แค่งานก็เหนื่อยจะแย่แล้ว ยังต้องมาคอยคิดอีกว่าคนนั้นไม่ถูกกับคนนี้ แต่คนนี้มาใช้เราไปทำเรื่องกับคนนั้น สมัยผมเป็นเป็นพนักงานบริษัท สิ่งที่น่าเบื่อที่สุดเลยไม่พ้นเมื่อต้องเจอกับการเมืองในที่ทำงาน
หลายๆครั้ง ที่เราอยู่ตรงกลางก็ต้องคอยคิดคำพูด และวิธีการเพื่อเอาตัวให้รอดจากสถานการณ์ที่ต้องเจอเวลาต้องประสานงานกับคนที่เค้าไม่ถูกกัน
เรื่องที่มันควรจะเร็วเลยต้องช้า เรื่องที่ควรจะเล็กกลายเป็นใหญ่ บริษัทใหญ่ก็มีการเมืองแบบบริษัทใหญ่ บริษัทเล็กก็มีแบบเล็กๆของตัวเอง แต่ที่แน่ๆ คือ ดูไร้สาระ เปลืองสมองและเวลาอย่างยิ่ง
ทักษะด้านการเมือง เป็นคนละอย่างกับ ทักษะเรื่องคนนะครับ (เช่นทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือทักษะการเข้าอกเข้าใจ) สองอย่างนี้เป็นเรื่องเดียวกันแต่อยู่คนละด้าน คือทักษะเรื่องคนอยู่ด้านบวก ส่วนการเมืองอยู่ด้านตรงกันข้าม
เนื่องจากผมเคยทำงานเป็นลูกจ้างตั้งแต่เป็นพนักงานปฏิบัติการไปจนถึงเป็นระดับบริหารเข้าประชุมร่วมกับบอร์ดและผู้บริการระดับสูง เลยค้นพบว่าการเมืองในที่ทำงานแต่ละออฟฟิศนั้นถึงจะไม่เหมือนกัน แต่จะมาจากสาเหตุคล้ายๆกัน
พอได้ทำบริษัทตัวเอง ผมเคยสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงที่จะเชิญมาจากบริษัทระดับใหญ่ ว่าคิดยังไงกับการเมืองในออฟฟิศ
คำตอบที่ผมได้รับคือ บริษัทไหนไม่มีการเมืองมันไม่มีหรอก มีทุกที่แหละ
ประโยคนี้ทำให้ผมเอามาคิดกระบวนการวิศวกรรมย้อนกลับว่า งั้นถ้าเราจะไม่ให้มีการเมืองในบริษัทล่ะ ต้องทำยังไง
หลังจากผ่านประสบการณ์การทำงานมาพอสมควร ผมเลยได้ค้นพบต้นเหตุที่นำมาถึงหลัก 5 ข้อ ว่าการทำให้บริษัทปราศจากการเมืองนั้นต้องทำยังไง
1.อย่าแต่งตั้งคนที่ความสามารถไม่ถึงเป็นหัวหน้า
คนทำงานถ้าไม่ใช่เจ้าของจริงๆ นั้นแต่งตั้งตัวเองไม่ได้ การจะมาเป็นหัวหน้าคนอื่นได้นั้นต้องถูกแต่งตั้งมา หรือรับเข้ามาใหม่ การแต่งตั้งคนที่ความสามารถมีไม่มากพอ จะบีบบังคับให้เขาต้องเอาตัวรอดด้วยวิธีการอื่นเพื่อสร้างผลงาน ซึ่งอาจรวมไปถึงการสร้างเครือข่ายหรือกลุ่มก๊วน ซึ่งที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่ระบบพวกชั้นพวกเธอ กลายเป็นระบบการเมืองไปโดยปริยาย
2.การทำงานคือระบบห่วงโซ่ ดังนั้นไม่ควรมีคนว่าง
การทำงานของระบบส่งต่องานเพื่อเพิ่มมูลค่า (create value-added) นั้นการเมืองในที่ทำงานจะเกิดขึ้นเมื่อมี นายเอ ทำงานน้อยกว่า นายบี โดยทั้งคู่อยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดเงื่อนไขเปรียบเทียบ, การเรียกร้องขอความเห็นใจและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
