ดีลใหญ่ MK ซื้อแหลมเจริญ ถือเป็นข่าวใหญ่ที่ ณ วันนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก MK ถือเป็นร้านอาหารในดวงใจของคนไทย วันก่อนผู้เขียน ได้มีโอกาสร่วมฟังบรรยายของพี่ฤทธิ์ ธีระโกเมน – เจ้าของ MK (เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในคลาสหลักสูตรแห่งหนึ่งซึ่งพี่ฤทธิ์ ได้ลงเรียนอยู่ หัวข้อบรรยายในวันนั้น “ทำไม MK ต้อง Take over แหลมเจริญ” ผู้เขียนได้โพส แค่ หัวข้อและภาพไม่กี่ภาพ ผ่าน เฟสบุค เพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็มีหลังไมค์มาถามอย่างต่อเนื่อง “อยากให้เล่าลงรายละเอียดด้วย” วันนี้ขออนุญาตแบ่งปัน โดยถอดจาก short note เรื่องที่พี่ฤทธิ์เล่าถึง “ความเป็นมาก่อนตัดสินใจ take over แหลมเจริญ” เล่าอย่างง่าย ๆ สบาย ๆ สไตล์พี่เล่าให้น้องฟัง ใช้คำพูดเรียบง่าย แต่สะกดใจคนฟัง ชนิดไม่มีใครลุกไปเข้าห้องน้ำเลย…
ครัวไทยของโลก
“ถือเป็นคำถามที่คนชอบมักถามผมเสมอว่า “ทำไมต้อง take over แหลมเจริญ” และเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะประเทศไทย เป็นประเทศที่เราจะต้องแข่งขันกับเขาได้ในด้าน “อาหาร” หลายคนบอกว่า จะเป็นครัวไทยของโลก ผมได้เจอนักธุรกิจแวดวงประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น เวียตนาม ลาว กัมพูชา ทุกคนกลัวประเทศไทยหมด เพราะอะไรครับ ? ทุกคนใช้ของประเทศไทยหมด เราเองก็มองประเทศไทยเก่งกว่าประเทศเพื่อนบ้านเยอะเลย เขาคิดว่าเราเป็นพี่เลี้ยง เป็นโคช เป็นครู เพราะฉะนั้นถือเป็นความโชคดี ที่ผมเข้ามาอยู่ในธุรกิจนี้เกือบ 30 กว่าปี ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น จนถึงปัจจุบัน จนสุดท้ายเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เราก็ตัดสินใจนำบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ ที่เข้าไม่ใช่ว่าเพื่อจะเอาสตางค์ นะครับ เพราะธุรกิจอาหาร ก็ทราบกันอยู่แล้วว่า ไม่ต้องใช้เงินกู้อะไรมากมาย และเป็นธุรกิจที่อยู่ตัวแล้ว มันเป็น cash generator เงินสดนี่ เข้ามาก่อน และเราค่อยไปจ่าย Supplier ประมาณสักหนึ่งเดือนให้หลัง เพราะฉะนั้น เราก็จะมีส่วน pass cash เยอะมาก”
เหตุผลที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ฯ
“ผมนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ฯ เพราะเหตุผลหลาย ๆ ประการ อาจเป็นเรื่องของ succession เพราะถ้าเราไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ฯ รุ่นต่อไปที่เข้ามาบริหารบริษัทฯ นี้ เราไม่แน่ใจว่า เขาอาจจะผันธุรกิจนี้ไปทำอย่างอื่นได้ อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ มันเปิดโอกาส ให้เราได้ Collaboration คือเราจะร่วมมือกับใคร มันง่ายขึ้นมาก ทีแรก เคยได้ยินมา แต่ไม่เชื่อ จนกระทั่ง เราเข้าตลาดมา 5 ปี บอกได้เลยว่า 5 ปีที่ผ่านมา ผมได้พบเจอนักลงทุนประมาณสัก 200 จากบริษัททั่วโลก ที่มานั่งคุยกับเรา เอาธุรกิจมาให้เราขาย ผมว่าเกือบ 100 บริษัท ที่ผมคุยมาแล้ว จากประเทศสิงค์โปร์ มาเลเซีย จีน เกาหลี เยอะไปหมดครับ ทำให้เราได้ความรู้เหมือนอ่านเคสใน MBA แต่นี่ของจริง ไม่ใช่เคส