วิธี ดูแลผู้สูงอายุ ให้อายุอยู่ยืดยาวหมื่นปี หมื่นๆ ปี!!
ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้ 新正如意 新年发财 เทศกาลตรุษจีนในปีนี้ อาจจะไม่คึกคักเท่าใดนัก เพราะตรงกับช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่เรายังต้องเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ ท่านอธิบดีกรมอนามัย ยังแนะนำว่า การป้องกันที่ดีที่สุด คือลดปริมาณการใช้ธูป โดยแนะให้ใช้ธูปขนาดสั้น ลดปริมาณการเผากระดาษเงิน กระดาษทองให้น้อยลง เน้นสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นขณะเผากระดาษ หรือจุดธูป รวมทั้งกำจัดขี้เถ้าจากธูปและกระดาษเงินกระดาษทอง โดยเก็บขี้เถ้าใส่ถุง และส่งให้ท้องถิ่นรับไปกำจัดอย่างถูกวิธี
ผู้สูงอายุกับเทศกาลตรุษจีน
ปกติเทศกาลส่วนใหญ่ในบ้านเรา ค่อนข้างเกี่ยวข้องกับญาติผู้ใหญ่และ ผู้สูงอายุเกือบทุกเทศกาล ปีใหม่เอย สงกรานต์เอย โดยเฉพาะประเพณีเทศกาลตรุษจีนที่ลูกหลานจะรอรับ “อังเปา” จากผู้ใหญ่ ยิ่งถ้าครอบครัวใด มีญาติผู้ใหญ่เยอะหล่ะก็ ได้อั่งเปาเป็นปึก ๆ กันเลยทีเดียว ! แต่ถ้าเรามองให้ลึกอีกสักนิด ญาติผู้ใหญ่เอง ก็ดีใจที่ได้เจอลูก ๆ หลาน ๆ (อย่างมากด้วยค่ะ) ถ้าไม่มีเทศกาล ท่านก็คงเหงา ไม่ใช่น้อย บ้านก็เงียบ อยู่กันสองตายาย (บางครอบครัว เหลือ ตาหรือยาย อยู่คนเดียว เพราะคู่รักจากไปแล้ว) แล้วเราจะมีวิธีการดูแลบุพการี ญาติผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ให้ดีที่สุด ได้อย่างไร ?
ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนไทยมีอายุยืนขึ้น กลุ่มผู้สูงอายุมีสัดส่วนมากขึ้น ตามรายงานสถิติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อัตราการเกิดใหม่น้อยลง (อย่างมาก) หลายครอบครัวยุคใหม่ นิยมอยู่กันแบบสองคน โดยไม่มีทายาท อีกทั้งวัยแรงงาน มีสัดส่วนในช่วงอายุสูงมากขึ้น สังคมมีการศึกษากันสูงขึ้น แข่งขันกันสูงขึ้น ความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ความเป็นชนบทน้อยลง มลพิษฝุ่น สูงขึ้น (PM 2.5) ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สิ่งที่ตามมาแน่นอนคือ เครียดมากขึ้น ! ด้วยการมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น ทำให้ปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุ จึงมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคเรื้อรัง โรคเครียด โรคอ้วน ฯลฯ ในบทความนี้ ผู้เขียน ขออนุญาตเน้นถึงวิธีการดูแลผู้สูงอายุ (ส่วนเรื่องอุบัติเหตุ และโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เคยเขียนแล้ว สามารถหาอ่านได้จากเพจ www.i-kinn.com นะคะ)
ดูแลผู้สูงอายุ ควรทำได้อย่างไร ?
