คริส ดาวนี่ย์ (Chris Downey) เป็นสถาปนิกที่มีฝีมือและได้รับการยอมรับในอาชีพของเขาเป็นอย่างดี เขาเกิดมาพร้อมความสมบูรณ์ทางสายตาและร่างกายทุกประการเหมือนคนส่วนใหญ่บนโลกนี้
.
หากแต่เมื่อย่างเข้าอายุ 50 คริสต้องเข้ารับการผ่าตัดในโรงพยาบาลจากอาการเนื้องอกในสมอง การผ่าตัดเนื้องอกสำเร็จได้ด้วยดี ยกเว้นเพียงแต่การผ่าตัดนั้น พรากเอาการมองเห็นที่เคยเป็นเรื่องปกติของเขาตั้งแต่เกิด และเป็น 1 ในความสำคัญของการประกอบอาชีพในฐานสถาปนิกของเขาไป
.
เขาไม่สามารถมองเห็นได้อีกเลยหลังจากการผ่าตัดผ่านไปเพียง 3 วัน หลังจากพบว่าตัวเองจะไม่สามารถมองเห็นได้อีกแล้ว คริสเกือบจะสิ้นหวัง แต่ด้วยกำลังใจจากคนรอบข้าง เขาจึงพยายามอย่างหนักที่จะเรียนรู้ความสามารถในการดำเนินชีวิตของคนตาบอด จนสามารถใช้ชีวิตได้ผ่านเครื่องมือต่างๆ ได้เป็นอย่างดี การใช้ชีวิตประจำวันไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของคริสอีกต่อไป หากแต่เขาไม่สามารถประกอบอาชีพสถาปนิกแบบเดิมได้ และถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ เขาจะต้องกลายเป็นภาระให้คนรอบข้างคอยดูแล ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการเลย ยิ่งไปกว่านั้นการใช้ชีวิตกับงานที่รักและทำได้ดีจนถึงอายุ 50 นั้น มันไม่ง่ายเลยที่จะให้เขาแขวนดินสอและปิดฉากอาชีพของเขาไปง่ายๆ เช่นนี้ คิดได้ดังนั้น คริสจึงหาวิธีที่จะทำให้เขา สามารถประกอบอาชีพสถาปนิกได้ต่อไปผ่านหลายๆ วิธีและเครื่องมือ จนมาพบวิธีที่ทำให้เขาสามารถยังออกแบบสิ่งปลูกสร้างในฐานะสถาปนิกมืออาชีพได้ คือใช้กระดานแผ่นที่ทำจากขี้ผึ้งอ่อนๆ และลากเส้นลงไป คล้ายๆ กระดานลอกเด็กเล่นที่เราเคยเห็นกันสมัยก่อน ประกอบกับใช้เครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ลายเส้นให้นูนขึ้นมาได้
.
ด้วยการค้นหาวิธีต่างๆ จนสามารถนำมาประยุกต์ให้กลายเป็นวิธีที่ใช้ได้ ปัจจุบันคริสอายุมากกว่า 60 ปีแต่ก็ยังประกอบอาชีพเป็นสถาปนิกที่มีผู้ว่าจ้างมากมายได้เป็นอย่างดี เพียงแต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ
.
หนึ่ง มีสื่อมวลชนให้ความสนใจขอสัมภาษณ์เขาโดยตลอด รวมถึงได้รีบเชิญให้ขึ้นไปพูดบนเวที TED Talk
.
สอง คริสค้นพบสิ่งที่เขาไม่เคยคิดถึงอย่างลึกซึ้งมาก่อนก็คือ การออกแบบที่อยู่และเมืองโดยทำให้เมืองและสิ่งปลูกสร้างมีความสมบูรณ์แบบ และเชื่อมต่อกันได้โดยทุกคนสามารถเข้าถึง ผ่านแนวคิดที่ว่า
.
“การออกแบบที่คำนึงถึงคนที่มองไม่เห็น” (design for the blind in mind)
คริสพูดบนเวที TED ว่าโลกนี้มีคนอยู่สองกลุ่ม
คือหนึ่ง คนที่พบว่าตัวเองนั้นพิการบางอย่าง
และสอง คนที่แค่ยังไม่พบว่าตนเองพิการ
และคริสมองว่า เราไม่ควรให้นิยามคนที่ไม่สมบูรณ์ทางร่างกายด้วยคำว่า “พิการ” หรือ “Disability” และคนที่มีร่างกาย “ปกติ” ว่า “Ability” เพราะคนที่พิการ จริงๆแล้วนั้นถูกแทนที่ด้วยความสามารถบางอย่างที่มีสูงขึ้น ดังนั้นแล้ว การบอกว่าคนพิการไร้ความสามารถบางอย่างนั้นดูจะเป็นคำจำกัดความที่อาจจะตีกรอบให้โลกมองข้ามคนพิการไปทั้งๆ ที่คนพิการนั้นมีความสามารถที่จะทำงานร่วมกับคนที่ปกติในการช่วยพัฒนาโลกและสังคมให้ดียิ่งขึ้นได้ผ่านการออกแบบมากกว่าให้คนปกติทำแค่ฝ่ายเดียว
.
สิ่งที่คริสนำเสนอนั้นทรงพลังและช่วยเปลี่ยนมุมมองของโลกนี้ที่มีต่อคนตาบอดและงานออกแบบสถาปัตย์อย่างยิ่ง แต่สิ่งที่โลกได้เรียนรู้ยิ่งกว่างานออกแบบเมืองและสิ่งปลูกสร้างที่ควรให้คนตาบอดและผู้พิการต่างๆ มีส่วนร่วมได้ผ่านเรื่องรางชีวิตของคริสก็คือ หากเรามัวแต่สนใจในสิ่งที่ขาด เราอาจจะพลาดในสิ่งที่มี อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่สูญเสียการมองเห็นจะสามารถทำได้อย่างคริส
.
แต่ทุกคนสามารถพยายามเพื่อที่จะเชี่ยวชาญในเรื่องที่เราถนัดได้อย่างเช่นคริส เหมือนในกระดาษใบที่คริสเขียนตอนที่ตามองไม่เห็นแล้วแล้วชูไว้ในรูป แปลเป็นไทยได้ว่า “ผมทำงานนี้มานาน จนสามารถปิดตาทำก็ยังได้ ~ จริงๆ นะ” – คริส ดาวนี่ย์ วันนี้เราพยายามมากพอ ที่จะก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ นั้นไป เหมือนอย่างที่คริสทำหรือยังครับ? สุดท้ายนี้หวังว่าเรื่องของคริสจะเป็นกำลังใจให้กับทุกคนให้ก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปได้ไม่ว่ามันจะยากแค่ไหน ขอบคุณครับ