ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมได้เห็นความสำเร็จของคนไทยหลายคน ที่ปลุกปั้นความฝันของตัวเองจนสำเร็จซึ่งต้องชื่นชมเป็นอย่างยิ่งในความพยายามต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคและความพ่ายแพ้ล้มเหลวจนก้าวมาประสบความสำเร็จได้จนเป็นข่าวที่เราได้เห็น
.
ตั้งแต่คุณคมสันต์ ลี CEO ของ Flash Express ที่ระดมทุนสำเร็จจนได้เป็นยูนิคอร์นตัวแรกของวงการสตาร์ทอัพเมืองไทย หรือความสำเร็จในวงการ K-POP ของน้องลิซ่า Blackpink สาวไทยที่กลายเป็นไอด้อลคนดังระดับโลก รวมไปถึงความสำเร็จของคุณท้อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้สร้าง Bitkub สตาร์ทอัพแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลสัญชาติไทยจนเป็นที่ยอมรับ และล่าสุดทาง SCB ก็ได้เข้าถือหุ้นเป็นที่เรียบร้อย
.
น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเขาล้วนแต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุไม่ถึง 40 ปี แต่กลับประสบความสำเร็จบนเส้นทางของตัวเอง แต่พอพูดมาถึงตรงนี้ ก็มีบางครั้งที่ตัวผมเอง หรืออาจจะหลายคนก็อาจจะย้อนกลับมามองตัวเอง และเริ่มย้อนถามว่า “แล้วตัวเราล่ะ”
ส่วนตัวผมนั้นคิดว่า ความสำเร็จเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดีเสมอ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จของตัวเราเอง หรือความสำเร็จของคนอื่น แต่ทุกคนเคยลองสำรวจความรู้สึกของตัวเองบ้างไหมว่า บางครั้งคนเราก็ชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของคนอื่นมากเสียจนรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ สิ่งที่เราทำสำเร็จนั้นยังเทียบไม่ได้กับความสำเร็จของคนอื่น และความรู้สึกเหล่านั้นค่อย ๆ กลืนกินความภาคภูมิใจในตัวเองไปทีละนิด จนกดดันและไม่มีความสุขกับชีวิตไปเสียอย่างนั้น
.
หากคุณยังปล่อยให้ความรู้สึกดังกล่าวทำร้ายตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ ท้ายที่สุด คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่กำลังจะตกอยู่ในภาวะด้อยค่าตนเอง (Low-self esteem) ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสภาพจิตใจของเราในระยะยาว นำไปสู่ความเครียด และเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้เลยทีเดียว…ถ้าเราไม่อยากรู้สึกกับตัวเองแบบนั้นล่ะ เราจะทำอย่างไรดี
.
หากคุณรู้สึกตัวเองด้อยค่าเมื่อเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จหรือเก่งกว่า ผมมองว่าทัศนคติอย่างแรกที่เราอาจต้องรีบพัฒนามันขึ้นมาให้เร็วที่สุดก็คือ ยอมรับว่าบนโลกใบนี้มีคนเก่งอยู่อีกมากมาย ทุกคนมีความโดดเด่นแตกต่างกัน เราจึงไม่ควรเอาความเก่งของคนอื่นมาเหยียบย่ำตัวเราเอง แต่ควรกล้าที่จะแข่งขันกับตัวเอง ยอมรับในความผิดพลาด ความไม่รู้ของตัวเอง ขณะเดียวกันก็พร้อมชื่นชนยินดีกับความตั้งใจจริง และสิ่งที่ตัวเราเองทำสำเร็จในทุก ๆ เรื่อง
.
เอาเข้าจริง ๆ แล้ว เวลาเรามองความสำเร็จของคนอื่นอย่างชื่นชม เราอาจลืมมองไปเลยว่า กว่าพวกเขาเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จอย่างที่เราเห็น พวกเขาผ่านความทุ่มเท ความมุมานะ หรือความเจ็บปวดอะไรมาบ้าง และคุณเชื่อไหมครับว่า ทุกคนที่ประสบความสำเร็จบนโลกนี้ ต่างก็ตกอยู่ในภาวะ “Impostor Syndrome” หรืออาการคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองซุกซ่อนอยู่ในใจด้วยกันทั้งนั้น
ผมจึงมองว่าจริง ๆ แล้วคนเราอาจกำจัด Imposter Syndrome ที่เกิดขึ้นกับตัวเองไม่ได้เลยทั้งหมด แต่เราจะอยู่ร่วมและจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้นอย่างไร นั่นคือสิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งผมเชื่อว่า ทัศนคติเชิงบวกและความรักในตัวเองคือหัวใจสำคัญของการค้นหาและสร้างคุณค่าให้ตัวเอง
.
หากสรุปสิ่งที่เราจะเอามารับมือกับความรู้สึกของตัวเราเองเมื่อเห็นความสำเร็จของผู้อื่น ผมเอามาเรียงเป็นหัวข้อเป็นการยกตัวอย่างได้ดังนี้ครับ.
