทศไทย ยังมีจำนวนน้อย แต่ก็เป็นปัญหาที่สร้างความวิตกกังวล เครียด กลัว ให้กับผู้ป่วยเบาหวานไม่น้อย อีกทั้ง ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นเบาหวานส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันดูแลตัวเขาเอง โดยเฉพาะเน้นในเรื่องการดูแลเท้า และรักษาแผลให้ถูกวิธี ทีนี้ เรามาเข้าประเด็นของการตัดขา ซึ่งสาเหตุของการตัดขาในผู้ป่วยเบาหวาน คือ อาการเท้าชา ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดตีบตันในขา ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงเท้าไม่พอ จึงทำให้เกิดบาดแผลเรื้อรัง เกิดการติดเชื้อบ้าง พอติดเชื้อ แผลก็จะเน่า ดังนั้น การดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวานจึงจำเป็นและสำคัญมาก เพื่อป้องกันการเกิดแผลซ้ำ ปัญหาอยู่ที่ว่า ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักถึงสัญญาณอันตรายนี้ !
รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
เล่าจากประสบการณ์เพื่อนรุ่นพี่ของผู้เขียนหลายท่าน ก็ป่วยเป็นเบาหวาน และคุมอาการอยู่ โดยการเพิ่มวินัยอย่างเคร่งครัด (มาก) ในการเลือกอาหารในการรับประทาน (กลัวตายมั้ง เพราะเคยมีระดับในน้ำตาลในเลือดมากถึง 200) เท่านั้นยังไม่พอ ยังเลือกการตัดรองเท้า ที่รองรับสรีระเท้าตัวเองมากกว่าซื้อรองเท้าทั่ว ๆ ไปใส่ ทราบหรือไม่ว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลแล้วหายกลับมาใส่รองเท้าปกติ มีโอกาสเป็นแผลซ้ำถึง 83% ซึ่งมีสถิติในไทยพบ 1 ใน 11 คนไทย เป็นเบาหวานมักมีปัญหาระบบปลายประสาทอักเสบ ทำให้เกิดแผลที่เท้า ติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ซึ่งเป็นความโชคดีว่า ปัจจุบันในประเทศไทยเรา มีคลินิกสุขภาพเท้าออกแบบมาสำหรับผู้ป่วยโดยเฉพาะ ผู้เขียนเคยเห็นคลินิกสุขภาพเท้าที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์ (สามารถทักมา อีเมล์ส่วนตัวได้ เพราะเพื่อนผู้เขียนใช้บริการตัดรองเท้าที่นี่หลายท่าน) ซึ่งถ้าได้สวมรองเท้าที่ได้รับการออกแบบมาเฉพาะ จะช่วยทำให้สุขภาพเท้าดีขึ้น และลดความเสี่ยงในการถูกตัดเท้าน้อยลงอีกด้วย
อีกแพทย์ท่านหนึ่งที่เชี่ยวชาญในเรื่องการดูแลสุขภาพเท้าคือ นพ.สิทธิ์พงษ์ มีภักดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเท้า Podatrist จากประเทศออสเตรเลีย ท่านได้กล่าวอย่างน่าสนใจผ่านสื่อกรุงเทพธุรกิจ เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “คนไทยที่ไปเรียนด้านเท้าที่ออสเตรเลีย ส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษา ก็จะตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเลย อาจจะด้วยเหตุผลเพราะว่าประเทศไทย ยังไม่เห็นความสำคัญเรื่องของเท้า ทั้ง ๆ ที่หากมอบในเรื่องของการตลาด ก็ยังมีแนวโน้มไปในทางดีอยู่ แต่จากการทำงานที่คลินิกสุขภาพเท้า เห็นได้ชัดเจนเลยว่า นวัตกรรมจะช่วยให้คนไข้ได้ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข” การได้รับการใส่รองเท้าสุขภาพที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ช่วยลดความเสี่ยงที่จะถูกตัดเท้าลงมา จากงานวิจัยของ King’s College ของประเทศอังกฤษ รายงานว่า ผู้ป่วยที่ใส่รองเท้าพิเศษสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน มีโอกาสเกิดแผลซ้ำเพียง 17% เท่านั้น
อ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นว่า ผู้ป่วยเบาหวาน จำเป็นต้องดูแลสุขภาพตัวเอง ด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และถ้าจำเป็นต้องใช้ยา ควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เพราะถ้าทานยาลดน้ำตาลมากเกินไป ก็อาจเกิด “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ” ได้ และควรควบคุมน้ำตาลในระดับที่ปลอดภัย เพื่อที่เราจะได้ใช้ชีวิตอยู่กับเบาหวานได้อย่างรื่นรมย์ และมีความสุข “เบาหวาน ป้องกันได้ ง่ายนิดเดียว” พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
……….
(เครดิต : ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง, นพ.สิทธิ์พงษ์ มีภักดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเท้า Podatrist จากประเทศออสเตรเลีย, www.healthline.com, www.site.google.com/site/diabetesinolder/, www.i-kinn.com)
บทความที่น่าสนใจ
ภัยใกล้ตัว น้ำตาลในเลือดสูง พุ่งสูงปรี๊ดด เหตุเพราะชานมไข่มุก !