หลายคนอาจมีปัญหาปวดหัวอยู่บ่อยครั้ง บางคนอาจปวดแล้วหายไปเองหรืออาจปวดหัวยาวนานเกินสัปดาห์ แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าปวดหัวแบบนี้เกิดจากอะไร ใช่ปวดหัวไมเกรนหรือไม่ วันนี้เรามีวิธีสังเกตว่าอาการไมเกรนแตกต่างจากปวดหัวแบบอื่นอย่างไรบ้าง ไมเกรนมีสาเหตุมาจากอะไร มีวิธีบรรเทาอาการและรักษาอาการได้อย่างไร มาอ่านกันเลยค่ะ
ปวดหัวไมเกรนคืออะไร
ไมเกรนเป็นอาการปวดศีรษะเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของสารเคมีในสมองไปกระตุ้นก้านสมอง ส่งผลให้หลอดเลือดในเยื่อหุ้มสมองบีบและคลายตัวมากผิดปกติ จึงเกิดอาการปวดตุบ ๆ เป็นจังหวะ ส่วนมากมักจะเกิดข้างใดข้างหนึ่ง แต่ทั้งนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 ข้างด้วยเช่นกัน หากปล่อยไว้นาน อาการปวดจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนถึงขั้นคลื่นไส้ อาเจียน, ร่างกายอ่อนแรง ส่วนโอกาสปวดไมเกรนมักพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ก็สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย
ไมเกรนมีกี่ประเภท อะไรบ้าง
- Common migraine เป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการเตือนมาก่อน หากปวดแล้วจะปวดทันที และมีเพียงอาการปวดหัวเท่านั้น
- Migraine with aura เป็นกลุ่มที่มีอาการเตือนก่อนปวดไมเกรน ไม่ว่าจะเป็นอาการมองไม่เห็นชั่วคราว, ภาพเบลอ, เห็นแสงระยิบระยับ ฯลฯ
สาเหตุสำคัญของการปวดหัวไมเกรน
- นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพของสมองลดลง ผิวพรรณขาดความชุ่มชื้น ไม่ผ่องใสแล้ว ยังกระตุ้นให้เกิดไมเกรนขึ้นได้
- การรับประทานอาหารไม่ถูกวิธี ได้แก่ ทานอาหารไม่ตรงเวลา, ทานอาหารที่มีผงชูรสหรือสารถนอมอาหารเป็นประจำ, ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ฯลฯ
- การรับประทานอาหารไม่เพียงพอ หรืออดอาหารเป็นประจำ เนื่องจากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ส่งผลให้ปวดศีรษะได้
- น้ำหนักตัว หากคุณมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน มีโอกาสเป็นไมเกรนมากกว่าคนทั่วไปถึง 27% ส่วนคนที่มีน้ำหนักน้อยเกินไป มีโอกาสเป็นไมเกรนมากกว่าคนทั่วไปถึง 13%
- ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นเรื่องดี แต่หากหักโหมมากเกินไปอาจทำให้เป็นไมเกรนง่ายขึ้น
- สภาวะทางจิตใจ เช่น ความเครียด, ซีมเศร้า, วิตกกังวล
- การสูบบุหรี่ บุหรี่มีสารนิโคตินที่ส่งผลทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติและเกิดอาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headaches)
- ยาคุมกำเนิด ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนลดลงและกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนกำเริบขึ้น
- การใช้สมองและสายตามากเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานอยู่ตรงหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน
ออกกำลังกายมากเกินไป เสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง
อาการปวดหัวไมเกรนมีอะไรบ้าง
- ปวดศีรษะข้างเดียว
- ปวดศีรษะตุบ ๆ เป็นระยะ ๆ
- มีอาการปวดตื้อสลับกับปวดตุ๊บ ๆ ในสมอง
- ระดับความปวดมีตั้งแต่ปวดเล็กน้อยในช่วงแรก ไปจนถึงปวดระดับกลางและปวดระดับรุนแรง
- ก่อนมีอาการปวดจะมีสัญญาณเตือนต่าง ๆ ได้แก่ รู้สึกอยากอาหารมากกว่าปกติ, อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย, ปัสสาวะบ่อย, บังคับการหาวไม่ได้ ฯลฯ
- มีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ ภาพเบลอ, เห็นแสงไฟระยิบระยับ, ร่างกายอ่อนแรง, คลื่นไส้ อาเจียน ฯลฯ ก่อนปวดไมเกรนประมาณ 10-30 นาที
- ระยะเวลาปวดไมเกรนอยู่ที่ประมาณ 4-24 ชม. และทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กินของทอดแล้วปวดหัว คลื่นไส้ เป็นสัญญาณโรคร้ายหรือไม่?
