ตำนาน “ผู้หญิง” MK
มีคนบอกว่าความสำเร็จของ “ผู้ชาย” คนหนึ่ง มักมี “ผู้หญิง” อยู่เบื้องหลังเสมอ!
ตำนาน “เอ็มเค สุกี้” ก็ยืนยันถึงสัจธรรมข้อนี้ ผมเพิ่งอ่านบทสัมภาษณ์คุณ “ยุพิน ธีระโกเมน” จบครับ ตอนที่ “อู” สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการบอกว่า นิตยสาร “พลอยแกมเพชร” มีบทสัมภาษณ์ของผู้บริหาร “เอ็มเค สุกี้” ผมเป็นคนที่ติดตามและเก็บข้อมูลของ “ฤทธิ์ ธีระโกเมน” และ “เอ็มเค สุกี้” มาโดยตลอด และชอบวิธีคิดและวิธีการจัดการของ “ฤทธิ์” เป็นนักธุรกิจคนหนึ่งที่ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องสัมภาษณ์ให้ได้ พอรู้ว่ามีบทสัมภาษณ์ใน “พลอยแกมเพชร” ผมจึงรีบไล่ล่าทันที คิดว่าเป็น “ฤทธิ์ ” แต่พอเปิดอ่านก็ต้องแปลกใจ เพราะเป็นบทสัมภาษณ์ “ยุพิน” คุณ “ยุพิน” เป็นภรรยาของ “ฤทธิ์” ครับ ดูเหมือนว่าครั้งนี้ “ฤทธิ์” ตั้งใจจะเปิดตัว “ยุพิน” ให้ “ยุพิน” สัมภาษณ์เป็นหลัก เขาเป็นคนคอยเสริมบท
เริ่มต้น “เอ็มเค สุกี้”
“เอ็มเค สุกี้” เริ่มต้นมาจากร้าน “เอ็มเค” ที่สยามสแควร์ คุณแม่ทองคำ เมฆโต แม่ของ “ยุพิน” เป็นผู้บุกเบิก แต่ผมเพิ่งรู้ว่า เจ้าของร้านเอ็มเค เป็นผู้หญิงชาวฮ่องกง ชื่อว่า “มาคอง คิงยี” คุณ “มาคอง คิงยี” อยู่บ้านติดกับคุณแม่ทองคำ เธอเป็นคนรวยมาก ส่วนคุณแม่ทองคำเป็น “แม่บ้าน” ทำอาหารเก่ง วันหนึ่ง “มาคอง คิงยี” อยากเปิดร้านอาหารที่สยามสแควร์ ก็เลยชวนคุณแม่ทองคำมาเป็น “แม่ครัว” ชื่อร้าน “เอ็มเค” ก็ย่อมาจากชื่อ “มาคอง ” ทำอยู่พักหนึ่งก็เบื่อ เพราะลูกค้าเริ่มจู้จี้จุกจิก สุดท้ายก็เลิกทำ และยกให้คุณแม่ทองคำ ทำต่อไป โดยให้ทยอยผ่อนชำระไปเรื่อยๆ
จาก “ลูกค้า” ก่อนแปรมาเป็น “ลูกเขย”
ภายหลังคุณนายมาคองย้ายไปปักหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ส่วนคุณแม่ทองคำก็บุกเบิกร้านเอ็มเคจนประสบความสำเร็จ เด็กจุฬาฯ รุ่นนั้น คุ้นเคยกับคุณแม่ทองดำเป็นอย่างดี
“คุณแม่ถือเป็นคนเกื้อกูลและเอื้ออารีแบบคนโบราณ เราติดแม่เขา ติดเจ้าของ เจ้าของไม่คิดเล็กคิดน้อยกับลูกค้า ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ใช่คนที่เขารู้จักมาก่อน” คุณ “ฤทธิ์” อธิบายในฐานะ “ลูกค้า” ก่อนจะแปรมาเป็น “ลูกเขย” จากร้านเอ็มเคที่สยามสแควร์ ขยายเป็น “กรีนเอ็มเค” ที่ “เซ็นทรัล ลาดพร้าว” และ “เอ็มเค สุกี้” ในที่สุด ขยายสาขาไปทั่วประเทศ! คนทุกระดับได้มานอาหารจาก “เอ็มเค สุกี้” ถ้วนหน้า