หลายคนชวนเราไปลงทุน เราก็บอก เรายังไม่เก่ง เราลงทุนที่เมืองไทยดีกว่า จริง ๆ แล้ว เราก็เคยลงทุนในต่างประเทศ เช่น จีน เวียตนาม สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย ทั้งไปและกลับ ไปแล้วก็เจ๊ง ก็กลับมา มีทั้งเคสที่สำเร็จ และไม่สำเร็จ ฉะนั้นเป็นการเรียนรู้ เราทดลองทำ อีกอันหนึ่งที่คนชอบคาดหวังในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ บริษัท ต้องเติบโต เพราะถ้าบริษัทเราไม่เติบโต เราจะไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้”
แนวทางการเติบโตของบริษัท
“การเติบโตของบริษัท โดยปกติแล้ว เราคิดว่ามี 2 แนวทาง :-
โตตามธรรมชาติ เป็น chain เครือข่ายร้านอาหารโตตามธรรมชาติ คือการเปิดสาขา มีคนเคยถามผม ตอนที่ผมมี 100 สาขา ว่า “จะเปิดสักเท่าไหร่ดี” ผมก็ตอบว่า “สัก 200 หน่ะ” พอผมเปิดได้ถึง 200 สาขา และมันยังไปต่อได้ ก็มีคำถามเดิม ถามผมอีก ผมก็ตอบว่า “สัก 400 สาขา” ซึ่งวันนี้ก็ 400 กว่าสาขาแล้ว วันนี้ก็มีคนมาถามผมอีกว่า “ยังไปต่อได้อีกเท่าไหร่” (พี่ฤทธิ์ เล่าพร้อมอมยิ้มมุมปากเล็กน้อย) แต่ก่อนเราก็มองจังหวัด อำเภอ ใช่ไหมครับ ตอนนี้ผมคงต้องไป ตำบล ซึ่ง Model มันก็สามารถขยายเป็นโมเดลค่อย ๆ เล็กลง เพื่อเจาะกลุ่มตลาดกว้างขึ้น ไกลมากขึ้น
- นำแบรนด์ใหม่ ๆ
เป็นการนำแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามา ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของแบรนด์ที่สองของเรา Yayoi ซึ่งเข้ามาในจังหวะที่เหมาะสมมาก โดยใช้หลักการเดียวกันกับ MK คือ “ขยาย” ซึ่งปัจจุบันมี 200 กว่าสาขาแล้ว คนก็ยังถามผมอีกว่า “ไปได้อีกเท่าไหร่” ผมก็ตอบว่า 400 เป็นคำตอบเดียวกับที่ผมเคยตอบตอนถาม MK (หัวเราะ)
ซึ่งขณะที่ขยาย เราก็ได้ปรับ Infrastructure และในฐานะที่ผมได้เปรียบเพราะเคยเป็นวิศวกร เพราะฉะนั้น เวลาจะคิดอะไร เราจะคิดเป็นระบบ เป็น System มาก เพราะถ้า Infrastructure ไม่ดี ไม่มีทางขยายได้ อันนี้ยืนยันเลย ถือว่า Infrastructure นี้สำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่อง คน เรื่อง Training Development Program, Training School จะมีคนเข้ามาสมัครเท่าไหร่ก็ตาม เราเตรียมพร้อมแล้ว แข่งขันได้ เราเทรนด์กันตั้งแต่พนักงานบริการ จนถึงระดับผู้จัดการ จนถึงระดับบริหาร และระดับผู้นำ และอีกเรื่องคือ Logistic Supply Chain ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ ส่งของมาถึงที่ร้านเท่านั้น เราต้องตามไปดูต้นตอของอาหาร ซึ่งพวกนี้ เราก็ทำมาหลายปีแล้ว ปัจจุบัน MK เป็นบริษัทเดียวที่ซื้อผัก ผลไม้ จากโครงการหลวง ฯ ถึง 90% เพราะฉะนั้น เราสามารถพัฒนาร่วมกันได้ พวกทำผักออแกนนิค อะไรต่าง ๆ สารตกค้าง เราสามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นทาง ทำให้เรามีความแข็งแกร่งในเรื่อง Infrastructure และสามารถเหลือเวลาไปดูแลซัพพอร์ตด้านอื่น ๆ”
MK ซื้อแหลมเจริญ ทำไม เลือก “แหลมเจริญ”
