กินไก่เป็นเก๊า วลีฮิตที่เรามักได้ยินเสมอในเวลาที่รับประทานเมนูไก่ โดยไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนของไก่ เมื่อเรากินเข้าไปมาก ๆ ก็มักจะต้องมีคนกล่าวประโยคนี้ขึ้นมาเสมอ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นคำที่ได้ยินกันจนหนาหูจนกลายมาเป็นความเชื่อผิด ๆ แต่ทุกคนทราบหรือไม่คะว่าความเชื่อดังกล่าวอาจไม่ได้เป็นจริงเสมอไป ดังนั้น ในบทความนี้ i-Kinn จึงนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกินไก่และการเป็นโรคเก๊าท์มาให้ได้อ่านกันค่ะ
กินไก่เป็นเก๊า จริงไหม ทำไมใคร ๆ จึงคิดว่ากินไก่มากต้องกลายเป็นโรคนี้
หลายคนอาจเคยได้ยินจากคำพูดที่ว่า “อย่ากินไก่เยอะ” ระวังจะเป็น “โรคเก๊าท์” แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้ว โรคเก๊าต์ ไม่ได้มีสาเหตุมาจากไก่…
โรคเก๊าท์ คือ โรคข้ออักเสบที่เกิดจากการมีกรดยูริกในเลือดสูง โดยกรดยูริกถูกสร้างมาจากสารพิวรีน ซึ่งปกติร่างกายสร้างขึ้นเองและได้มาจากอาหาร เมื่อผลึกของกรดยูริกตกตะกอนในน้ำไขข้อของกระดูกต่าง ๆ ซึ่งมักเป็นบริเวณ หัวแม่เท้า ข้อเท้า ทำให้เกิดอาการปวด ทั้งนี้โรคเก๊าท์ จัดเป็นหนึ่งในโรคแทรกซ้อนของโรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไต เป็นต้น
กินไก่เป็นโรคเก๊าท์จริงไหม
การรับประทานไก่ในปริมาณมากไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคเก๊าท์ เนื่องจากโรคนี้เกิดได้จากการสะสมกรดยูริกปริมาณมากในร่างกาย แน่นอนว่ากรดชนิดนี้ไม่ใช่กรดที่พบได้มากในไก่ เนื่องจากส่วนมากแล้วกรดยูริกจะถูกผลิตขึ้นจากร่างกายของเราเอง ประกอบกับมาจากอาหารที่เราทานด้วยส่วนหนึ่งแต่ไม่ได้มีผลมากเท่ากับกรดยูริกในร่างกายแต่อย่างใด
ถึงแม้ว่าการทานไก่จะไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคเก๊าท์ แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์อยู่แล้วการทานไก่ หรืออาหารที่มีโปรตีน และกรดยูริกสูงจะทำให้อาการกำเริบขึ้นมาได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์อยู่แล้วจึงควรหลีกเลี่ยงการทานไก่นั่นเอง
กรดยูริกในร่างกายเกิดจากอะไร
จากที่กล่าวไปแล้วว่ากรดยูริกในร่างกายปริมาณมากจะส่งผลเสียต่อร่างกายของเรา กรดยูริกนั้นเกิดจากกระบวนการย่อยสลายของเสียในกระบวนการสร้างเซลล์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และส่วนหนึ่งที่นับว่าเป็นส่วนน้อยเกิดจากการย่อยสารอาหารที่มีกรดยูริก และโปรตีนผสมอยู่ โดยกรดยูริกจะถูกขับออกจากร่างกายผ่านการขับถ่าย ซึ่งการสะสมที่เกิดขึ้นในร่างกายมักมาจากการที่ร่างกายมีการผลิตกรดยูริกมากเกินไป หรือไตทำหน้าที่ขับกรดยูริกได้น้อยกว่าปกติ
เป็นโรคเก๊าท์อันตรายไหม
ในระยะแรก ๆ ของโรค อาการข้ออักเสบของผู้ป่วยมักจะเป็นไม่บ่อย เป็นเพียงปีละ 1-2 ครั้ง แต่ถ้าปล่อยให้กรดยูริกในร่างกายสูงเป็นระยะเวลานาน และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะมีอาการข้ออักเสบเฉียบพลันกำเริบบ่อยขึ้น เป็นนานขึ้น หายช้าลง และจะเริ่มลามไปที่บริเวณข้อส่วนบนของร่างกาย เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก เป็นต้น และอาจจะมีอาการข้ออักเสบเกิดขึ้นพร้อมกันหลายข้อได้ด้วย
