สถิติโรคฮิตของคนไทยติดอันดับหนึ่งมาหลายปีซ้อน หนีไม่พ้น คือ โรคเบาหวาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกันเยอะมากที่สุด ตามมาด้วย ไขมันในเลือดสูง ที่คนไทยเป็นกันเยอะเช่นกัน ด้วยพฤติกรรมของการทานอาหารฟาสฟู้ด อาหารจานด่วน ฯลฯ แม้เราจะเลือกทานอาหารที่ไม่หวานจัด หรือมีไขมันเยิ้ม แม้กระทั่งอาหารเค็มจัด ก็ควรเลี่ยงด้วยเช่นกัน อย่างที่มีคำกล่าว “กินเค็ม ระวังเป็นโรคไต” ประโยคนี้หลายคนมักใช้เตือนคนที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็ม ทราบหรือไม่ว่า คนไทย ป่วยด้วยโรคไต มากถึง 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ระยะสุดท้ายกว่า 100,000 คน ที่ต้องได้รับการฟอกเลือดหรือล้างไต และที่สำคัญมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่องร้อยละ 15 -20 ต่อปี โรคไต ไม่ได้โจมตีแต่ผู้ที่นิยมทานรสเค็มเท่านั้น เพราะโรคนี้สามารถเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่มาจากการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งส่งผลโดยตรงให้เราเป็นโรคร้ายนี้ได้เช่นกัน ดังนั้น เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้นดีกว่า
ทำความรู้จัก “ไต”
ไต เป็นอวัยวะที่สำคัญมากกับร่างกาย ทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย ดังนั้นการดูแล ไต จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องให้ความสำคัญ เพื่อที่ ไต จะได้คงสภาพการทำงานต่อไปได้ หาก ไต มีปัญหา จะทำให้ประสิทธิภาพในการขับของเสียลดลง ทำให้เกิดอาการตัวบวม และในที่สุด จะเกิดอาการไตวาย หรือ ภาวะไตล้มเหลวได้
“ไต” ทำหน้าที่อะไร ?
อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ไตมีหน้าที่กำจัดของเสีย ควบคุมความเป็น กรด ด่าง ในกระแสเลือด ควบคุมความสมดุลของเกลือแร่ และควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายอีกด้วย ดังนั้น เมื่อไต ทำงานผิดปกติ หรือ ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดภาวะเลือดจาง และขาดวิตามินได้ โดยโรคร้ายนี้มีอยู่หลายชนิด เช่น กรวยไตอักเสบ ไตอักเสบ นิ่วในไต ไตเรื้อรัง และ ไตวาย
ภาวะข้างเคียงจากโรคอื่น ทำให้เกิด โรคไตเรื้อรัง ได้ ?
หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าเลี่ยงทานเค็ม จะรอดพ้นจากโรคไต เป็นแน่แท้ แต่ในความเป็นจริง ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น :-
- จากพันธุกรรม โดยอาจเป็นมาตั้งแต่เกิด หรือ ค่อย ๆ แสดงอาการในภายหลัง
- เกิดจากโรคอื่นที่มีผลกระทบต่อ ไต เช่น ความดันสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
- การกินอาหารที่มีรสเค็ม รวมไปถึงรสหวานจัด หรือ เผ็ดจัด ด้วยเช่นกัน
- ดื่มน้ำน้อยเกินไป (ในแต่ละวัน)
- ไม่ออกกำลังกาย
- มีความเครียด
โซเดียมสูง เสี่ยงต่อโรค ไต
