มี 2 รายจ่ายที่คุณอาจจะให้ความสำคัญน้อยหน่อยก็ได้ถ้าคุณเพียงทำธุรกิจเล็กๆ แต่มันจะเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อชีวิตและธุรกิจของคุณอย่างใหญ่หลวงเมื่อมันใหญ่ขึ้น และคุณไม่สามารถละเลยการให้ความสำคัญได้
อย่างที่ 1 คือ การจัดการเรื่องภาษี
ถ้าทำธุรกิจเล็กๆ การลงบันทึกบัญชีผิดๆ ถูกๆบ้าง บางทีก็ใช้การจ่ายภาษีแบบเหมาๆ เอาก็มีให้เห็น เพราะธุรกิจเล็กๆ บุคลากรก็น้อย หลวงก็อาจจะหยวนๆ ให้ ขอให้เห็นว่าไม่ใช่ตั้งใจซุกและทำผิดก็โอเค
แต่ถ้าธุรกิจใหญ่ขึ้น การลงบันทึกบัญชีแบบผิดๆ และการไม่จัดการเรื่องภาษีให้ถูกต้องนั้นสามารถส่งผลต่อความยั่งยืนของบริษัทได้ชนิดคนละเรื่อง คือผิดได้บ้าง แต่ต้องไม่ผิดอย่างจงใจ เช่นการรับเงินบริจาคเข้าส่วนตัว แต่เอาเงินนั้นไปซื้อของในนามบริษัทเพื่อเอาใบเสร็จไปตัดเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท อย่างนี้รายจ่ายนั้นต้องกลับเป็นรายการบวกกลับที่รายได้แทน เพราะธรรมชาติของการทำธุรกิจคือมีรายได้ก็ต้องมีรายจ่ายที่เดินสัมพันธ์กัน ไม่ใช่มีแต่รายจ่ายเพื่อมาประหยัดภาษี แบบนี้จนท.ไม่ยอมแน่นอนเพราะจนท.นั้นมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ เป็นต้น
ฝรั่งมีสุภาษิตว่า มี 2 สิ่งที่คุณหนีไม่พ้นในชีวิตนี้คือความตายกับภาษี ดังนั้นเรื่องนี้ทำเป็นเล่นไม่ได้
อย่างที่ 2 คือ ความน่าเชื่อถือ
ตอนทำธุรกิจเล็กๆ เกี่ยวข้องกับคนจำนวนไม่มาก หน้าที่ของเราอาจจะเป็นการแค่ส่งมอบสินค้าหรือบริการเพื่อให้ลูกค้าเอาสินค้าไปใช้ได้ตามจุดประสงค์ก็พอแล้ว
แต่เมื่อธุรกิจใหญ่ขึ้น ต้องเกี่ยวข้องกับจำนวนคนเป็นล้านๆ คน คนทำธุรกิจต้องทำความเข้าใจสถานะและความคาดหวังของลูกค้าตัวเองใหม่ ว่าที่ลูกค้ายังซื้อสินค้าเรานั้น ไม่ใช่แค่เพราะสินค้านั้นใช้ได้ดีตามจุดประสงค์ แต่หากเพราะแบรนด์ของเรานั้นมีความน่าเชื่อถือและเกิดการบอกต่ออย่างทั่วถึงต่างหาก
อย่าหลงไปว่าเพราะเรานั้นแน่ คนจึงต้องง้อเรา เพราะเราเก่ง สินค้าของเราเลยเป็นที่ต้องการ
เพราะการบอกต่อโดยลูกค้าที่ใช้สินค้าของเรานั้นต่างหากที่ทำให้ธุรกิจของเราเติบโต และเมื่อเกิดการบอกต่อๆ กันนั้น การลงทุนโดยไม่ใช่รูปแบบตัวเงินจากลูกค้าก็ติดสอยไปกับสินค้าด้วยเสมอ โดยบริษัทก็รับผลกำไรจากวงจรนี้และกลายเป็นผลประโยชน์ของเราในฐานะผู้ถือหุ้นผ่านกลไกของเงินปันผล
ดังนั้นบริษัทหรือ CEO จะมัวหลงอีโก้ของตัวเองว่าเราทำสินค้าออกมาแล้วคนต้องง้อเพราะเป็นที่ต้องการไม่ได้ ก็เพราะการบอกต่อของลูกค้านั้นต่างหาก ที่ทำให้สินค้าของเราที่ขายได้แค่หลายร้อยตัวในวันนั้น กลายเป็นหลายล้านตัวในวันนี้
จะออกสินค้าใหม่ หรือจะตัดสินใจในเรื่องอะไร ต้องเข้าใจต้นทุนด้านภาษีคือต้นทุนจากรัฐ และความน่าเชื่อถือซึ่งคือต้นทุนจากสังคมให้ดี
จะทำผิดได้บ้างก็ไม่แปลกเพราะคงไม่มีบริษัทไหนไม่เคยลงรายการบัญชีผิดเลย ความน่าเชื่อถือก็เช่นกันที่ก็คงไม่มีบริษัทหรือคนทำงานคนไหนทำงานแล้วไม่เคยผิดเลย เพราะยิ่งทำมากกับยิ่งทำนานๆ ยังไงจำนวนผิดพลาดต้องเยอะกว่าคนที่ไม่ทำอะไรเลยอยู่แล้ว
ความน่าเชื่อถือนั้นเหมือนอย่างที่ แจ๊ค หม่า เคยบอกจากปากในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า
เมื่อคุณทำธุรกิจแล้วคุณมีเงินจำนวนไม่มาก เงินนั้นยังเป็นของคุณ
แต่ถ้าคุณเริ่มมีเงินมากกว่าคนอื่นมากๆ เงินนั้นมันไม่ใช่ของคุณอีกต่อไป เพราะมันเป็นเงินจากความน่าเชือถือที่ผู้คนมีให้กับคุณต่างหาก
ความน่าเชื่อถือนั้นเหมือนต้นไม้ มีต้นทุนในการปลูกที่สูง ใช้เวลานาน มีความโปร่งใสเป็นเสมือนราก มีระบบที่ดีเป็นเสมือนลำต้นกิ่งก้าน มีผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพเป็นดอกและผล ยิ่งกิจการใหญ่แค่ไหนก็เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ต้องการรากที่หยั่งลึกและแน่นหนาเท่านั้นป้องกันพายุน้ำท่วมที่เข้ามาพัดไม่ให้ปลิวไปกับความท้าทายต่างๆจากรอบด้านที่เข้ามา
สุดท้าย อยากให้ผลิตภัณฑ์ดีแทบตายแต่ไม่มีความโปร่งใส รากไม่ดีกิ่งก้านและดอกผลย่อมไม่สวยงาม สุดท้ายก็ไม่มีทางน่าเชื่อถือได้เวลาคนมองเข้ามาครับ
……….