นอกจากนี้หากปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน จะทำให้มีการตกตะกอนของผลึกเกลือยูเรตตามเนื้อเยื่อต่างๆ ในระยะแรกผลึกจะสะสมในเยื่อบุข้อ และต่อมาจะสะสมบริเวณรอบ ๆ ข้อ รวมไปถึงใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดกลุ่มก้อนหรือปุ่มใต้ผิวหนัง เรียกว่าก้อนโทฟัส พบได้บ่อยที่นิ้วเท้า หลังเท้า ตาตุ่ม เอ็นร้อยหวาย ข้อศอก นิ้วมือ หลังมือ รวมไปถึงใบหู ซึ่งส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพ ในบางครั้งก้อนโทฟัสเหล่านี้อาจแตกออกมาเป็นผงคล้ายชอล์ก ทำให้เกิดแผลเรื้อรังตามมา เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้ นอกจากนี้ก้อนโทฟัสเหล่านี้ยังสามารถกัดกร่อนกระดูก ทำให้เกิดข้ออักเสบเรื้อรัง ส่งผลทำให้ข้อผิดรูป เกิดภาวะทุพพลภาพตามมา
นอกจากนี้การที่มีกรดยูริกสูงในร่างกายเป็นระยะเวลานาน จะเพิ่มโอกาสของการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้มากกว่าคนปกติทั่วไปด้วยค่ะ
อาหารอะไรบ้างที่ทำให้เกิดโรคเก๊าท์
อาหารที่เพิ่มความเสี่ยงล้วนแล้วแต่เป็นอาหารที่มีกรดยูริกสูงทั้งสิ้น และอาหารหลายชนิดอาจเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึงและทานเป็นปกติ ได้แก่
- อาหารทะเล เช่น ไข่ปลา กุ้ง และหอย เป็นต้น
- น้ำหวาน
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ถั่วบางชนิด เช่น ถั่วแดง ถั่วเขียว และถั่วเหลือง
- ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้ เห็ด และชะอม
- เครื่องในสัตว์ทุกชนิด
- เนื้อสัตว์สีแดง
มาถึงจุดนี้เราอาจสงสัยว่าอาหารที่มีกรดยูริกนั้นมีมากมายหลายชนิด จนยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นเราจึงยังต้องเน้นคำเดิมว่า “กรดยูริกจากอาหารถือเป็นยูริกส่วนน้อยในร่างกาย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดและหลีกเลี่ยงมากเกินความจำเป็น สามารถทานได้แต่พอเหมาะ”
วิธีป้องกันตนเองให้หนีห่างโรคเก๊าท์
การป้องกันโรคข้อชนิดนี้ทำได้ยากเนื่องจากเราอาจไม่สามารถควบคุมกรดยูริกในร่างกายของเราได้โดยตรง เราจึงต้องควบคุมเฉพาะในจุดที่เราสามารถทำได้ ได้แก่
- ไม่ทานอาหารที่มีกรดยูริกในปริมาณมากในทุก ๆ วัน
- ดูแลร่างกายไม่ให้น้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ และน้ำอัดลม
ท้ายที่สุด การทานไก่ “ไม่ใช่สาเหตุของโรคเก๊าท์” แต่ไก่เป็นอันตรายสำหรับผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์อยู่แล้ว อันตรายจากโรคนี้ที่ส่งผลต่อข้อทั้งอาการปวด การติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ การระมัดระวังตนเองในชีวิตประจำวัน และคอยสังเกตอาการของตนเองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่เราควรทำค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
โรคเก๊าท์ คืออะไร? ทำไมห้ามกินไก่ ยอดผัก ของแสลง
กินไก่เยอะ ทำให้เป็นโรคเก๊าต์ กินแล้วปวดขา ปวดเข่าจริงมั้ย?
ทานเครื่องในไก่ เครื่องในสัตว์มากไป อาจเสี่ยงไขมันในเลือดสูง