หรือบางแห่ง มีตำแหน่งในระดับบริหารมากเกินไป เช่นบางบริษัทมีตำแหน่งผู้ช่วยหรือรองประธานหลายคนแต่ส่วนใหญ่ทำงานอะไรไม่รู้มีแต่เดินไปเดินมา ไม่เคยเข้าใจและนำรายละเอียดเข้าที่ถูกต้องจริงๆ เข้าที่ประชุม โดยคนทำงานจริงๆไม่เคยได้ลืมตาอ้าปากนำเสนอว่าปัญหาที่ต้องแก้จริงๆคืออะไร
เรื่องปริมาณงานนั้น มีความเป็นศิลป์มากกว่าศาสตร์อยู่นิดหน่อย เพราะปริมาณงานในความเป็นจริงโดยเฉพาะในออฟฟิศนั้นมักไม่สามารถตีออกมาเป็นตัวเลขได้ชัดๆ
ทั้งนี้ การเมืองในที่ทำงานมักจะเกิดในสถานการณ์ที่คนหนึ่งทำงานน้อยกว่าอีกคน ไม่ใช่เพราะประสิทธิภาพ นายเอ ดีกว่า นายบี
กลับกัน การแข่งขันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสมาชิกในทีมกลับเป็นการสร้างผลในด้านบวกให้กับบริษัทมากกว่าจะสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเมืองในองค์กร ภายใต้เงื่อนไขว่าการแต่งตั้งคนที่ไม่มีความสามารถตามข้อ 1 ต้องไม่มี
3.ผู้บริหารระดับสูงมุ่งสนใจแต่ภาพรวมและละเลยรายละเอียด
การปล่อยปละรายละเอียดแล้วมุ่งแต่จะเอาผลที่ต้องการนั้น จะเป็นเชื้อชั้นดีให้ทีมงานรวมหัวกันตั้งแก๊งค์ในการเต้าผลงานขึ้นมาอย่างเป็นขบวนการ และสร้างวัฒนธรรมถ้าแกเป็นคนดีมากก็ไม่ต้องมาเข้าพวกขึ้นมา คนดีๆก็อยู่ไม่ไหว ไอ้ที่ยังอยู่ก็สนแต่ทำผลงานให้ถูกใจนาย รู้อีกทีก็แผลระเบิด ตามแก้ไขกันไม่ไหว ส่วนบรรดาแก๊งค์เต็มที่ก็หนีไปสมัครงานกับบริษัทคู่แข่ง ทิ้งปัญหาให้คนอื่นต้องตามแก้ต่อไป
4.มีวัฒนธรรมเป้าหมายองค์กรสำคัญน้อยกว่า เป้าหมายส่วนตัว
ปัญหาเรื่องนี้ มาได้จาก 3 สาเหตุคือ
4.1 การสื่อสารเป้าหมายส่วนรวมไม่ดี หรือไม่ชัดเจน วัฒนธรรมการมีเป้าหมายร่วมกันจึงไม่เกิด
4.2 ระบบการจัดการเรื่องระหว่างแผนกทั้งระบบงานและเป้าหมายภายในไม่เอื้อให้เกิดความสำเร็จแล้วเป็นผลงานร่วมกัน คนเลยมุ่งกอดแต่เป้าหมายของตัวเองเป็นใหญ่
4.3 เป้าหมายส่วนตัวถูกตั้งมาสูงลิบลิ่วและลงรายละเอียดมากจนเกินไป จนทำให้คนทำงานจับต้นชนปลายการทำผลงานไม่ถูก
ผมเคยอยู่ในบริษัทที่ผู้บริหารระดับสูงสุดของต่างสายธุรกิจต่างมีประเด็นในเรื่องการรับรู้รายได้ว่าต้องเข้าเป็นผลงานของใครในเกือบทุกครั้งที่มีการประชุม แถมยังโจมตีลับหลังกันว่าใครแอบขายอะไร ซึ่งสร้างความเวียนหัวให้คนทำงาน แถมทำให้พนักงานน้องน้อยๆ ต่างสงสัยว่าด้วยเหตุอะไรที่ต้องมาแย่งกันก็ในเมื่อยอดขายทั้งหมดมันก็เข้ามาหล่อเลี้ยงองค์กรเราทุกคน