โซเดียม คือ เกลือแร่ชนิดหนึ่ง ที่มีสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมาก อาจจะทำให้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไต เพราะปริมาณโซเดียม ที่มาก จะทำให้ไต ไม่สามารถขับโซเดียมออกไปจนเกิดการสะสมไว้ในเลือด เมื่อมีโซเดียมมาก ไต ก็จะยิ่งทำงานหนัก ผลที่ตามมาคือ ในหน่วยไต จะเกิดความดันสูงขึ้น จนเกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และนำพาไปสู่ภาวะไตเสื่อมในที่สุด ดังนั้น ควรเลี่ยงอาหารที่โซเดียมสูง เช่น กลุ่มเครื่องปรุงรส ซอสพริม ซอสมะเขือเทศ น้ำจิ้มสุกี้ , กลุ่มอาหารแปรรูป เช่น เบคอน แฮม ผักกาดดอง ผลไม้กระป๋อง และไข่เค็ม ฯลฯ
ปริมาณโซเดียมที่เราไม่ควรทานเกินในแต่ละวัน
คนปกติ ไม่ควรทานโซเดียมเกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม
หากเป็นผู้ป่วยความดันเลือดสูง ไม่ควรทานโซเดียมเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไต ไม่ควรทานโซเดียมเกินวันละ 1,000 – 1,500 มิลลิกรัม
ผู้ป่วยโรคไตขั้นวิกฤต ไม่ควรทานโซเดียมเกินวันละ 500 มิลลิกรัม
ตัวอย่างปริมาณโซเดียม ในอาหารแต่ละชนิด
- บะหมี่น้ำหมูแดง 1 ชาม 1,450 มิลลิกรัม
- ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว 1 จาน 1,352 มิลลิกรัม
- ปลาสลิดเค็ม 1 ตัว 1,288 มิลลิกรัม
- ส้มตำอีสาน 1 จาน 1,006 มิลลิกรัม
- ผัดผักบุ้งไฟแดง 1 จาน 894 มิลลิกรัม
- ข้าวผัดไข่หมู 1 จาน 416 มิลลิกรัม
(และปริมาณของโซเดียมจะเพิ่มขึ้นอก หากเราปรุงรสด้วยเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสมะเขือเทศ และเครื่องปรุงรสเค็ม อื่น ๆ เพิ่ม)
อันตรายจากซุปก้อน ซุปผง ซุปสำเร็จรูป อร่อยได้ง่าย ๆ แต่เสี่ยงไตพัง
สารกลูตาเมตในผัก วัตถุดิบธรรมชาติ ผักที่ใช้ทดแทนผงชูรส มีอะไรบ้าง
แล้วภาวะไตเรื้อรัง มีกี่ระยะ ?
ได้ยินมาเยอะว่า เป็นโรคไต ระยะ 1 บ้าง ระยะ 2 บ้าง ทราบไหมค่ะว่า โรคไต มีกี่ระยะ และมีวิธีการรักษาในแต่ละระยะเป็นอย่างไร ?
การแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรัง
- แบ่งระยะของโรคไต ตามสาเหตุ และตามโรคร่วม เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง โรคพันธุกรรม โรคที่เกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม และโครงสร้างทางกายวิภาคของไต
- แบ่งระยะตามระดับอัตราการกรองของไต หรือ eGFR (Estimate glomerular filtration rate)
โดยเราจะแบ่งโรคไตเรื้อรัง ออกเป็น 5 ระยะ ดังนี้ :-
- ระยะที่ 1 หรือค่า eGFR มากกว่า 90% เป็นระยะที่อยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงต่ำ
- ระยะที่ 2 หรือค่า eGFR อยู่ในช่วงระยะ 60-80% เป็นระยะที่เราจะเริ่มประเมินและชะลอการเสื่อมของโรคไตเรื้อรัง
- ระยะที่ 3 หรือค่า eGFR อยู่ในช่วงระยะ 30-60% เป็นระยะที่แพทย์จะเพิ่มการดูแลภาวะแทรกซ้อนของไต และต้องระวังในเรื่องของโรคหัวใจ ที่จะเป็นภาวะแทรกซ้อน และทำให้ผู้ป่วยโรคไต เสียชีวิตได้มาก
- ระยะที่ 4 หรือค่า eGFR น้อยกว่า 30% เราจะต้องเริ่มคุยกันเรื่องการทำบำบัดทดแทนไต เพราะการฟอกไต ไม่ว่าจะฟอกด้วยเครื่องฟอกไตเทียม การฟอกไตทางหน้าท้อง หรือ การปลูกถ่ายไต
- ระยะที่ 5 เมื่อค่า eGFR น้อยกว่า 15% แพทย์จะเริ่มการบำบัดทดแทนไต ตามที่ได้ปรึกษากนแล้วก่อนหน้านี้ โดยเริ่มการบำบัดทดแทนไต ในเวลาที่เหมาะสม
10 อาการโรคไตเรื้อรัง ระยะเริ่มต้น
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไต ในช่วงแรกอาจไม่แสดงอาการแต่อย่างใด โดยอาการมักจะปรากฏในช่วงระยะท้าย ๆ เนื่องจากได้รับความเสียหายไปมากแล้ว ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไต มักจะมีอาการดังต่อไปนี้ :-
