ข่าวใหญ่ที่จะกลายเป็นตำนานอีกหน้าหนึ่งอย่างแน่นอนของวงการธุรกิจและธนาคารไทย คือการแถลงข่าวจัดตั้งบริษัท SCB x ที่ CEO คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ย้ำหลายรอบว่านี่ไม่ใช่การจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งแบบที่มีกระแสข่าวหลุดออกมาในช่วงวันสองวันมานี้ แต่จะเป็นการนำเอาธนาคาร SCB delist (ถอด) ออกจากตลาดหลักทรัพย์ แล้วแทนที่ด้วย SCB x โดยจะยังใช้ตัวย่อเดิมคือ SCB แต่ธนาคารจะถูกถือหุ้นโดย SCB x แทน และผู้ถือหุ้นเดิมจะถูกขออนุมัติทำ share swap ให้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใน SCB x แทน
ซึ่งในฐานะที่ธนาคาร SCB เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างขนาดใหญ่แบบนี้ จะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 90% และจะมีกระบวนการต่างๆ ที่ต้องจัดทำและคาดว่าจะเรียบร้อยต้องเป็นปีหน้า
อย่างไรก็ตามสาระสำคัญที่ทุกคนรวมถึงผมที่ได้รับเชิญเข้าร่วมในงานแถลงข่าวครั้งนี้ด้วยสนใจเป็นสำคัญก็คือ การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่นี้จะเริ่มอย่างไร และมีเป้าหมายเพื่ออะไร
ก้าวของการปรับเปลี่ยนนี้ SCB จะจัดการการแตกธุรกิจต่างๆ ออกมากลายเป็นบริษัทย่อยๆ ภายใต้ชายคาของ SCB x โดยในการแถลงข่าวคุณอาทิตย์บอกว่ามีตอนนี้แล้ว 15 บริษัท และจะตามมาอีกเรื่อยๆ เช่น
AISCB ที่ร่วมทุนกับ AIS จะทำเรื่อง digital lending
Alpha X ทำเรื่องลีสซิ่งรถยนต์ระดับหรูหรา
SCB Tech X ที่ร่วมทุนกับบริษัทเทคฯ ระดับโลกอย่าง Sapiens
Card X ที่ทำธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อรายย่อย
และอีกมากมายเช่น Auto X, Token X, Robinhood, Digital Ventures, Monix
โดยมีเป้าหมายคือคาดหวังการเติบโต 3 ด้านคือ
Growth ที่ 1 – เข้าไปทำธุรกิจในน่านน้ำใหม่ๆ ที่ยังเป็น blue ocean
Growth ที่ 2 – เข้าไปหาโอกาสการเติบโตจากการสร้าง platform ต่างๆ อย่างเช่น Robinhood เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าการมาของ platform ต่างประเทศนั้นผู้เล่น local ลำพังไม่สามารถต่อกรได้ในระยะยาว
Growth ที่ 3 – การสร้างโอกาสผ่าน digital asset และ infra หรือ การลงทุนต่างๆ
ภายใต้ Vision ใหม่ที่ตั้งไว้คือ “The most admired Financial Technology Group”
โดยหากกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถสร้างให้เกิดการเติบโตได้สำเร็จ สิ่งที่คาดหวังใน 5 ปีข้างหน้าคือ
1.เพิ่มจำนวนลูกค้าจากเดิม 16 ล้านรายให้เป็น 200 ล้านราย
2.มูลค่าตลาด (market cap) ไปแตะที่ 1 ล้านล้านบาท
จากนั้นมีการเปิดให้สื่อมวลชนที่เข้ามาฟังการแถลงข่าวได้ถามคำถาม จากที่ตอนแรกผมคิดว่าเป็นข่าวการจับมือกับ AIS ก็เลยไม่ได้เตรียมเสื้อผ้าหน้าผมให้พร้อมออกกล้องแต่อย่างใด แต่พอฟังไปถึงช่วงกลางเลยต้องรีบไปหยิบหมวกมาใส่เพื่อเปิดกล้องถามคำถามคุณอาทิตย์ โชคดีทันถามเป็นคนสุดท้ายพอดี โดยผมถามว่า
“แล้วการปรับเปลี่ยนองค์กรขนานใหญ่นี้ของ SCB มีสิ่งใดที่ SME ซึ่งมีจำนวน 3 ล้านรายต้องรู้ และ SCB ยังคงให้ความสำคัญกับ SME เหมือนที่ผ่านมาหรือไม่”
คำตอบของคุณอาทิตย์น่าจะถูกใจหลายท่าน เพราะการปรับเปลี่ยนที่น่าจะเป็นการ transform บริษัทจากการเป็นธนาคารไปสู่การเป็น tech company เต็มรูปแบบนี้ ก็เพื่อเป็นการช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่สำคัญ เพื่อสร้างโอกาสให้เข้าถึง SME ได้มากขึ้น รวมถึงเป็นโอกาสให้ SME ก็สามารถมาร่วมใช้เทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้เพื่อ transform องค์กรให้สามารถอยู่รอดไปได้ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้
ซึ่งหลังจากจบคำถามของผมซึ่งเป็นคำถามสุดท้ายก่อนปิดการแถลงข่าวนี้ ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า
“Who says elephant can’t dance?” ของ Louis Gerstner, Jr.
ใครว่าช้างเต้นรำไม่ได้
แต่สำหรับการทรานส์ฟอร์มครั้งนี้ SCB ดูแล้วไม่ใช่แค่อยากลุกมาเต้น แต่เหมือนอยากจะลุกมาบินเลยด้วยซ้ำครับ