ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ถือเป็นภาวะอุบัติฉุกเฉินที่พบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ และนับว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันของผู้ป่วยเบาหวาน ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจมีอันตรายได้ น้ำตาลในเลือดต่ำมีความสำคัญไม่น้อยกว่าภาวะน้ำตาลในเลือดสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงวัยและเป็นโรคเบาหวานด้วยนั้น อันตรายมากค่ะ บอกเลย หนึ่งในเหตุผลของผู้ป่วยเบาหวาน (ที่เป็นผู้สูงอายุ) มักจะไม่ค่อยดูแลตัวเองสักเท่าไหร่ ทานยาไม่ตรงเวลา ทานอาหารไม่ตรงมื้อ หรือทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือดเกินขนาด ทั้งหมดนี้มีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในระยะยาว จนอาจทำให้เกิดความผิดปกติของสมองอย่างถาวรได้
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คืออะไร?
ถือเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ผู้ป่วยจะมีอาการรู้สึกอ่อนเพลีย ใจสั่น หน้ามืด และแน่นอน น้ำตาลในเลือดต่ำนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นสูงกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ต้องใช้ยาลดน้ำตาลหรือฉีดอินซูลิน ด้วยเพราะอะไร ? เรามาดูกันค่ะ
สาเหตุของน้ำตาลในเลือดต่ำ
- กินยาลดระดับน้ำตาลในเลือดบางชนิดเกินขนาด
- ฉีดอินซูลินมากเกินไป
- กินอาหารน้อยไปจากปกติ หรือไม่ตรงเวลา
- ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมมากกว่าปกติ
- มีภาวะเจ็บป่วย รับประทานอาหารได้น้อยกว่าปกติ
สัญญาณอันตรายน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ตัวสั่น ใจสั่น เหงื่อออกมาก (Sweating)
- หงุดหงิดง่าย หิว – ตาลาย
- ปวดศีรษะ – มึนงง – อ่อนเพลีย
- ชัก – หมดสติ
เมื่อเริ่มมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรรีบเจาะเลือดพิสูจน์ ถ้าผลระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป ยังไม่ถือว่าน้ำตาลต่ำ แต่ถ้ายืนยันระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ให้แก้ไขด้วยหลัก 15 – 15 – 15 ดังนี้ :-
- เลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม เช่น น้ำผลไม้ 120 ซีซี หรือ ลูกอม 4 – 5 เม็ด หรือ น้ำหวานที่ชงจากน้ำหวานเข้มข้น 2 ช้อนโต๊ะ หรือขนมปังกรอบ 2 – 3 แผ่น หรือ นมพร่องมันเนย 1 กล่อง (240 ซีซี)
- หลังรับประทานอาหาร 15 นาที ให้ตรวจน้ำตาลที่ปลายนิ้ว หากน้ำตาลสูงกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าปลอดภัย
- ถ้าระดับน้ำตาลยังต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ให้รับประทาน 15 กรัมของคาร์โบไฮเดรตซ้ำ และอีก 15 นาที ให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง
หลังจากนั้น ให้รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ต่อเลยทันที
(หากไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือ หมดสติ ห้าม ! ให้อาหารทางปากเด็ดขาด เพราะอาจสำลักลงหลอดลม ให้รีบนำส่งสถานพยาบาลใกล้เคียงทันที
จะเห็นได้ว่า วิธีการป้องกันน้ำตาลในเลือดต่ำ จะต้องตรวจหาระดับน้ำตาลอย่างสม่ำเสมอ และต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาเบื้องต้นอย่างดี การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา รวมทั้งการออกกำลังกาย และที่สำคัญอันนี้แนะนำเลยว่า บ้านอาศัยที่มีผู้สูงอายุอยู่ด้วย ควรจะมีชุดตรวจน้ำตาล 1 ชุด เครื่องวัดความดัน 1 ชุด เพราะปัจจุบันราคาไม่แพงมาก คุ้มมากเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นโดยนึกไม่ถึง และในกรณีที่ผู้สูงอายุเป็นโรคเบาหวานด้วยแล้ว ควรมีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ เราก็สามารถลดความเสี่ยงน้ำตาลในเลือดต่ำได้แล้วค่ะ พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
……….
(เครดิต : www.headline.com/health/hypoglycemia#symptoms, รพ.เทพทารินทร์ TSP, www.i-kinn.com)
บทความที่น่าสนใจ
ซุปกิมจิ เต้าหู้อ่อน แสนอร่อย ดีต่อสุขภาพ