คนที่ทำธุรกิจในอาชีพเดียวกัน หากคิดที่จะเก็บเอาความรู้ของตนมาใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจของตนเพียงอย่างเดียว วิชาชีพของเราจะไม่มีทางเติบโตและพัฒนาขึ้นได้ เพราะความรู้ความสามารถที่มีไม่ได้ถูกแบ่งปันและแลกเปลี่ยนในเชิงพัฒนาให้กับส่วนรวมของอุตสาหกรรม ความรู้ความสามารถที่มีสุดท้ายก็จะตายไปกับตนหรือแย่ที่สุดก็แค่ส่งต่อให้กับลูกหลานและธุรกิจของตนเองโดยที่ส่วนรวมไม่ได้รับการพัฒนา หากขาดซึ่งการเติบโตและพัฒนาในองค์รวม อุตสาหกรรมนั้นๆก็ย่อมไม่สามารถที่จะไปแข่งขันกันในตลาดระดับที่ใหญ่ขึ้น เช่นตลาดระดับภูมิภาคหรือระดับโลกได้เช่นกัน
การแบ่งปัน(Sharing) จึงเป็นCSF(Critical Success Factor)ในการพัฒนาธุรกิจในโลกปัจจุบัน ยิ่งแบ่งปันมาก ยิ่งได้กลับคืนมามาก หมดยุคสมัยที่เรียกกันว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก หรือ ปลาเร็วกินปลาช้าแล้ว” แต่เป็นยุคสมัยที่เรียกว่า”ปลาที่อยู่รวมกันได้ด้วยความสามัคคี จะเป็นกลุ่มปลาที่แม้แต่ฉลามก็ยังต้องเกรงกลัว” หากเรานำExpertiseในอาชีพนั้นๆไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายเล็กมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยนำเอาประโยชน์ส่วนรวมของอุตสาหกรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ใดผู้หนึ่ง ผมเชื่อมั่นว่าแม้แต่ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมที่ยังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ ก็คงต้องหันมาให้ความสนใจ เพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่ขาด ซึ่งสุดท้ายก็จะเกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมในองค์รวม
ฉะนั้นการรวมตัวกันของSMEs จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ SMEs จะเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญไม่ให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไปเป็นอุตสาหกรรมของธุรกิจรายใหญ่เป็นผู้กำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมแต่เพียงผู้เดียว หรือที่เรียกว่าMonopoly จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาครัฐของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญและสนับสนุนSMEsของประเทศอย่างจริงจัง ยิ่งทำให้SMEsเติบโตและพัฒนาขึ้นมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสร้างความสมดุลของอุตสาหกรรมได้มากขึ้นเท่านั้น ประเทศก็จะพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และพึ่งพาเงินทุนจากต่างชาติน้อยลงเพราะเศรษฐกิจของประเทศแข็งแรงจากภายใน
ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมมองว่ารัฐบาลของประเทศเรานั้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาของSMEsต่ำมาก เท่าที่เห็นจะเป็นการให้ความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่ขาดการพัฒนาSMEsในเชิงบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลไทยยังคงต้องพึ่งพาธุรกิจรายใหญ่และเงินทุนจากต่างชาติเป็นหลัก ภาครัฐควรมีนโยบายในเชิงบูรณาการที่จะส่งเสริมSMEsให้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างจริงจังในรูปแบบของincentives ทำให้ธุรกิจSMEsที่เข้ามาอยู่ในระบบนี้ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆจากทางภาครัฐ ซึ่งยิ่งมีการส่งเสริมมากขึ้นเท่าไหร่ ธุรกิจของSMEsเหล่านั้นก็จะได้รับการพัฒนาและมีรายได้มากขึ้น รัฐฯก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้นตามไปด้วย ไม่ต้องมาคอยใช้ระบบแมวจับหนูหรือตำรวจจับโจร ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคอยรีดภาษีจากผู้ประกอบการSMEsทั้งที่อยู่ในระบบและอยู่นอกระบบแบบเหมารวม
คุยกันไปเลยเถิดจะกลายเป็นเรื่องการเมืองไป ผมเชื่อมั่นมาเสมอว่าSMEs ไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นSMEs ที่ไม่แพ้ชาติใดในโลกอย่างแน่นอน เพราะทุกท่านต้องฝ่าฟันทุกอย่างเพื่อความสำเร็จด้วยตนเองอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามความสำเร็จที่ได้มา จงอย่าเก็บไว้กับตัวเองเพียงลำพัง Sharing societyคือความสำเร็จของอุตสาหกรรมในองค์รวม หากทุกธุรกิจในอุตสาหกรรมประสบความสำเร็จร่วมกัน อุตสาหกรรมของเราก็สามารถพัฒนาและยกระดับไปแข่งขันได้ในตลาดที่ใหญ่มากขึ้นได้
ประเทศไทยของเราไม่ควรจะถดถอยไปมากกว่านี้อีกแล้ว มาเริ่มต้นเป็นฝูงปลาที่อยู่รวมกันด้วยความสามัคคีกันดีกว่าครับ
……….
Kong
June 2, 2020คมกริบ ชัดเจนในความคิด
สุดยอด !