ด็อกเตอร์ เดวิด ร็อค ผู้เชี่ยวชาญทางศาสตร์ด้านสมองกับภาวะผู้นำ (NeuroLeadership) กล่าวไว้ในงานพัฒนาบุคลากรงานหนึ่งที่ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมฟังว่า
“หากคุณทำงานๆใดเป็นประจำมานานกว่า 2 ปี เปรียบได้กับว่าคุณกำลังอยู่ในสภาพคนไข้ที่โคม่า
อย่างไรอย่างนั้น”
แปลว่าอะไร? เอาอย่างนี้แล้วกันครับ ผมขออนุญาตเล่าเรื่องการทดลองที่น่าสนใจตัวหนึ่งที่เพิ่งลงตีพิมพ์เมื่อเร็วๆนี้ ลองอ่านดูนะครับ ทุกท่านคงรู้จัก ป๊อปคอร์น หรือ ข้าวโพดคั่ว ที่เรามักจะกินกันเวลาไปชมภาพยนตร์ ของขบเคี้ยวชนิดนี้ บางคนก็ชอบ ไปดูหนังแล้วขาดไม่ได้ต้องกินเสมอ ส่วนบางคนก็ไม่ชอบ ไม่เคยกินเลย หรือนานๆครั้งกินที เรื่องในวันนี้เกี่ยวกับคนสองพวกนี่ล่ะครับ คือเขาแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่ง “กินป๊อปคอร์นเป็นประจำ” ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง “นานๆกินที”
.
แบ่งเรียบร้อยแล้วเขาทดลองดังนี้ คือเอาป๊อปคอร์นมาให้คนสองกลุ่มนี้กิน โดยความน่าสนใจอยู่ที่ ผู้ทดลองเอาป๊อปคอร์นที่เพิ่งคั่วมาร้อนๆ ใหม่ๆ สดๆ หอมๆ ไปปนกับป๊อปคอร์นที่ค้างมาแล้ว 1 สัปดาห์ เก่าๆ ชืดๆ เย็นๆ แล้วดูว่ากลุ่มไหนจะมีพฤติกรรมการกินแบบใด แตกต่างกันหรือไม่ คุณผู้อ่านคิดว่าอย่างไรครับ? จากการลองถามของผมกับคนหลากที่หลายเวลา พบว่า คนส่วนใหญ่คิดว่า คนที่กินป๊อปคอร์นเป็นประจำย่อมมีความรู้ดีเรื่องรสชาติของป๊อปคอร์น ดังนั้นจึงน่าจะเลือกกินเฉพาะที่คั่วมาใหม่สด เปรียบเสมือนคนที่ทำงา ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งมานานๆ ย่อมมีประสบการณ์มาก น่าจะทำให้ตัดสินใจได้ถูกต้อง แม่นยำ อย่างชาญฉลาดมากกว่าคนที่ไม่ได้ทำงานแบบนั้นอยู่เป็นประจำ ผมเองก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน เหตุการณ์กลับโอละพ่อ เพราะปรากฏว่าคนกลุ่มที่ “กินอย่างชาญฉลาด” คือเลือกเฉพาะที่สดๆใหม่ๆ กลายเป็นกลุ่มที่ “นานๆกินป๊อปคอร์นที” ส่วนกลุ่ม “กินเป็นประจำ” กลับไมสนใจ กินได้ทั้งใหม่ทั้งเก่า (ยี้) โดยไม่รับรู้ถึงความแตกต่าง
.
สิ่งที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ พอทดลองใหม่ โดยบังคับให้กลุ่มที่ “กินป๊อปคอร์นเป็นประจำ” ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดหยิบป๊อปคอร์น… ครับ ถูกแล้ว ให้ใช้มือข้างที่ไม่ถนัด เช่นคนที่ถนัดขวา ให้ใช้มือซ้าย หรืออย่างผมถนัดมือซ้าย ก็ให้ใช้มือข้างขวาหยิบป๊อปคอร์น ผลกลับเป็นว่าคราวนี้ คนที่ “กินไม่เลือก” เปลี่ยนพฤติกรรมมาใส่ใจสิ่งที่กิน จากที่กินได้ทั้งใหม่และเก่าปนกัน เที่ยวนี้เลือกกินเฉพาะที่คั่วมาสดใหม่ เหมือนกับคนกลุ่มที่ “นานๆกินที” ไม่มีผิด แปลว่าอะไร? ถ้าให้ตั้งข้อสังเกตในเชิงศาสตร์ด้านสมอง ดร. ร็อค บอกว่า สมองคนเราจะพยายามทำงานให้สิ้นเปลืองน้อยที่สุด นั่นคือให้ได้งานมากโดยใช้พลังสมองน้อย เท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น เวลาเราเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เราจะใช้พลังงานสมองเยอะ เพราะต้องคิด ต้องวิเคราะห์ ต้องจำ แต่พอทำไปนานๆ (2 ปี) สมองจะค้นพบว่า เออ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องวิเคราะห์ ไม่ต้องจำ เราก็ทำได้ แล้วเอาความสามารถส่วนนี้ไปจัดเก็บไว้ในส่วนของสมองที่สิ้นเปลืองพลังงานน้อยที่สุด นั่นก็คือ “พฤติกรรม” เช่น การหายใจ หรือการอาบน้ำ
เราก็เลยหยิบป๊อปคอร์นกินตามความถนัด โดยอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีแบบใดบ้าง เพราะไม่ได้ใช้ “สมอง” เลือก แต่เมื่อโจทย์บังคับให้ใช้มือข้างที่ไม่ถนัด ทำให้เราต้องออกจากพฤติกรรมที่เคยชิน เป็นการบังคับให้ใช้สมองโดยปริยาย ก็เลยคิดได้ว่า เออ มันมีของอร่อยกับไม่อร่อยนี่นา แล้วเลือกกินเฉพาะที่อร่อย ป๊อปคอร์น สอนเราว่า หากเราทำอะไรประจำๆซ้ำๆไปนานๆ เช่น การทำงานแบบเดิม ปัญหาแบบเดิม ทางแก้ไข (process & policy) แบบเดิม เราก็อาจกลายเป็น “มนุษย์ป๊อปคอร์น” ไปเช่นกัน คือเลิกใช้สมองในการทำงาน ใช้แค่พฤติกรรมที่เคยชินก็พอ พอเช้าถึงที่ทำงาน สิ่งแรกที่คิดถึงคือ “เที่ยงนี้จะกินอะไรดี?” เพราะระหว่างเช้าถึงเที่ยงเป็นพฤติกรรมไปหมดแล้ว น่าสนใจไหมครับ? นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่องค์กรควรเร่งสร้างคนให้เป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลง มิใช่ผู้ตาม ให้พวกเขาได้ตระหนักถึง Sense of Urgency ที่จะต้องเปลี่ยนแปลง และได้ใช้สมองในการคิดวิธีหาภูเขาน้ำแข็งก้อนใหม่ๆ อยู่เสมอ สมาชิกในองค์กรของคุณล่ะครับ วันนี้พวกเขากำลังมีประสบการณ์ 20 ปี หรือว่าประสบการณ์ 2 ปี 10 ครั้ง?
…………….
(ที่มา : หนังสือ ผู้นำสมองใครๆก็เป็นได้ สนพ. เนชั่น บุ๊คส์ โดย ดร ธัญ ธำรงนาวาสวัสดิ์)