a
ครั้งหนึ่งที่ผมลงจากเวทีการเสวนาให้กับหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งแล้วเจอน้องอายุ 25 มารอถามว่า พี่ๆๆๆ อยากรู้จัง ตอนอายุเท่าหนูพี่ตั้งเป้าหมายชีวิตมั๊ยก่อนจะพูดถึงคำตอบที่มีต่อคำถามนี้ ผมอยากชวนให้ลองคิดตามดูครับ ว่าสิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างยุคก่อนกับหลังการเกิดขึ้นของ social media คือ เรามักให้คุณค่ากับผลปลายทาง มากกว่าวิธีการเดินทางเพื่อไปให้ถึง
ซึ่งจริงๆ แล้วน้องๆ รุ่นใหม่ก็ไม่ผิดที่จะคิดเอาเป้าหมายปลายทางเป็นที่ตั้ง ก็เพราะสิ่งที่เห็นคนบนสื่อโซเชี่ยลต่างๆ นั้นมักสื่อให้เห็นปลายทางที่สำเร็จแล้ว มีไม่มากนักที่จะเอาเรื่องที่ตัวเองทำแล้วผิด ทำแล้วพลาดมาบอกคนอื่น
ตอนผมอายุประมาณ 25 ถ้าพอจำได้ก็คิดวนๆ อยู่แค่ไม่กี่อย่างเลย กะๆเอาน่าจะเป็นประมาณว่า
- ทำยังไงให้ตัวเองวันนี้ดีกว่าเมื่อวาน
- จะหาที่เรียนรู้จากใครและที่ไหนดี
- เดือนนี้จะกิน MK ได้กี่มื้อ (ฮา)
ส่วนที่คิดว่าจะต้องมีเงินกี่ล้าน ต้องซื้อบ้านกี่หลัง รถกี่คันนี่เอาจริงๆ แทบไม่มีในหัว เอาแค่ว่าถึงเวลาอยากได้แล้วเงินยังไม่พอก็ยับยั้งชั่งใจ เอาความจำเป็นกับความอยากได้มาประลองกำลังกัน ก็ทำให้ถูไถประหยัดเก็บเงินไว้ได้
บางทีในช่วงเวลาอายุยังไม่มาก การหัดใช้ชีวิตพัฒนาทีละนิดไปวันๆบ้างก็อาจจะมีข้อดีเหมือนกัน คือไม่ต้องคิดไกลแต่โฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเป็นเรื่องๆ ไป แล้วทำมันให้ดี น่าจะดีกว่าการตั้งเป้าว่าต้องมีร้อยล้านภายในอายุเท่าไหร่ แล้วก็มาเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นว่าแล้วตัวเองทำงานเดือนนึงได้หมื่นกว่าบาทจะรวยแบบเค้าได้ยังไงทำให้เครียดและซึมเศร้าเอาง่ายๆ
การพัฒนาทีละนิดถ้าใครคิดว่าไม่เวิร์ค ลองดูวิธีคิดของคนญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าแห่งการพัฒนาประสิทธิภาพดูนะครับ
ชาวญี่ปุ่นมีหลักคิดที่เรียกว่า Kaizen ที่บอกว่า ทำให้ดีขึ้นทุกวัน สมมติว่าถ้าเราสามารถทำบางสิ่งให้ดีขึ้นได้ทุกวันๆ ละ 1%
ซึ่งถ้าใช้รอบ 1 ปีคำนวณออกมาก็จะมีค่าเท่ากับ 1.01 ยกกำลัง 360 = 36 เท่า (อนุญาตให้ขี้เกียจได้ 5 วันต่อปี)
คือถ้าทำงานได้ประสิทธิภาพดีกว่าเมื่อวานทุกวันๆ ละ 1% ติดต่อกัน 360 วัน สิ้นปีคุณจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น 3600%
ในขณะที่ถ้าประสิทธิภาพคุณลดลงวันละ 1%
ถ้าคำนวณออกมาก็คือ 0.99 ยกกำลัง 360 = 33 เท่า (ฮึดขึ้นมาขยันได้ 5 วันต่อปี) คือถ้าทำอะไรให้แย่ลงทุกวันๆ ละ 1% สิ้นปีประสิทธิภาพคุณจะลดลงถึง 3300%
ระหว่างคนที่พัฒนาขึ้นทุกวัน กับคนที่พัฒนาลงทุกวันในอัตราส่วนที่เท่ากัน สองคนนี้จะมีความแตกต่างของประสิทธิภาพโดยคิดแบบง่ายๆ ก็คือ 3,600% + 3,300% = 6,900% เลยทีเดียว