ตํานาน “เอ็มเคสุกี้” มาจาก
“ผู้หญิง” 2 คนครับ
ตอนที่ “ฤทธิ์-ยุพิน” บุกเบิกร้าน “กรีนเอ็มเค” ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ร้านนี้ขายอาหารไทยเหมือนกับร้าน “เอ็มเค” ที่สยามสแควร์ “ยุพิน” เป็นคนขยันเหมือนแม่ ตื่นเเต่เช้ามืด ตีห้าจะออกจากบ้าน เข้าร้านตั้งแต่เช้าตรู่ “สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์” พักอยู่ที่ “เซ็นทรัล” เขาตื่นเช้ามาออกกำลังกายทุกวัน และเจอ “ยุพิน” เป็นประจำ เขาถามว่า “มาทำอะไรตั้งแต่เช้า” เธอตอบว่ามาเตรียมตัวเปิดร้าน “สัมฤทธิ์” คงเห็นความขยันของ “ยุพิน” วันหนึ่ง เขาจึงบอกว่าจะให้ทำร้านสุกี้ที่ชั้นล่าง พื้นที่ 1,000 ตารางเมตร สนใจไหม? “ยุพิน” ปฏิเสธทันที “หนูไม่มีเงินค่ะ” “สัมฤทธิ์” บอกว่าเธอไม่ต้องทำอะไร “เดี๋ยวฉันจะทำให้หมด” เงินที่ใช้ในการลงทุนตกแต่งร้าน “เอ็มเค สุกี้” สาขาแรกเป็นเงินประมาณ 20 ล้านบาท “สัมฤทธิ์” ควักให้เลย แต่ถึงกระนั้น การทำร้านสุกี้ขนาดใหญ่ก็ต้องใช้เงินลงทุนสูง และมีความเสี่ยง เพราะเป็น “สินค้า” ที่ “ฤทธิ์-ยุพิน” ไม่มีประสบการณ์มาก่อน วันที่ “ยุพิน” นำเรื่องนี้มาเล่าให้ที่บ้านฟัง คุณแม่ทองคำเปรี้ยงทันที “ทำไปเลยลูก เดี๋ยวแม่จะช่วยเอง” วันนั้น “ฤทธิ์” ไม่เห็นด้วย พ่อของ “ยุพิน” ก็ไม่เห็นด้วย น้องชายของ “ยุพิน” ก็ไม่เห็นด้วย “ผู้ชาย” ในบ้านทุกคน ไม่เห็นด้วย มีคนที่เห็นด้วยเพียง 2 คน คือ “ยุพิน” และคุณแม่ทองคำ “ผู้หญิง” ทั้งคู่ สังเกตไหมครับ ว่า “ผู้ชาย” ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในบ้าน “ไม่เห็นด้วย” “ผู้หญิง” ที่เป็นเสียงส่วนน้อย “เห็นด้วย” แต่ร้าน “เอ็มเค สุกี้” ก็กำเนิดขึ้นมา เป็นคำตอบชัดเจนว่า “ใครใหญ่”
เจ้าของก็เป็น “ลูกค้าคนหนึ่ง”
