“อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดไปกรีดหิน”
จริงตามโบราณหรือเปล่าว่า การถูกเหยียดหยามทางสังคมนั้นไม่ชอกช้ำ
วันนี้ผมขอนำเสนอชาว KINN จากมุมผู้นำสมอง เรื่อง Social Pain
กับการบริหารจัดการบุคลากรในองค์กร หรือแม้แต่บุคคลใกล้ตัว
มีงานวิจัยงานหนึ่ง ทดลองด้วยการให้ผู้ร่วมโครงการ เล่นเกมออนไลน์ โดยเกมนี้
เป็นการโยนลูกบอลไปมาระหว่างผู้เล่น 3 คน
โยนไปสักพัก พอเพลินๆผู้เล่นคนหนึ่งจะถูก “ตัด” ออกจากเกมซะเฉยๆ
กล่าวคือเพื่อนอีกสองคนจะเลิกเล่นด้วย ไม่โยนบอลให้ กลับไปโยนกันเองอยู่แค่สองคน
อ้าว…
แล้วนักวิจัยเอาคนที่ถูกตัดออกจากเกมไป “วัดหัว”
คือสแกนดูว่าในสมองเกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างนั้น
ผลคือ สมองของคนที่เกิดประสบการณ์ Social Pain นั้น
มีการตอบสนองคล้ายกับความเจ็บปวดเวลาเราเจ็บตัว เช่นถูกมีดบาด หรือเตะโต๊ะ เป็นต้น
หากดูแต่สแกนสมองเฉยๆ โดยไม่บอกว่าเจ้าตัวกำลังประสบเหตุการณ์อะไร
เราอาจบอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าคนๆนี้กำลัง “เจ็บตัว” หรือ “เจ็บใจ”
นักวิจัยอีกทีมหนึ่งที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Science ทดลองต่อไปว่า
แล้วถ้าอย่างนั้น “ยาแก้ปวด” ล่ะ จะสามารถแก้ “ปวดใจ” ได้ไหม?
พวกเขาแบ่งคนที่มี Social Pain เป็นสองกลุ่ม แล้วทดลองให้กินยาไทลินอล
(ยาแก้ปวดพาราเซตามอล) เพื่อดูว่าจะเกิดผลอย่างไรต่อความรู้สึกแย่ๆที่มี
ผลคือ กลุ่มที่กินยาไทลินอล สามารถลดความเจ็บปวดทางจิตใจได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กิน
ซึ่งคอนเฟิร์มอีกครั้งด้วยผลการสแกนสมอง ที่วัดค่าความเจ็บปวดที่ลดลงในคนกลุ่มนี้
ข้อมูลเหล่านี้บอกเราว่า เจ็บตัวกับเจ็บใจ “ชอกช้ำ” คล้ายๆกัน แถมมีข้อมูลเสริมอีกด้วยว่า
เวลาเรานึกถึงความเจ็บใจที่เคยเกิดขึ้น เราจะรู้สึกเจ็บเหมือนเดิม
(ลองนึกถึงคนรักเก่าที่ถูกเพื่อนสนิทแย่งไปสิครับ) แต่เวลาเรานึกถึงตอนมีดบาดภายหลัง
เรารู้สึกเฉยๆไม่ยักเจ็บ
แปลว่า “เจ็บใจ” อาจจะแย่กว่า “เจ็บตัว” ด้วยซ้ำไป
ว้าว…
ฝากข้อมูลเชิงบริหารก่อนจาก แล้ว Social Pain เกิดจากอะไรได้บ้าง? ผมขอแชร์โมเดล
F.E.A.R.S. ซึ่งประยุกต์จากข้อคิดต่างๆเชิง Brain-Based Leadership
F.E.A.R.S. แปลว่าสิ่งที่สมอง ‘กลัว’
F คือ Fairness สมองมนุษย์ตอบสนองต่อความยุติธรรม หากมีอะไรที่ไม่แฟร์
ขนาดไม่ใช่เรื่องของเรา เรายังรู้สึกเจ็บปวด
E คือ Expected สมองมนุษย์ชอบรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากไม่รู้หรือไม่แน่ใจ
สมองไม่ชอบ
A คือ Autonomy สมองมนุษย์ต้องการสิทธิในการเลือก
หากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือก สมองจะต่อต้าน
R คือ Relatedness สมองมนุษย์วางใจคนที่เป็นพวกเดียวกันมากกว่าคนที่ต่างพวก
ตัวนี้สำหรับคนไทยมีน้ำหนักเป็นพิเศษ
S คือ Status สมองมนุษย์วัด Pain
จากสถานะของตนเองเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นรอบตัว เวลาเรารู้สึกสูงกว่า
เรารู้สึกดี เวลาเรารู้สึกต่ำกว่า เรารู้สึกแย่
ดังนั้น เวลาผู้บริหารทำอะไร ลองพิเคราะห์ด้วยโมเดลนี้ก็ได้ครับ หลายเรื่องที่ทำ
แม้อาจไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็สร้าง Social Pain ให้กับคนรับได้เหมือนกัน
เช่น ประโยคเด็ดของหัวหน้า “ปัญหานี้ฝีมือใคร?” เป็นประโยคที่โดน F.E.A.R.S.
ของผู้ฟังเกือบทุกตัว ได้ยินปุ๊บ Social Pain ขึ้นปั๊บ
ซึ่งหากผู้พูดเข้าใจการทำงานของสมอง
อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของคนในความดูแลได้ดีขึ้น
หรือไม่ เตรียมพาราฯไว้แจกลูกน้องเยอะๆ ก็น่าจะใช้ได้เหมือนกันครับ
………..