สัญญาณ ขาดแคลเซียมในวัยทอง มีอาการอย่างไร? ในช่วงวัยทอง ถือเป็นช่วงเวลาที่ระบบฮอร์โมนเพศในร่างกายจะลดลง และแน่นอน วัยทอง เกิดขึ้นได้ทั้งเพศชายและหญิง โดยการเปลี่ยนแปลงในวัยนี้ ถือว่าสำคัญมาก เพราะทำให้ฮอร์โมนทุกระบบในร่างกายทั้งผู้ชายและผู้หญิงลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิง เมื่อรังไข่หยุดทำงาน ระดับฮอร์โมนเพศหญิงจะลดลงอย่างรวดเร็ว จนถึงระดับต่ำกว่ามาตรฐานที่จำเป็นในระดับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ที่เป็นปกติ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน การ ขาดแคลเซียมในวัยทอง จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนจะมีภาวะเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนมาก เพราะเมื่อหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจน จะขาดหายไปตามธรรมชาติ ส่งผลทำให้แคลเซียมในกระดูกละลายหายจากเนื้อกระดูก การทำลายเซลล์กระดูกจะเพิ่มขึ้นในขณะที่การสร้างเซลล์กระดูกจะลดลง มีงานศึกษาวิจัย พบว่า กระดูกจะเริ่มบางลงตั้งแต่อายุเพียง 35 ปี โดยเมื่ออายุ 45 – 50 ปี ตัวกระดูกจะบางลงอีกประมาณ 3 – 8% และจะบางลงอีกภายหลังหมดประจำเดือนในระยะเวลา 5 ปีแรกถึงปีละ 5% จากนั้นปีต่อ ๆ ไป กระดูกจะบางลงอีก 1 – 2% ต่อปี และถูกต้องค่ะ ถ้าผู้หญิงอายุถึง 65 – 70 ปี กระดูกอาจจะบางลงถึง 30 – 50% ซึ่งเป็นสัญญาณว่าอยู่ในระยะอันตรายที่อาจเกิดภาวะกระดูกพรุน หรือ กระดูกหักได้ง่าย ๆ
เช่นเดียวกับเพศชายวัยทอง โดยผู้ชายวัยทอง ระดับฮอร์โมนเพศชายจะมีระดับค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ ถึงแม้ว่า การเกิดโรคกระดูกพรุนจะมาช้ากว่าผู้หญิง แต่ความเสี่ยงก็ไม่ได้น้อยกว่ากัน มีงานวิจัยและศึกษาจากมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ ระบุว่า ผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ก็มีโอกาสเสี่ยงการเกิดภาวะกระดูกพรุน เปราะแตกง่าย ถึงร้อยละ 30 ซึ่งมีความเสี่ยงพอ ๆ กับการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก กันเลยทีเดียว !
มารู้จัก “แคลเซียม” กัน
แคลเซียม คือ แร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบโดยส่วนใหญ่ในร่างกายมากกว่าแร่ธาตุอื่น ๆ ปกติร่างกายจะไม่สามารถสร้างแคลเซียมได้เอง จำเป็นต้องได้รับผ่านการย่อยอาหารและการดูดซึมร่วมกับวิตามิน ดี (Vitamin D) ที่ลำไส้เล็ก ดังนั้นเราจึงต้องรับประทานแคลเซียมอย่างเพียงพอ เพื่อทดแทนและเสริมสร้างการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย อีกทั้ง แคลเซียม ยังมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการทางชีวเคมีภายในเซลล์ต่าง ๆ ช่วยพัฒนาและสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูกและฟัน ควบคุมการทำงานของหลอดเลือด กล้ามเนื้อ และช่วยกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนบางชนิด อีกด้วย
ปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายต้องการ
ปัจจุบัน ในท้องตลาดบ้านเรา อาหารเสริมแคลเซียมรูปแบบเม็ดมีมากมายหลายยี่ห้อ แต่การทานแคลเซียมชนิดที่ดูดซึมไม่ดี ก็อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด หรือ ท้องผูก ทั้งนี้ ร่างกายควรได้รับแคลเซียม ตามแต่ช่วงอายุ ดังต่อไปนี้ :-
- อายุ 9 – 18 ปี ควรได้รับแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ เท่ากับนม 4 – 5 แก้ว
- อายุ 19 – 40 ปี ควรได้รับแคลเซียม 800 มิลลิกรัม หรือ เท่ากับนม 3 – 4 แก้ว
- อายุ 41 – 50 ปี ควรได้รับแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัม หรือเท่ากับนม 4 – 5 แก้ว
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ และอายุมากกว่า 60 ปี ควรได้รับแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัม หรือเท่ากับนม 6 – 7 แก้ว
เช็คสัญญาณ ขาดแคลเซียมในวัยทอง
- เกิดอาการชา หรืออาการเจ็บกล้ามเนื้อ หรือชาตามปลายมือ ปลายเท้า
- ทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูกและฟัน เช่น กระดูกอ่อนหักง่าย กระดูกพรุุน ปวดหลัง หลังโก่งงอ กระดูกบิดเบี้ยวผิดรูป
- อาการกระตุกของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ จังหวะการเต้นหัวใจผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระดับความดันเลือด
- มีอาการเกร็งในช่องท้องอย่างผิดปกติ
- ระบบประสาท และอวัยวะรับสัมผัสผิดปกติ ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย รวมถึงอาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้
- เกิดความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด มีอาการเลือดไหลไม่หยุดในระหว่างผ่าตัด หรือเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ทำให้เส้นเลือดเปราะ แตกง่าย โดยเฉพาะเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ที่ไปเลี้ยงดวงตา หัวใจ ตับ หรือ อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
จะเห็นว่าแคลเซียมมีประโยชน์ต่อร่างกายทุกวัยโดยเฉพาะวัยทองที่เน้นการบำรุงดูแลเป็นพิเศษ และถ้าทุกคนที่อยู่ในวัยทองเข้าใจพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองวัยทองอย่างเหมาะสม เน้นทางอาหารที่มีประโยชน์ แคลเซียมสูง เช่น บล็อกเคอรี่ คะน้า งาดำงาขาว น้ำส้ม ฯลฯ และขอเน้นเรื่องการออกกำลังกายเพิ่มอีกสักนิด
วัยทองก็จะเป็นวัยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขตามอัตรา และในภาวะ COVID แบบนี้ เน้นมี “สติ” มองปัญหาเท่าที่มันควรจะเป็น ไม่มากเกินจริง ไม่น้อยเกินไป และใช้ “สติ” แก้ไขให้ถูกจุด พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
———–
(เครดิต : www.headlinecom/health/8-fast-facts-about-calcium, praram9.com/article, www.ods.od.nih.gov, siangpureoil, www.i-kinn.com)
#KINN_Holilstic_Healthcare