พื้นฐานการดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้น ต้องมีความใส่ใจในการดูแลสุขภาพ และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ปัญหาที่มักพบบ่อยในการดูแลผู้สูงอายุ คือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักไม่ยอมให้สมาชิกในบ้านดูแลตนเอง เพราะรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระให้กับครอบครัว ผู้สูงอายุบางคนมีความเป็นตัวของตัวเองสูง และจะรับไม่ได้กังวลว่าตนเองจะกลายเป็นคนอ่อนแอ เป็นภาระกับลูกหลาน และมักจะไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมต้องได้รับการดูแล ดังนั้น สมาชิกในบ้านควรทำความเข้าใจ และเรียนรู้วิธีการับมือที่ถูกต้อง
- ไม่ควรรบเร้าให้ผู้สูงอายุต้องรับฟังเหตุผลในขณะนั้น ควรหาโอกาสดี ดี เข้าไปอธิบายอีกครั้งภายหลังแทนดีกว่า
- ควรหาเวลาอยู่ใกล้ชิด คุยเรื่องสับเพเหระ กับท่าน ให้ท่านได้ผ่อนคลาย เปิดใจคุย จะทำให้เข้าใจกันมากขึ้น เช่นถ้าท่านชอบคุยเรื่องหุ้น ก็คุยเรื่องหุ้น ถ้าท่านชอบคุยเรื่อง ต้นไม้ ก็คุยเรื่องเกี่ยวกับการดูแลต้นไม้ ประมาณว่าคุยในสิ่งที่ท่านสนใจ (ซึ่งจะเป็นเรื่องใดนั้น คนที่อยู่ใกล้ชิด ลูกหลาน) จะเข้าใจมากที่สุด
- เน้นพิจารณาผู้สูงอายุว่าควรได้รับการดูแลอะไรบ้าง ที่เหมาะสมกับท่าน เช่นผู้สูงอายุบางท่าน เป็นคนป่วยนอนติดเตียง อาจจะต้องพิจารณาในเรื่องของคนดูแล พยาบาลส่วนตัว เป็นต้น
- รู้จักวิธีเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุ ได้ทำการตัดสินใจด้วยตนเองบ้าง หรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
ยิ่งอายุมากขึ้น อวัยวะร่างกายย่อมเสื่อมลง ผู้สูงอายุ จึงเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นพิเศษ 7 วิธี ดูแลผู้สูงอายุให้มีอายุยืนยาว นั้น มีอะไรบ้าง เรามาดูกันค่ะ :-
1.เน้นการออกกำลังกายวันละนิด
ในวัยนี้แล้ว แน่นอน ผู้สูงอายุ บางท่านร่างกายปฏิเสธที่จะออกกำลังกาย แต่เราสามารถชักชวนให้ท่านร่วมทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ชวนทำสวนด้วยกัน หรือทานข้าวเย็นเสร็จ ชวนท่านเดินเล่นรอบหมู่บ้าน ระหว่างนั้นก็ชวนคุยไปด้วย ถามทุกข์สุขดิบ หรืออาจให้ท่านเล่าเรื่องที่ท่านสนใจอยู่ เพื่อลดการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดัน และเน้นให้ออกกำลังกายโดยการเดิน อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน อย่างน้อยเป็นการช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจได้ทำงาน และแน่นอน ลำไส้ได้เคลื่อนไหว ไม่ท้องผูก อีกด้วย
2.เน้นการดื่มน้ำอย่างเพียงพอ
เป็นเรื่องที่น่าแปลกอยู่เหมือนกัน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบดื่มน้ำ อาจเพราะเกรงต้องเข้าห้องน้ำบ่อย วิธีที่ถูกต้องคือ ควรดูแลให้ดื่มน้ำอย่างพอเพียง เพื่อช่วยให้ผิวพรรณดีด้วย
3.เน้นการเลือกทานอาหารดีต่อสุขภาพ
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ รับประทานอาหารได้น้อยลง เนื่องจากอวัยวะในร่างกายเสื่อมสภาพลง (บางท่านมีความเครียด ยิ่งทานน้อยลง) เน้นเลือกทานอาหารประเภทที่อ่อนนุ่ม ไม่เผ็ด รสชาติไม่จัดจ้าน หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำ รวมทั้งอาจปรับวิธีการปรุงอาหารเป็นการนึ่ง ตุ๋น จะดีที่สุด และเน้นการทานผัก เพราะผักมีไฟเบอร์ จะช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย ท้องไม่ผูก และไม่ควรทานอาหารค้างคืน (เพราะเสียดายนะคะ) เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยตรง
4.เน้นดูแลความสะอาดร่างกาย