ความแตกต่างระหว่างปวดหัวไมเกรนกับปวดหัวแบบอื่น
- ไมเกรนจะปวดข้างใดข้างหนึ่งหรืออาจปวดทั้ง 2 ข้าง และปวดเป็นจังหวะ ส่วนปวดหัวแบบอื่นจะปวดตื้อบริเวณหน้าผาก ลามไปจนถึงด้านหลังของศีรษะ
- ไมเกรนจะปวดนานหลายชั่วโมงหรือหลายวัน ส่วนปวดหัวแบบอื่นจะปวดและหายไปเอง
- ไมเกรนจะมีอาการร่วมด้วย เช่น ดวงตาไวต่อแสง, ได้ยินง่ายกว่าเดิม, อยากอาหารมากกว่าปกติ เป็นต้น
วิธีดูแลตัวเองเมื่อปวดไมเกรน
1. ทานยาบรรเทาอาการ
- กรณีปวดไม่รุนแรง แนะนำให้ทานยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ พาราเซตามอล (Paracetamol), ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ได้แก่ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), เซเลโคซิบ (Celecoxib)
- กรณีปวดอย่างรุนแรง ควรทานยากลุ่ม Triptans ได้แก่ อีลีทริปแทน (Eletriptan), ซูมาทริปแทน (Sumatriptan)
- กรณีที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ควรทานดอมเพอริโดน (Domperidone), เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide)
2. ผ่อนคลายกล้ามเนื้อรอบศีรษะ
- นำผ้าจุ่มน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์หรือมาร์จอแรม 2 – 3 หยด ผสมน้ำแล้วบิดหมาด ๆ จากนั้นประคบขมับและหน้าผาก
- เริ่มจากประคบเย็นบริเวณหน้าผากและคอ ต่อมาค่อยประคบร้อนบริเวณท้ายทอย ทำสลับกัน 6 รอบ เป็นเวลา 2 นาที
- วางผ้าอุ่นบริเวณท้ายทอย แล้วนวดบริเวณคอ, ไหล่ และสะบักให้ทั่ว
- ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นคลึงเบา ๆ บริเวณขมับ
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้าเป็นอันเสร็จสิ้น
3. ลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระตุ้นให้เกิดไมเกรน
- พักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จัดพื้นที่การนอนให้เอื้อต่อการพักผ่อน
- ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 15-30 นาที อย่างน้อย 3-4 ครั้ง/สัปดาห์
- หากิจกรรมทำแก้เครียด เช่น นั่งสมาธิ, อ่านหนังสือ, ฟังเพลง, วาดรูป
- หลีกเลี่ยงอาหารกระตุ้นไมเกรน ได้แก่ ช็อกโกแลต, เครื่องเทศ, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการทานยาแก้ปวดโดยไม่จำเป็น (ไม่ควรทานเกิน 10 – 15 ครั้ง/เดือน)
สุดท้ายนี้หากคุณสังเกตอาการแล้วพบว่าตัวเองกำลังประสบกับปัญหาไมเกรนในระยะแรกหรือระยะรุนแรงก็ตาม ไม่ควรละเลยต่ออาการดังกล่าว เพราะนอกจากจะสร้างความรำคาญใจในชีวิตประจำวันแล้ว ยังก่อให้เกิดอันตรายตามมาในระยะยาวด้วย ทางที่ดีควรหมั่นสังเกตอาการและลดพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดไมเกรนจะดีที่สุดค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
ออกกำลังกายมากเกินไป เสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง