ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โรคกระดูกพรุน เป็นโรคกระดูกชนิดหนึ่งที่มีการสลายของเนื้อกระดูกอย่างต่อเนื่อง ความหนาแน่นของกระดูกลดน้อยลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักและเปราะได้ง่าย ซึ่งถือเป็นความเสื่อมสภาพของร่างกายที่เป็นไปตามวัยที่มากขึ้น
ผู้สูงอายุ กับโรคกระดูกพรุน
สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว เมื่อเข้าพวกเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะเห็นว่าโรคกระดูกพรุนจัดอยู่ในโรคที่พบบ่อยมาก มักเกิดกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน และผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป โดยเกิดจากร่างกายมีความหนาแน่นและมวลกระดูกลดน้อยลง จนทำให้กระดูกเปราะบาง เสื่อม และแตกหักง่าย และถ้าผู้อ่านท่านใดอาศัยร่วมกับผู้สูงอายุอยู่ด้วย จะสังเกตว่า ถ้ามีการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ บริเวณการหักของกระดูกที่พบบ่อย คือ สะโพก ข้อมือ และสันหลัง ถือเป้นภาวะที่มีอันตรายสูง ภาวะกระดูกหักในผู้สูงอายุ จึงรักษาค่อนข้างยาก เพราะกระดูกหักในผู้สูงอายุ จะติดช้า และเกิดภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างมาก และบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน
- เพศ เกิดขึ้นในผู้หญิงมากว่าผู้ชาย ผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจนก็ลดลง ทำใหเนื้อกระดูกลดลงตามไปด้วย
- อายุที่มากขึ้น ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ทั้งหญิงและชาย เซลล์สร้างกระดูกมีจำนวนลดลงไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้กระดูกบาง และพรุน
- กรรมพันธุ์ ถ้าหากมีญาติใกล้ชิดทางสายเลือดมีประวัติป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน เราก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับโรคดังกล่าวด้วย
- การใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากันชักบางชนิด หากจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้เป็นเวลานาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- ขาดการออกกำลังกาย หากเป็นคนไม่ชอบออกกำลังกาย เซลล์สลายกระดูกก็เพิ่มจำนวนและทำงานมากขึ้น
เมื่อเราทราบที่มาของโรคกระดูกพรุนแล้ว ทีนี้ ผู้เขียนจะพามาดูอาหาร ว่าเราควรเลี่ยงอาหารอะไรบ้างที่ทำให้สุขภาพเราเสื่อมลง นำมามาด้วยโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง และแน่นอนเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เรามาดูกันค่ะ :-
6 อาหารควรเลี่ยง เพราะเพิ่มความเสี่ยงทำให้โรคกระดูกพรุน
-
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผู้อ่านทราบกันดีอยู่แล้วว่า การดื่มแอลกอฮอล์จะกระตุ้นให้ตับไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น 4 เท่า และทุกครั้งที่เราดื่มแอลกอฮอล์ สมดุลแคลเซียมในร่างกายจะถูกรบกวน ระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์จะสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลสืบเนื่องให้ร่างกายมีการสลายแคลเซียมออกจากกระดูก ยิ่งไปกว่านั้น การดื่มแอลกอฮอล์ยังไปขัดขวางกระบวนการสร้างวิตามินดีในร่างกายอีกด้วย ซึ่งวิตามินดี เป็นวิตามินที่มีบทบาทสำคัญต่อความแข็งแรงของกระดูกมาก และเป็นวิตามินที่ช่วยทำหน้าที่ในการดูดซึมแคลเซียาออกจากอาหาร หรืออาหารเสริม เข้าสู่ร่างกาย
-
โปรตีนจากสัตว์ทุกชนิด
นึกภาพ เนื้อสัตว์ของโปรดของใครหลายคน เนื้อวัว หมู เป็ด ไก่ ปลา ผลิตภัณฑ์จากนม ไม่ว่าจะเป็นนมแพะ นมวัว นมเปรี้ยว โยเกิร์ต หรือแม้กระทั่งไข่เป็ด ไข่ไก่ ไข่นกกระทา หลังจากที่เรารับประทานอาหารประเภทนี้เข้าสู่ร่างกายแล้ว ร่างกายจำเป็นต้องดึงแคลเซียมจากเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งกระดูก เพื่อใช้ในการปรับค่าความเป็นกรดด่างของเลือดให้อยู่ในภาวะที่สมดุล เพราะว่าเนื้อสัตว์เป็น Acidic forming คือทานเข้าไปแล้ว ย่อย เผาผลาญ และดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ร่างกายแล้ว ผลที่ได้สุดท้าย จะทำให้เลือดมีความเป็นกรดมากขึ้น หรือมีความเป็นด่าง น้อยลงนั่นเอง
-
น้ำอัดลม
ถือเป็นเครื่องดื่มที่ชื่นชอบของหลายท่าน น้ำอัดลมมีส่วนประกอบหลังของกรดฟอสฟอริก เพื่อให้มีรสเปรี้ยว และมีความซ่าเวลาดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน้ำอัดลมที่เป็นสีดำ ซึ่งมีการเติมสารเคมีชนิดนี้อย่างแน่นอน ในส่วนน้ำอัดลม นอกจากมีกรดฟอสฟอริกแล้ว ยังมีน้ำตาลจำนวนมาก ซึ่งไม่มีส่วนไหนมีประโยชน์ต่อร่างกายเลย และแน่นอน ทุกครั้งที่เราดื่มน้ำอัดลม เราจะสูญเสียมวลกระดูกจากกรดฟอสฟอริกและคาเฟอีนเป็นหลัก น้ำตาลที่ทำให้ตับอ่อนต้องทำงานหนักขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน กลิ่น สี ที่ไตต้องทำงานหนักเพื่อขับออกมา ฉะนั้นไม่ควรดื่มบริโภคมากเกินไป
-
น้ำตาล
การกินน้ำตาลมากเกินไป จะทำเกิดการขัดขวางแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย แคลเซียมที่ควรได้จากอาหารแบบเต็มที่ ก็ได้น้อยลง ส่งผลให้ฮอร์โมนคอรติซอลสูงขึ้น คอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด ความกดดัน เพราะจะหลั่งออกมาเมื่อคนเราเครียด ถ้าเรากินน้ำตาลมากเกินไป ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง เพราะคอร์ติซอล จะไปยับยั้งกระบวนการสร้างกระดูก ทำให้กระบวนการสร้างกระดูกในร่างกายน้อยลง แต่จะไปเพิ่มกระบวนการสลายกระดูกเพิ่มขึ้น
-
อาหารที่มีเกลือสูง
ด้วยภาวะเร่งรีบ ทำให้เราเผลอทาน อาหารฟาสฟู้ด บ่อยขึ้น อาหารฟาสฟู้ด จัดเป็นอาหารที่มีปริมาณเกลือค่อนข้างสูง (เฟรนด์ฟราย ไก่ทอด ฯลฯ) เกลือเป็นสารที่ใช้ในอาหารแทบทุกชนิด มีชื่อทางเคมีว่า โซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride) ผู้อ่านหลายท่านเคยได้ยินผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพออกมาเตือนว่า ให้หลีกเลี่ยงทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ซึ่งก็หมายถึงให้หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม นั่นเอง และทุกครั้งที่เราทานเค็มมากเกินไป นอกจากไต จะขับโซเดียมส่วนเกินออกมาทางปัสสาวะแล้ว สิ่งที่ไต จะขับออกมาพร้อมกันด้วยคือ แคลเซียม หากเรายังทานเค็มแบบต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ และร่างกายไม่ได้รับแคลเซียมชดเชยที่เพียงพอ ร่างกายก็จะอยู่ในภาวะขาดแคลเซียมสะสมไปเรื่อย ๆ จนถึงขั้นเป็นโรคกระดูกบาง และสุดท้ายเป็นโรคกระดูกพรุนได้
-
กาแฟ
โทษของกาแฟที่เห็นได้ชัดคือ ทุกครั้งที่เราดื่มกาแฟ บริโภคคาเฟอีนเข้าไป ร่างกายจะมีการสูญเสียแคลเซียมผ่านทางปัสสาวะ หลังจากที่เราดื่มกาแฟแล้ว โดยคาเฟอีนในกาแฟจะทำให้เกิดกลไก ดังนี้ คือ ขัดขวางการสร้างมวลกระดูกใหม่ ลดความหนาแน่นของมวลกระดูก ยิ่งดื่มกาแฟมาก ยิ่งสูญเสียแคลเซียมจากร่างกายมาก จากผลงานวิจัยแนะนำให้ดื่มกาแฟ ได้ไม่เกินวันละ 2 แก้ว ดังนั้น ผู้ที่ดื่กาแฟเป็นประจำทุกวัน แน่นอน เราต้องมีการสูญเสียมวลกระดูกสะสม หากไม่ได้ทานอาหารชดเชยสารอาหาร และแคลเซียมที่มากพอ ก็อาจจะส่งผลให้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนได้
จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนอยู่ก่อนแล้ว ควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ และควรเน้นการทานอาหารให้ถูกสัดส่วน และอาหารที่รับประทาน ควรเป็นอาหารสด หรือ อาหารที่ปรุงแต่งน้อยจะปลอดภัยและดีสุดสำหรับร่างกาย และผู้ที่ยังไม่เป็นโรคกระดูกพรุน ก็พยายามเลี่ยง หรือทานให้น้อยลง จะดีต่อร่างกาย พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
………………………………………..
(เครดิต : boneandjointnopain.com, osteoporosis – diagnosis and treatment, www.mayoclinic.org, osteoporosis : risk factors, diagnosis, and treatment-medical,www.medicalnewstoday.com, www.i-kinn.com)
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เห็ดหลินจือ ประโยชน์มากมาย สรรพคุณทางยามาก วงการแพทย์ยอมรับ