วันนี้ อ.เกด กฤตินี เจ้าของเพจ เกตุวดี Marumura ที่เคารพชวนมาบรรยายให้คลาส Chula MBA Inter ฟังหัวข้อ CSV ซึ่งย่อมาจาก Creating Shared Value
CSV ให้พูดก็เหมือนเป็นขั้นกว่าของ CSR จำได้ว่าตอนผมเป็นพนง.บริษัทเคยถูกมอบหมายให้ศึกษาและเขียนแผน CSV ร่วมกับทีม HR เลยต้องไปนั่งค้นข้อมูลเพราะตอนนั้นคือเรื่องใหม่ๆมากๆ ก็เลยพบว่า concept นี้ถูกนำเสนอขึ้นมาครั้งแรกในเอกสาร Harvard Business Review และ Michael E. Porter เป็นผู้นำมาขยายความต่อ ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการทำ CSR แก่องค์กรทั่วโลก ถึงแม้ว่าคำว่า CSR ก็ยังเป็นคำติดปากอยู่ในปัจจุบันก็ตาม
โดยหลักการคือ CSV นั้นต่างกับ CSR ตรงที่ว่า CSV มุ่งเน้นว่าองค์กรต้องมองการอยู่ร่วมกับสังคมและโลกใบนี้ให้ลงลึกถึงระดับกลยุทธองค์กร ซึ่งแตกต่างกับ CSR ที่องค์กรเพียงจัดกิจกรรมที่อาจจะไม่เกี่ยวกับกลยุทธบริษัทเลยก็ได้ เช่นเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์แต่ทำ CSR โดยไปปลูกป่า คือมันช่วยโลกก็จริง แต่มันไม่ได้ลงลึกถึงขั้นเป็นกลยุทธองค์กรและธุรกิจของบริษัทจริงๆ
สำหรับผมแล้วหลังจากที่ได้ศึกษา CSV ตั้งแต่ยังเป็นพนักงานบริษัทแล้วเกิดความประทับใจแนวคิดนี้อย่างมาก เพราะจากเดิมที่ไม่ค่อยเข้าใจว่าเห็นบริษัทที่ตัวเองทำงานอยู่นัดรวมพลไปปลูกป่าทำไมเพราะเราไม่ได้ทำลายป่า และมันก็ไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทเลย แต่วันนึงก็มีคนมาบอกว่าจะตอบแทนสังคมจริงๆ มันต้องทำให้เป็นเรื่องของธุรกิจของบริษัทให้ได้ต่างหากจึงจะถูกแล้วรู้สึกว่าใช่
ผมเคยไปประชุมกับหนึ่งในบริษัทเคมีที่ใหญ่ที่สุดในโลกชื่อ BASF ซึ่งบริษัทอยู่ริมแม่น้ำไรน์ (Rhine) ที่เยอรมันนี เค้าอธิบายเรื่องนี้แก่ผมว่า BASF มีหน้าที่ผลิตเคมีออกมาให้สะอาดปลอดภัยและดูแลส่วนที่ต้องกำจัดทิ้งไม่ให้ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งในทุกๆ ปีเค้าจะมีกิจกรรมตกปลากันที่หน้าโรงงานเพื่อเอาปลามาชำแหละดูว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ (ไม่รู้ตอนนี้ยังทำอยู่รึเปล่า)
เรื่องของ BASF ประทับใจผมมากจนวันที่ตั้งบริษัทก็เลยตั้งใจว่าจะทำหน้าที่ในการทำสินค้าที่ดีออกมาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น ปลั๊กรางเคยเป็นต้นเหตุของบ้านไฟไหม้มาหลายสิบปีไม่เคยเปลี่ยน anitech ก็เลยเน้นการวิจัยและพัฒนามาตรฐานคุณภาพแบบใหม่ขึ้นมาซึ่งป้องกันปัญหาการลัดวงจรและลามไฟได้ พร้อมกับให้การรับประกันความเสียหายสูงถึง 5 แสนบาทซึ่งเป็นจำนวนวงเงินที่สูงที่สุดในทวีปซึ่งไม่เคยมีแบรนด์ใดให้มาก่อน
หรือตอนที่เริ่มทำสินค้าตัวแรกๆ อย่างอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แนวคิดตอนนั้นก็คือทำไมคนที่อยากได้ของคุณภาพดีๆ ต้องจ่ายราคาแพงๆ ให้สินค้านำเข้าจากฝั่งตะวันตก ในขณะที่ถ้าซื้อของราคาถูกๆ ก็กลายเป็นได้ของคุณภาพแย่ๆ กลับไปใช้ได้ไม่นานก็พัง
เราเลยตั้งใจทำสินค้าคุณภาพดีๆ ให้ขายได้ในราคาไม่สูง ภายใต้กลยุทธ low-end disruption (ซึ่งมีขยายความอยู่ในหนังสือ ทะยาน: คิดแบบ STARTUP ทำอย่าง SME มีระบบแบบมหาชน) ถึงแม้จะต้องทำงานหนักกว่าปกติแต่ขายได้กำไรน้อยก็ไม่เป็นไร เพราะนอกจากจะทำให้เรามีที่ยืนในตลาดได้แล้วก็ยังเป็นการเดินตามความเชื่อของเราเพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าการทำสิ่งที่ดีนั้นผลของมันย่อมต้องดีตามไปด้วยอย่างแน่นอน เมื่อสังคมดี สินค้าดี ผลกำไรของบริษัทย่อมดีขึ้นไปด้วยอย่างแน่นอนขอเพียงแค่อดทนทำและเชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง
และสุดท้ายแล้ว CSV ไม่ใช่เรื่องของบริษัทใหญ่ๆ แต่เป็นเรื่องความยั่งยืนของทั้งโลก ลองคิดดูว่าโลกเราจะดีแค่ไหนถ้าทุกบริษัทมุ่งเน้นที่การสร้างคุณค่าให้สังคมเป็นสำคัญไม่ใช่เน้นเรื่องตัวเลขกำไรแต่อย่างเดียว
ถึงจะยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ แค่ต้องพยายามให้มากขึ้นเท่านั้นเองครับ ส่วนพยายามขนาดไหนนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดความฝันของคุณที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลกใบนี้ให้ดีขึ้นกว่าเมื่อวานครับ
……….