ร้านเอ็มเคสุกี้มีหลักคิดหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนทำร้านอาหาร คือ “เจ้าของ” ก็เป็นลูกค้าคนหนึ่ง กินอะไรที่ร้าน ต้องจ่าย “ยุพิน” เป็นคนวางกฎนี้เอง เพราะแต่ละคนก็มีน้อง มีเพื่อน มีน้องเพื่อน ลูกเพื่อน ถ้าไม่กำหนดหลักการไว้จะลำบากในการดูแล วันแรกที่เปิดร้าน พ่อของ “ยุพิน” พาเพื่อนไปเลี้ยง แต่ต้องจ่ายตังค์ เขาโมโหมาก เพราะเสียหน้า แต่ตอนหลังก็เข้าใจว่าทำไมต้องใช้กติกานี้ ตอนนี้ถ้าลูกสาวพาเพื่อนไปเลี้ยง คุณยุพินก็จะโอนเงินไปจ่ายที่ร้าน กลายเป็นกติกาที่รู้กันใน “เอ็มเค สุกี้”
ทำงานด้วย “ใจ” สำคัญที่สุด
ผมชอบคำสอนของคุณแม่ทองคำ ตอนเริ่มต้น “เอ็มเค สุกี้” เธอสอนลูกสาวและลูกเขยว่า เมื่อได้อะไรมาก็แล้วแต่ ให้ทำให้ดีที่สุด “และถ้ามีอะไรผิดพลาด ให้ถือว่าเราไม่ได้เจตนา มันเกิดขึ้นมาด้วยความไม่ตั้งใจ”
เพราะการทำงานนั้น “ใจ” ของเราสำคัญที่สุด
ครับ การเริ่มต้นงานใหม่ “กำลังใจ” เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้ามัวแต่มองความผิดพลาดและโทษตัวเอง เราจะหมดกำลังใจ ต้องถือหลักว่าถ้าเจตนา เขาเรียกว่า “ความผิด” แต่ถ้าทำดีที่สุดแล้ว และไม่เจตนา เขาเรียกว่า “พลาด” แค่พลาดก็แก้ไขใหม่ เท่านั้นเอง คุณแม่ทองคำเป็นคนมัธยัสถ์มาก ตอนทำเอ็มเคยุคแรกๆ จะใส่เสื้อผ้าเพียงแค่ 2 ชุด หรือช่วงเริ่มต้น “เอ็มเค สุกี้” เธอจะไปจ่ายตลาดให้เอง ไปรถเมล์ กลับรถตุ๊กๆ เธอใช้เงินเพื่อตัวเองน้อยมาก แต่ถ้าให้คนอื่นหรือบริจาคให้โรงพยาบาล โรงเรียน หรือวัด เท่าไรเท่ากัน เป็นที่รู้กันในครอบครัวว่าคุณแม่ทองคำ เป็นคนใจบุญ และนี่คือสิ่งที่ “ฤทธิ์-ยุพิน” ทำตาม ล่าสุด ตอนที่แม่ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เธอบอกคุณหมอว่าถ้าที่โรงพยาบาลมีสถานที่ เธอจะเปิดร้านเอ็มเค สุกี้ให้ กำไรเท่าไร ยกให้โรงพยาบาลทั้งหมด ตอนนี้ “เอ็มเค สุกี้” เริ่มแล้วที่โรงพยาบาลศิริราช กำลังจะขยายไปที่โรงพยาบาลจุฬาฯ และโรงพยาบาลรามาฯ แนวคิดเหมือนเดิม คือ กำไรเท่าไรมอบให้โรงพยาบาลทั้งหมด “เพิ่งคุยกับคุณฤทธิ์ว่าเราน่าจะไปโรงพยาบาลต่างจังหวัดบ้าง” ครับ พนักงานของ “เอ็มเค สุกี้” สาขาโรงพยาบาลเหล่านี้ คงเป็นคนทำงานที่มีความสุขมาก เพราะทำให้สาขานี้มีกำไรเท่าไรก็ได้ทำบุญเท่านั้น ทำงานเหมือนกับทำบุญ ทำทาน ใจมีความสุขกับการเป็น “ผู้ให้” แล้วชีวิต จะไม่มีความสุขได้อย่างไร?
……………….
(เครดิต : พลอยแกมเพชร)