ซึ่งนี่อาจจะเป็นความลับที่ทำให้นักฟุตบอลคนหนึ่งสามารถพัฒนาจนกลายเป็นโรนัลโด้และเมสซี่ที่โลกรู้จัก ทำให้นักมวยโนเนมคนหนึ่งกลายเป็นเขาทรายแกแล็กซี่ หรือเด็กตัวเล็กๆ จากต่างจังหวัดคนหนึ่งกลายเป็นเจชนาธิปที่เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ
ตอนผมทำงาน คิดแค่ว่าขอให้ได้ทำงานกับผู้บริหารเก่งๆ ให้มากที่สุด บางอย่างเค้าสอนก็จด หลายอย่างก็ครูพักลักจำ ปีหนึ่งๆ สมุดจดของผมจะจดข้อมูลได้หนาเป็นร้อยๆ หน้า ผมจำได้ว่าผมจดเก่งมากและจดแทบทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่เกิดในการประชุมจนเรียกว่าต่อให้เป็นการประชุมแบบคนเข้าร่วมเป็นสิบคนแล้วแย่งกันพูดก็ยังแทบจะสามารถจดได้เกือบทุกคำพูด และไม่ต้องใช้เครื่องอัดเสียงช่วย คือพัฒนาสกิลการจดได้ดีขนาดนั้น
ไอ้การฟังแล้วจดเกือบทุกอย่างทุกวันเลยเหมือนการพัฒนาวันละ 1% ของผม จากตอนเริ่มทำงานที่ก็ไม่ได้พกความเก่งอะไรเข้ามาในบริษัทจนทำให้สามารถทำงานกับผู้บริหารได้ และทำให้เรามีระบบความคิดที่เป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น
พอคิดอะไรเป็นขั้นเป็นตอนมันก็ทำให้ใจเย็น ไม่ตื่นเต้นกับอะไรง่ายๆ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี คือผมคิดว่าผมไม่ใช่คนเก่งอะไรนัก แต่ภายใต้บางปัจจัยนั้นผมมักนิ่งได้กับสถานการณ์ที่ลูกน้องเราสติหลุดไปแล้ว ซึ่งสุดท้ายการรู้จักนิ่งให้ได้นั้นมักให้ผลดีในที่สุดเสมอๆ
ถ้าคิดอะไรเป็นขั้นเป็นตอนได้แล้ว การตั้งเป้าหมายในชีวิตน่าจะเห็นภาพง่ายขึ้นเยอะ แล้วทำให้ยังไม่ต้องมีเงินมากๆ ก็มีความสุขได้
ถ้าเราจะตั้งเป้าหมายกับอะไรซักอย่าง ลองตั้งเป้าให้ตัวเองวันนี้ดีขึ้นไม่น้อยกว่า 1% ของเมื่อวาน น่าจะเป็นเป้าหมายที่ง่าย และสร้างความสุขแก่การเดินทางให้แก่ชีวิตของเราได้มากที่สุด เพราะการตั้งเป้าแบบนี้มันเห็นผลง่าย และก็เอนจอยกับมันได้ทุกวัน ทำให้ชีวิตไม่ต้องไปผูกติดกับอะไรให้ต้องวิตกจริตถ้ามันยังไม่ได้ซักที เช่น บ้าน รถ กิจการ หรือทรัพย์สินต่างๆ
ไม่ต้องโฟกัสว่าแข่งกับใครแต่มุ่งพัฒนาตัวเอง แล้วสุดท้ายผมว่าธรรมชาติจะจัดสรรสิ่งที่ดีและเหมาะกับเราเข้ามาให้ ถึงวันนั้นก็อยู่ที่เราว่าดีพอและมีความสามารถในการจะคว้ามันไว้ได้ไหม
ผมอยากให้ลองตั้งคำถามดูว่า ระหว่างการเป็นคนมีความสุขจากการพัฒนาขึ้น กับคนมีความสุขจากการพัฒนาลง ที่ประสิทธิภาพห่างกันถึง 6,900% นี้ เราอยากเป็นคนในด้านไหนมากกว่ากัน ย้ำว่าทั้งสองด้านก็สามารถมีความสุขได้เช่นกันในแบบของตนเองครับ
วันนี้มีให้สัมภาษณ์ให้กับหน่วยงานของรัฐอีกครั้งแล้วเจอคำถามคล้ายๆกัน แต่คราวนี้เป็นธนาคารก็เลยนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาครับ
……….