นอกจากนี้เวลาช้างสารอย่างผู้บริหารระดับสูงรบกันที หญ้าแพรกอย่างน้องๆ พนักงานอายุน้อยๆ ก็ได้แต่ภาวนาว่าประชุมให้จบๆซักที จะได้แยกย้ายไปทำงาน
5.Virtual distances ข้อนี้ลองกูเกิลกันดูได้ครับ มันประกอบไปด้วย affinity, physical และ operational distances
แปลตรงๆ ตัวก็คือ “ความห่าง” แต่ผมจะสรุปแบบง่ายๆ ว่ามันคือการที่คนทำงานเห็นหรือไม่เห็นคนทำงานด้วยกัน
อธิบายลงรายละเอียดว่าทำไมความห่างจึงเป็นสาเหตุของการเมือง
ก็เพราะคนทำงานโดยทั่วๆไป มักจะคิดว่า แผนกตัวเองนั้นทำงานเต็มที่และทุ่มเทเพื่อให้งานออกมาดี แต่เมื่อส่งต่องานไปยังแผนกอื่นแล้วงานไม่ไหลลื่นอย่างที่หวัง ก็มักจะคิดเหมาว่าเพราะแผนกอื่นไม่ทุ่มเทและทำงานให้ดีอย่างเรา มีแต่เราที่เต็มที่และรักองค์กร
ยิ่งอยู่ห่างๆกัน ไม่เห็นกันว่าอีกแผนกมันทำงานรึเปล่านานวันเข้าก็เลยมีมุ้ง มีก๊วน จับกลุ่มกันว่าพวกแก พวกฉัน แผนกฉันสิเต็มที่ แผนกนั้นมันทำไรก็ไม่รู้
ระยะห่างในทางกายภาพเลยสร้างระยะห่างในด้านอื่นๆ ตามมาด้วย
อย่างไรก็ดี การเอาทุกคนมานั่งรวมกันก็จะแทบไม่มีประโยชน์เลย หากไม่สามารถทำให้ข้อ 1-4 เกิดขึ้นได้
เพิ่มเติม:
การเมืองเป็นเรื่องน่ารังเกียจเมื่อมันถูกใช้ไปเพื่อเป้าหมายส่วนตัวเป็นใหญ่ โดยละเลยเป้าหมายส่วนรวม
และระดับความเข้มข้นของการเมืองภายในองค์กรก็มักเป็นตัวเร่งอย่างหนึ่งที่ทำให้องค์กรจะสามารถดึงดูดและเก็บคนเก่งไว้และทำให้อยู่ได้นานและยั่งยืนได้หรือไม่
ยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่มองหาความ
ชัดเจน รวดเร็ว ได้ผล มากกว่าคำพูดสวยหรู การประสานงานที่เยิ่นเย้อ แต่ขาดแคลนประสิทธิภาพ
วัฒนธรรมองค์กรที่ดีนั้น ทุกคนในองค์กรนั้นมีส่วนสำคัญเสมอในการร่วมมือสร้าง ซึ่งไม่สามารถใช้เวลาสร้างในชั่วข้ามคืน แต่ต้องค่อยต่อเติม แก้ไข และปรับปรุงร่วมกันไปเรื่อยๆ
สุดท้าย จะสร้างสรรค์ที่ทำงานให้เป็นครอบครัว เป็นทีมกีฬา เป็นสภาการเมือง หรือจะเป็นสมรภูมิรบ ผู้นำองค์กรนั้นมีส่วนสำคัญมากที่สุดในการริเริ่มและส่งเสริม รวมไปถึงคัดเลือกทีมงานและประเมินผลเพื่อให้คงประสิทธิภาพองค์กรไว้ได้ หากไม่ใส่ใจในเรื่องนี้วันหนึ่งก็อาจทำให้องค์กรกลายเป็นเหมือนราชการที่มีระบบ แต่เต็มไปด้วยการเมืองแทรกแซง ทำให้พัฒนาได้ไม่ทันกับยุคสมัยครับ
#ThomasHongpakdee
#คิดแบบSTARTUP
#ทำอย่างSME
#มีระบบแบบมหาชน
=================