อย่างที่พวกเราทราบกันดีว่า ในวัยผู้สูงอายุ ภูมิคุ้มกันไม่ค่อยแข็งแรง อาจติดเชื้อง่าย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง หรือ ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ ควรเน้นดูแลความสะอาดฟัน ช่องปาก เล็บ ผิวหนัง หรือแม้กระทั่งซอก บานพับในร่างกายต่าง ๆ เช่น อวัยวะเพศ ก้น ขาหนีบ เป็นต้น ไม่ควรปล่อยให้อับชื้น เพราะอาจเกิดการระคายเคืองได้
5.ลดอุบัติเหตุการเดินระหว่างวัน
เคยได้ยินผู้สูงอายุบางท่าน ปฏิเสธที่จะใช้ “ไม้เท้า” เพราะมีความคิดว่า ตัวเองยังแข็งแรงเหมือนสมัยยังหนุ่ม ๆ อยากแนะนำ ค่อย ๆ คุยกับท่าน อธิบายให้ท่านเข้าใจถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเดิน เช่น เด็กเดินมาชน หรือ เท้าท่านเองสะดุดขอบบันได (เพราะคิดว่าเท้าก้าวพ้นบันได แต่จริง ๆ ไม่พ้น) ทางที่ดี ควรมีไม้เท้า หรือ วอลค์เกอร์ จะช่วยให้ท่านเดินอย่างมั่นคงขึ้นเยอะ
6.เน้นทานยาตรงตามแพทย์สั่ง
ด้วยวัยผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะมีโรคส่วนตัว ไม่ว่า จะเป็น ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง โรคหัวใจ ฯลฯ ฉะนั้น ผู้ดูแลควรจัดยา ให้ง่ายต่อการรับประทาน และให้ความใส่ใจผู้สูงอายุรับประทานยาให้ตรงตามแพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาเอง และควรพบแพทย์ตามวันที่กำหนด ถ้าจะเป็นการดีที่สุด คือ จดระดับน้ำตาล เช้า-เย็น และความดันเช้า-เย็น ลงบันทึกในสมุดเล่มเล็ก ๆ เพื่อนำไปให้แพทย์ได้พิจารณาอ่าน ในวันที่ครบกำหนดต้องพบแพทย์
7.เน้นดูแลสุขภาพจิต
ผู้เขียนตั้งใจหยิบมาเป็นข้อสุดท้าย เพราะจริง ๆ แล้ว ข้อนี้สำคัญมากเช่นกัน “ความรักและกำลังใจ” ในครอบครัวถือเป็นจิ๊กซอที่สำคัญยิ่งในการดำรงชีวิตให้ผ่านไปในแต่ละวัน ยิ่งผู้สูงอายุท่านใด ภรรยาจากไปแล้ว หรือ สามีจากไปแล้ว ยิ่งต้องเอาใจใส่ในเรื่องพลังใจให้แด่ท่าน เพราะท่านจะรู้สึกโดดเดี่ยวมาก หาโอกาสพาลูกหลานไปเยี่ยมท่านบ้าง ทานอาหารร่วมโต๊ะกันกับลูกหลาน หรือ พาท่านทานอาหารนอกบ้าน เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ ก็เป็นสิ่งที่ดีมาก อย่าลืม เป็น “ผู้รับฟัง” ที่ดี ให้ท่านเล่าเรื่องที่ท่านสนใจ เช่น ตลาดหุ้น การเมือง ธุรกิจ (ของท่านที่เคยทำ สมัยหนุ่ม ๆ ) ท่านจะมีความสุขมาก และเล่ากี่ครั้งก็ไม่รู้เบื่อ แถมยังช่วยท่าน ห่างไกลโรคอัลไซเมอร์ ด้วยค่ะ
เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ ที่ผู้สูงอายุมักจะมั่นใจในสิ่งที่ท่านเคย “แข็งแรง” ในอดีต และยังคิดเข้าข้างตัวเองว่าท่านยังแข็งแรงเหมือนเดิม ไม่เป็นไร ยังเดินไหว ยังวิ่งได้ ยังพยุงตัวเองได้ ยังไม่ล้มหรอก ฯลฯ ที่เขียนมาทั้งหมด เพราะคุณพ่อผู้เขียนเอง ท่านก็เป็นเหมือนกันค่ะ ต้องใช้เวลาพอสมควร ค่อย ๆ โน้มน้าวและอธิบายให้ท่านเข้าใจ ปัจจุบันท่านก็ถือไม้เท้า (ประจำตัว) ไปเรียบร้อย และก็มีหลายเหตุการณ์ที่ไม้เท้าท่าน ช่วยให้ท่านไม่ล้ม ดังนั้น แม้ผู้สูงอายุจะเคยเป็นคนแข็งแรง แต่เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่าง ๆ ย่อมเสื่อมสภาพลง จึงเป็นวัยที่ต้องการคนดูแล เอาใจใส่ อย่างถูกวิธี ถูกสุขลักษณะ และจริง ๆแล้วพวกเราต่างก็ต้องการให้ท่านแข็งแรง มีอายุยืนยาว (ให้นานที่สุด) เพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเราในการทำงานด้วยเช่นกัน จริงไหมค่ะ ? พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
====
#KINN_Holistic_Healthcare
บทความที่น่าสนใจ
ภัยใกล้ตัว น้ำตาลในเลือดสูง พุ่งสูงปรี๊ดด เหตุเพราะชานมไข่มุก !