“โอ้วว ทำงัยดี WFH น้ำหนักขึ้นพรวดมา 10 โล ตรวจเลือดแอบตกใจ ไขมันเลวพุ่ง แถมน้ำตาลในเลือดสูงอีกด้วย” ถือเป็นภาวะที่พบบ่อยช่วง WFM ที่หลายท่านเอนจอยการกินมาก และขาดการออกกำลังกาย (ผู้เขียนก็เข้าข่ายด้วยเหมือนกัน) ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถิติคนไทยเป็นโรคเบาหวาน ติดอันดับหนึ่งมาหลายปีซ้อนแล้ว และที่น่าเป็นห่วงมากสำหรับประเทศไทย คือ ความชุกของเบาหวานที่เกิดจากปัญหาโรคอ้วน และพฤติกรรมการใช้ชีวิตในเด็กวัยรุ่น และวัยหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานมีมากถึง 200 รายต่อวัน สิ่งที่น่าสนใจและพบบ่อยมากคือ ภาวะไขมันในเลือดสูง มักจะพบร่วมกับโรคเบาหวาน ซึ่งจะส่งเสริมทำให้เกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดเพิ่มขึ้น เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบ ไขมันที่สูงมักจะเป็น คอเลสเตอรอล, ไตรกลีเซอไรด์ ฉะนั้น เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เราต้องแก้ที่ต้นเหตุ นั่นคือ “ไขมันในเลือดสูง”
รู้ยัง ค่าไขมัน เท่าไหร่จึงจะดี ?
ไขมันในร่างกายที่เราพูดถึงส่วนใหญ่ หมายถึง คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบตัน ซึ่งอาจเป็นอันตราย ทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ ไขมันในเลือดสูง หมายถึง ระดับไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งระดับคอเลสเตอรอล ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร และระดับไตรกลีเซอไรด์ ปกติไม่เกิน 150 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร
สาเหตุการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง
- การกินอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอดจมน้ำมัน (อันนี้สำคัญมาก) เนื้อติดมัน
- การกินอาหารที่ให้พลังงานเกินความต้องการของร่างกาย เพราะร่างกายเรา จะมีกลไกในการสะสมพลังงานที่ได้จากสารอาหาร ที่เรากินเข้าไปในรูปของไขมัน
- การดื่ม เหล้า แอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมทั้งไวน์ มากเป็นประจำ ทำให้มีการสะสมไขมันตามเนื้อเยื่อมากขึ้น ลดการกำจัดไขมันในเลือด เนื่องจาก แอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงมาก
- โรคบางชนิด เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคตับ โรคเบาหวาน
- ขาดการออกกำลังกาย
- กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติพ่อแม่ เป็นไขมันในเลือดสูง
8 น้ำมันไขมันต่ำ ดีต่อร่างกาย ลดความเสี่ยงคอเลสเตอรอลสูง
7 เมนูอาหารญี่ปุ่นสุดอ้วน เพิ่มความเสี่ยงไขมันในเลือดสูง
ความเสี่ยงโรคเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง
ปัจจุบันโรคเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง ถือเป็นปัญหาที่สำคัญและมีอัตราการเกิดสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะโรคเบาหวาน แบ่งออกได้ 4 ชนิด ซึ่งมีการรักษาที่แตกต่างกันไป โรคเบาหวานที่พบบ่อย ได้แก่ โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 เราจะสังเกตเห็นว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน มักมีอาการปัสสาวะบ่อย เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก จนรั่วออกมาเป็นปัสสาวะ ทำให้บางท่าน อาจเคยได้ยินว่า ผู้ป่วยเบาหวาน ปัสสาวะแล้วมีมดมาตอม นอกจากนี้ อาจมีอาการ หิวน้ำบ่อย น้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย อย่างไรก็ตาม ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเหล่านี้ และหลายท่านอาจไม่รู้ตัวเลยว่า ตัวเองป่วยเป็นโรคเบาหวานและมาพบแพทย์ครั้งแรก โดยเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานไปเสียแล้ว แล้วถ้าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดีพอ ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากโรคเบาหวาน เช่น โรคเบาหวานขึ้นตา โรคเบาหวานลงไต ซึ่งจะต้องได้รับการฟอกไต ส่วนภาวะไขมันในเลือดสูง โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการ หรืออาการแสดงใด ๆ ชัดเจน (ถ้าเป็นไปได้ ควรมีตรวจเช็คร่างกายประจำปี ถึงจะทราบว่าตัวเอง อยู่ในภาวะไขมันในเลือดสูง) อย่างไรก็ดี การมีระดับไขมันในเลือดสูง (คอเลสเตอรอลสูง) เป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการสะสมของไขมันที่ผนังเส้นเลือด และอุดตันหลอดเลือดแดงไปเรื่อย ๆ ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญต่าง ๆ ในร่างกายได้ จนนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองตีบ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีภาวะไขมันในเลือดสูง มักมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง อยู่แล้ว
อ่านต่อบทความที่ท่านอาจสนใจ : EP. 189 : เป็นเบาหวานอยู่ กินน้ำตาลเทียม ได้มั๊ย ?