“ทีนี้ พอได้ทั้งหมดนี้มาแล้ว เราก็ถามตัวเองว่า ด้วยศักยภาพทั้งหมดที่เรามี เราจะนำ Strength ของเราไปขยายต่ออะไรได้บ้าง ถ้าเป็นผู้ผลิต เราอาจไปได้ยาก เราเลยตัดสินใจขยาย Strength ของเราออกแนวด้านข้าง เลยหา Brand ใหม่ และโดยบังเอิญโชคดีที่ประมาณสักปีกว่า เราก็เจอ Local Brand อันนี้ คือ แหลมเจริญ ซึ่งตอนนั้น แหลมเจริญ มี 25 สาขา สำหรับเราถือว่า “น้อย” น้อยมาก แต่สำหรับเขา เขาเหนื่อยมาก ถ้าจะให้เขาต้องเปิดให้เกิน 25 สาขาขึ้นไป ผมเลยบอกว่า ถ้าเหนื่อย งั้นเรามาร่วมมือกันดีไหม ร่วมมือกันในที่นี้คือ “ผมมีองค์ความรู้” เขามี “Support system” เช่นคุณต้องสร้างโรงงานเพื่อผลิต กระจายอาหาร ผมบอกไม่ต้อง เพราะผมมีพื้นที่ ใช้ของผมเลย ต้นทุน ก็แชร์กันได้ ถูกกว่าเยอะ โรงเรียนสอนเทรนนิ่ง ใช้ของเราก็ได้ บัญชีใช้ของเราก็ได้ ใช้ได้เกือบทุกอย่าง เราก็เชิญผู้บริหารมาชมกิจการของผม ผมเปิดหมดนะครับ ผมเปิดให้ดูหมดเลย เขาก็ประเมินตัวเอง และเขาบอกผมว่า ถ้าเขาจะต้องเปิดมากกว่า 25 สาขา คงต้องใช้เวลาอีก 10 ปี ที่เขาจะสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นถึงระดับนี้ ซึ่งผมก็บอกเค้าว่า ผมขออนุญาตไปดูธุรกิจของคุณด้วยได้ไหม ? พอผมไปดูของเขาเสร็จ เราก็มีความคิดตรงกัน ว่าถ้าเราร่วมมือกัน ผมคิดว่า ภายในปีเดียว เราทำ Integration ดี ดี อาจจะเข้ามาในระดับที่ใกล้เคียงกันในทุกมาตรฐาน พอเราเห็นตรงกันตามนี้ เราจึงเข้าไปคุยว่าจะซื้อขายกันปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งจริง ๆ แล้ว main หลักคือ เราต้องเข้าใจกันก่อน มีความคิดในการทำงานที่ตรงกัน เหมือนกัน คือ แคร์ลูกค้า ผมก็บอกไปว่า ถ้าคุณยังรักธุรกิจนี้ คุณก็ยังเป็น ซีอีโอ เหมือนเดิม แต่ผมขอส่ง คนของผมไปเป็นผู้ช่วย ซึ่งทีมเขาก็ยังบริหารงานอยู่เหมือนเดิม ซึ่งผมถือว่าเป็นส่วนผสมที่ดีมาก ส่วนในเรื่องสัดส่วนเรื่อง ถือหุ้น ต้องเป็นสัดส่วนที่พอดี ไม่มากเกินไป หรือ น้อยเกินไป ผมบอกเขาไปว่า ของผมถือเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องเป็น majority คุยกันไป คุยกันมา จึงจบกันที่ 65 / 35 ก็เป็นอะไรที่ win win และเป็นเป้าหมายของเราที่เราต้องสร้างธุรกิจนี้ให้โต 2-3 เท่าตัวจากที่เขาทำอยู่ภายในระยะเวลา 3 ปี เราเองก็คุ้ม เขาก็คุ้ม เราสามารถ ทำให้มูลค่าธุรกิจของเขาเพิ่มขึ้นมา เพราะในส่วน 35% ถ้าเขาทำเอง เขาอาจไม่สามารถทำได้”
“วันนี้ เล่าอะไรที่เป็นตัวเลขไม่ได้ เพราะเราก็เป็นบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นดีลแรกที่บริษัทเราทำ และน่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในอนาคต”
ยึดหลัก ซื่อสัตย์ ตรงไป ตรงมา เหมือนกัน
“ทั้งแหลมเจริญ และผม มีอุดมการณ์ที่ตรงกัน คือมี Integrity คือความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ตรงไป ตรงมา ผมเคยเจอคนที่จะมาเป็นพาร์ทเนอร์ สุดท้ายต้องมาทะเลาะกัน เจอบ่อยมาก โกงกัน แต่ผมมั่นใจว่า คนที่มาเป็นพาร์ทเนอร์ของผมคนนี้ ไม่โกงผมแน่นอน และเขาก็รู้ว่า ผมไม่โกงเขาเช่นกัน ทั้งสองฝ่าย เรามี Trust ซึ่งคำว่า Trust เขียนในสัญญาซื้อขายไม่ได้ ไม่รู้จะเขียนอย่างไร เราคุยกับคุณพ่อ คุณแม่เขา มีความรู้สึกเสมือนครอบครัวเดียวกัน เป็นความผูกพันและไว้ใจ” กล่าวพร้อมยิ้มสดใส
…..
(เครดิต : คุณฤทธิ์ ธีระโกเมน , www.i-kinn.com)