.
1.หัดชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของคนอื่นเสมือนความสำเร็จของเราเอง : เมื่อเราเห็นความสำเร็จของคนอื่น เราควรยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาเหล่านั้นด้วยความจริงใจ ชื่นชมกับสิ่งที่เป็นความสำเร็จปลายทางนั้นให้น้อยที่สุด แต่ควรใส่ใจความทุ่มเทเบื้องหลังของพวกเขาให้มากขึ้น ใช้มันเป็นพลังให้เราพร้อมที่จะทุ่มเทเพื่อความสำเร็จของตัวเองบ้างเช่นกัน เพราะมีแค่การลงมือทำ ความทุ่มเทและตั้งใจจริงเท่านั้นที่ทำให้คนเราประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ไม่ใช่ความเก่ง
.
2.ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น : มองให้เห็นความจริงที่ว่า ทุกคนมีจุดเด่น-จุดด้อยแตกต่างกัน มีความถนัดความสามารถไม่เท่ากัน แทนที่เราคิดจะพัฒนาตัวเองเพื่อให้เก่งเท่าคนอื่น ลองปรับ Mindset ใหม่ว่า เราจะพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น เพื่อให้เราเก่งกว่าตัวเราในอดีต มองย้อนไปเห็นตัวเองดีขึ้นกว่าเดิมแล้วรู้สึกชื่นชม รักตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม
.
3.ยอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น : การบีบคั้นความสำเร็จ ความสมหวังดังใจอย่างไม่ละวาง อาจไม่ได้แลกมาด้วยความสุขอย่างที่คิด ดังนั้น เราต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับว่า “ความผิดพลาด” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อเกิดแล้วการเสียใจ ผิดหวังก็ไม่ใช่เรื่องผิด คนเราควรให้เวลากับการปลดปล่อยความรู้สึกด้านลบเหล่านั้นออกมา หลังจากนั้นจึงค่อยก้าวไปข้างหน้าเพื่อเผชิญสิ่งใหม่ต่อไป ทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิม แล้วอย่าเอาความผิดพลาดมาเป็นหินก้อนใหญ่ที่ถ่วงความกล้าที่จะมูฟออนของเรา
.
4.ชื่นชมตัวเองให้มากขึ้น : การพยายามค้นหาจุดเด่นของตัวเองมากเกินไป ไม่ต่างจากการบีบคั้นและกดดันตัวเอง ซึ่งท้ายที่สุด เราก็อาจหลีกหนีไม่พ้นภาวะด้อยค่าตนเอง ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เราควรทำ คือการชื่นชนตัวเองให้มากขึ้นในทุกวัน โดยเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราทำได้ สิ่งที่เรากำลังคิดจะทำเพื่อพัฒนาตัวเอง หรือสิ่งที่เราทำให้คนอื่นมีความสุขได้ ผมเคยแอบคิดเล่น ๆ ว่า บางครั้งคนที่ดูประสบความสำเร็จมาก ๆ ในยุคนี้อย่างอีลอน มัสก์ อาจเริ่มต้นจากการชื่นชมในตัวเอง เชื่อมั่นว่ามุมมองหรือแนวคิดของตัวเองเป็นไปได้เสมอ อย่าง Paypal, ระบบขับเคลื่อนอัจฉริยะของ Tesla หรือแม้แต่ระบบขนส่งแบบ Hyperloop ต่อให้บางเรื่องมันจะล้ำมาก ๆ ซะจนเราไม่อยากเชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่ผู้ชายคนนี้ก็ไม่เคยหยุดคิด หยุดลงมือทำ แต่เขากลับนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ให้คนทั่วโลกฮือฮาได้เสมอ
.
สุดท้ายนี้ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรถ้าเราจะรู้สึกว่าตัวเองยังทำอะไร ๆ ได้ไม่ดีพอ แต่การรู้เท่าทันความรู้สึกนั้น แล้วเดินหน้าพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นต่อไป จะช่วยให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ด้อยค่า แม้ว่าจะผิดหวังบ้าง ท้อบ้าง ก็ขอให้คนที่จะให้กำลังใจและคอยอยู่เคียงข้างเราเป็นคนแรก คือ “ตัวเราเอง” เพราะการเป็นเพื่อนที่ดีของตัวเอง คือกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่ประตูความสุข และการมองเห็นคุณค่าในตัวเองอย่างแท้จริง
.
เมื่อเราปล่อยวางการยึดติดในสิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จลงได้โลกนี้ก็อาจจะน่าอยู่ขึ้นอีกสักเล็กน้อย เพราะความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเราต่างก็มียอดเขาเป็นของตนเอง ดังนั้นคงไม่จำเป็นจะต้องไปแก่งแย่งกับใครอยู่ตลอดเวลา เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