- ปัสสาวะเป็นเลือด ปกติแล้วปัสสาวะ จะมีสีเหลืองอ่อน จนถึงสีเหลืองเข้ม ขึ้นอยู่กับปริมาณการดื่มน้ำในขณะนั้น แต่ถ้าพบว่าปัสสาวะมีเลือดปน อาจจะเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรืออาจเกิดเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
- ปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ ผู้ที่ไตผิดปกติ เช่น โรคไตเรื้อรัง ไต จะไม่สามารถดูดน้ำกลับเก็บในกระเพาะปัสสาวะได้ปกติ จึงทำให้ต้องปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
- มีอาการบวมของหน้า และเท้า
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ขาดสมาธิ
- บางรายน้ำหนักลดลง แต่ผู้ป่วยบางรายตัวบวม น้ำหนักขึ้นได้
- คลำพบก้อนเนื้อบริเวณไต
- ผิวหนังจะซีด คัน มีจ้ำเลือดขึ้นง่าย
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้
- ปากขม ไม่สามารถรับรสอาหารได้
หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคอย่างละเอียด
ความดันเลือดสูง เสี่ยงโรคไตเรื้อรัง
หลายคนอาจสงสัยว่า มันเกี่ยวกันด้วยหรือ ? ด้วยความดันเลือดสูง ทำให้หัวใจทำงานหนัก และในระยะยาวทำให้เส้นเลือดเสื่อมทั่วร่างกาย (อันตรายมาก) ได้แก่ โรคเส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมองและเส้นเลือดที่ไตเสื่อม ทำให้มีโปรตีนในเลือดรั่วออกมาในปัสสาวะ ซึ่งตรวจพบได้โดยการตรวจปัสสาวะ ส่วนการเปลี่ยนแปลงของไต ในระยะท้าย จะทำให้ไต เสื่อมลง ไตขับเกลือแร่และของเสียนลดลง สารเกลือแร่ ที่คั่งจะยิ่งทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นไปอีก และทำลายไตมากขึ้นเป็นวัฏจักร
การรักษาภาวะไตเรื้อรัง
- รักษาตามอาการ เช่นการกินยา และควบคุมความดันเลือดให้เหมาะสม ลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ และเลี่ยงยาบางชนิด
- รักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต ใช้รักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เพื่อช่วยขจัดของเสียทดแทนไตที่เสียไป สามารถทำได้ 3 วิธี
- การฟอกเลือด เพื่อทำให้เลือดสะอดา โดยใช้ระยะเวฃา 4-5 ชั่วโมง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
- การฟอกไตผ่านทางช่องท้อง อาศัยช่องท้องในการฟอกเลือด โดยจะฟอกวันละ 4 รอบ
- การปลูกถ่ายไต โดยการนำไต จากผู้บริจาคใส่เชิงกรานของผู้รับไต
ไต เป็นอวัยวะที่ต้องทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด เราจึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพ ไต ด้วยการลดเลี่ยงพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยง พร้อมอย่าลืมตรวจสุขภาพไต เพื่อเช็คการทำงานว่ายังปกติอยู่ เพราะหากปล่อยละเลยจนไตเสื่อม ก็อาจสายเกินกว่าจะกลับมาฟื้นฟูได้ทัน พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
……………………………………
(เครดิต : Salt (Sodium) and your kidney fact sheet, www.kidney.org.au, Can kidney patients eat salt, www.actionsalt.org.uk, www.princsuvarnabhumi.com, www.sikarin.com/health.com, www.i-kinn.com,