เป็นเบาหวานแล้ว ยิ่งต้องระวังระดับไขมันในเลือด
พญ.วลัยรัตน์ จริยะเศรษฐพงศ์ (แพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ) กล่าวอย่างน่าสนใจว่า ปัญหาจากการมีระดับไขมันในเลือดสูงระหว่างคนปกติ กับ คนที่เป็นเบาหวานจะแตกต่างกัน โดยถ้าไตรกลีเซอไรด์สูงเล็กน้อย หรือปานกลาง หรือเกินกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือด และสมองขาดเลือด แต่ถ้าระดับไตรกลีเซอไรด์สูงมาก ๆ จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ส่วนภาวะไขมันในเลือดสูง ในที่นี่เราจะพูดถึงเฉพาะไขมันเลว LDL ซึ่งในผู้ป่วยเบาหวานจะมีเกณฑ์ค่าปกติที่น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และถ้าผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน มีไขมันในเลือดสูงคือ LDL สูง เจ้าตัว LDL ก็จะสะสมตามหลอดเลือดแดง ตีบตันตามอวัยวะต่าง ๆ หลอดเลือดแดงที่ตีบตัน จะมีภาวะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต มีภาวะมาด้วยแขนขา อ่อนแรง หรือมีอาการชา ทำให้เป็นอันตรายถึงกับชีวิตได้
ผลข้างเคียงของภาวะไขมันเลือดสูง
ภาวะไขมันในเลือดสูง มักจะพบร่วมกับโรคเบาหวาน และเป็นภาวะที่มีระดับกลุ่มไขมันเลว (LDL) สูง ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยช่วยส่งเสริมทำให้เกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ไขมันที่สูงมักจะเป็น คอเลสเตอรอล ไขมันเลว และ ไตรกลีเซอไรด์ และแน่นอน ถ้าเราสามารถลดไขมันในเลือดได้ เท่ากับว่า เราลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดแข็งตัว (Atherosclerosis) นั่นเอง
แล้วผู้ป่วยเบาหวาน มักมีไขมันประเภทไหน สูง หล่ะ ?
แน่นอน ความผิดปกติของไขมัน ถือเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย ทั้งโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 และเป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน ระดับความผิดปกติของไขมัน จะขึ้นกับการควบคุมเบาหวานว่าสามารถคุมได้ดีเพียงใด หากควบคุมน้ำตาลได้ดี ระดับไขมันก็จะดีไปด้วยจะมีระดับใกล้เคียงค่าปกติ และถ้าหากควบคุมไม่ดี ก็จะมีระดับไขมันสูง โดยถ้าสังเกต ระดับไขมันที่มักพบว่าสูง จะพบว่า ไตรกลีเซอไรด์ สูง และระดับไขมันดี (HDL) ต่ำ ซึ่งแก้ไขโดยการควบคุมเบาหวานให้ดี ส่วนผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 ความผิดปกติของระดับไขมัน มีความสัมพันธ์กับภาวะดื้อต่ออินซูลิน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ระดับ ไตรกลีเซอไรด์ ต่ำกว่า 400 มก. และระดับ ไตรกลีเซอไรด์ที่สูง พบว่ามีความสัมพันธ์ และเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
ถ้าออกกำลังกาย จะช่วยลดไขมันชนิดไหน ?
แน่นอน ไม่ใช่เพียงแค่ลดไขมันหน้าท้อง (ซึ่งไม่เกี่ยวกับไขมันในหลอดเลือด) การออกกำลังกายในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน (อ้วน) จะช่วยลดไขมันประเภท ไตรกลีเซอไรด์ , ไขมันเลว (LDL) ได้ 15 – 25 % และเพิ่มระดับไขมันดี อีกด้วย
เมื่อไขมันในเลือดสูง ควรเลี่ยงอะไรบ้าง ?
- งด ลด การกินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันสัตว์ สมองสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเล หอยนางรม ปลาหมึก กุ้ง หนังเป็ด หนังไก่ มะพร้าว อาหารที่มีกะทิมาก พวกแกงกะทิต่าง ๆ หากมีไตรกลีเซอไรด์ สูงด้วย ควรเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง เครื่องดื่มที่มีรสหวาน เช่น ชานมไข่มุก น้ำหวาน และผลไม้รสหวาน
- ลด การดื่มเหล้าแอลกอฮอล์ เบียร์ เพราะมีฤทธ์สะสมไขมันตามเนื้อเยื่อ
- ลด เครื่องปรุงด้วยน้ำมันจากสัตว์ ควรใช้น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันมะกอก แทนในการผัดกับข้าว หรือน้ำมันที่มีไขมันต่ำในการปรุงอาหาร
- งด การสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้ ไขมันดี (HDL) ในเลือดต่ำลง เพราะบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด
EP.173 : 5 อาหารคนป่วยเบาหวาน ควรระมัดระวังและต้องหลีกเลี่ยง
อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า “เป็นเบาหวาน ยิ่งต้องระวังระดับไขมันในเลือด และ ถ้าเกิดไขมันในเลือดสูง ยิ่งต้องระวังจะเป็นเบาหวาน” ด้วย ดังนั้น อยากจะเน้นให้มีการออกกำลังกาย เพราะถือเป็นยารักษาเบาหวาน เพราะการออกกำลังกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น ช่วยทำให้เซลล์ไวต่ออินซูลิน แถมยังช่วยลดไขมันเลวในเลือดอีกด้วย และอย่าลืมเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เลี่ยงของมัน เพิ่มทานเป็นพวกกลุ่มผัก ถั่ว เนื้อปลา จะดีมากเลยค่ะ พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
……………………………..
(เครดิต : Are High Cholesterol and Diabetes related ?, www.diabetes.org.uk, How do Diabeteics get rid of cholesterol ? www.heart.org.com, Managing High Cholesterol When You Have Diabetes, www.verywellhealth.com, ram-hosp.co.th/news_detail/1248, www.samitivejhospitals.com,
บทความสุขภาพที่น่าสนใจ
EP. 190 : ภาวะไขมันในเลือดสูง จากกรรมพันธุ์ ภัยร้ายซ่อนเงียบ !