สวัสดีครับคุณผู้อ่านผู้ติดตามเพจ IKINN ทุกท่าน วันนี้เอาเรื่องใกล้ตัวที่มักถูกมองข้ามมาฝาก
เคยถูกถามอย่างนี้ไหมครับ “เธอเป็นคนตัดสินด้วย ‘สมอง’ หรือ ‘หัวใจ’?”
ผู้ถามหมายความว่า คุณเป็นคนมองสิ่งต่างๆรอบตัวอย่างเป็นเหตุเป็นผล เช่นเวลาเลือกคบใครสักคน จะพินิจพิเคราะห์อย่างดีว่าปัจจัยต่างๆลงตัวไหม ไปด้วยกันได้ไหม มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง ถ้าเข้ากันได้จึงจะคบ แต่ถ้าเห็นแล้วว่าไปด้วยกันไม่ได้ ก็จะเดินจากไป หรือ คุณเป็นคนที่ “รักเมื่อแรกเห็น” คือเจอปุ๊บรักปั๊บ เหมือนบุพเพสันนิวาส ใครจะว่าอย่างไรก็สามารถหามุมอื่นๆมาแก้ต่างได้ทุกเรื่อง รักเพราะรัก รักด้วยใจไม่ต้องใช้ข้อมูล ยามมีเหตุให้ต้องจบกัน ก็ไม่สามารถตัดใจได้ง่ายๆ แม้รู้ทั้งรู้ว่าไม่มีเหตุผลใดที่ควรอยู่ด้วยกันต่อไป เห็นหน้าเขาเมื่อไหร่ใจเจ็บจี๊ด
คำตอบของคุณจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ทราบไหมครับว่า “สมองตัดสินด้วยหัวใจ” แปลว่าอะไร?
สมองส่วนใหญ่ของมนุษย์ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล Limbic System หรือระบบสมองที่ควบคุมอารมณ์มีความซับซ้อนและรวดเร็วในการทำงานมากกว่า Prefrontal Cortex หรือสมองที่ใช้ในการวางแผนและตัดสินใจ ที่อุ้ยอ้ายและคิดอะไรช้ากว่า
ส่วนแรกที่ใช้อารมณ์เป็นเสมือน ‘สาขา’ ที่คอยรับหน้าลูกค้า(เหตุการณ์)ที่เข้ามา หากเป็นไปได้สาขาก็อยากจะตัดสินใจเปรี้ยงให้กับลูกค้า เว้นแต่เตือนตนเองให้มีสติรอบคอบจึงจะใช้เวลาคิดและส่งเรื่องที่ยากๆให้กับ ‘สำนักงานใหญ่’ คือสมองส่วนเหตุผล
ประเด็นชวนคิดคือ ถ้าสาขาไม่แจ้งมาสำนักงานใหญ่จะไม่มีวันรู้เรื่อง เปรียบคือสมองส่วนอารมณ์มีอำนาจเหนือกว่าในแง่ของการเลือกว่าจะส่งอะไรไม่ส่งอะไร และอารมณ์มีอิทธิพลมากกว่าในด้านการกำกับดูแลหน้างาน (ด้วยฮอร์โมน) เพื่อให้ร่างกายทำอะไรต่ออะไรอย่างกระฉับกระเฉง Dr. Daniel Kahneman รับรางวัลโนเบลปี 2002 สาขาเศรษฐศาสตร์ หลังพิสูจน์ว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นสัตว์แห่งเหตุผล แต่เป็นสัตว์แห่งอารมณ์ อธิบายให้เห็นภาพ ได้ด้วยกาแฟสตาร์บัคแก้วละสองร้อยบาทที่คนแย่งกันซื้อ
เพราะอะไรน่ะหรือ? เพราะสมองของเราเติบโตมากับการใช้ชีวิตด้วยอารมณ์ เพิ่งจะมาช่วงหลังนี้เอง (ประมาณห้าร้อยปีของโลกแห่งมนุษย์เงินเดือน) ที่เราพยายามฝึกสมองให้เป็นเหตุเป็นผล ก่อนหน้านั้นสมองของเรามีหน้าที่หลักคือใช้สัญชาตญานในการเอาตัวให้รอดจากอันตรายในแต่ละวัน ดังนั้น ถ้าเลือกได้ ธรรมชาติของสมองอยากใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล บางครั้งก็เป็นคุณ เช่นการสร้างแรงบันดาลใจให้ฮึดสู้เหนือความท้าทาย บางครั้งก็เป็นโทษ เช่นตัดสินใจโครมโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบก่อน ลูกน้องถามปั๊บเราตอบปุ๊บ เป็นต้น
สรุปสั้นๆ หากคุณอยากเป็นผู้นำสมองที่เลิศ “ฝึกใช้เหตุผลในการวางแผนและแก้ปัญหา ฝึกใช้อารมณ์ในการโน้มน้าวทีมให้บรรลุเป้าหมาย”
ฝึกใช้ ‘ทั้งสมองและหัวใจ’ ของตัวเองและทีมงานของคุณ
ขอจบด้วยเพลงนี้แล้วกัน ครั้งหนึ่งสาวน้อยวัยห้าขวบของผมเคยร้องให้กับแม่ของเธอในวันแม่ แต่มีลูกอีกหลายคนที่อาจไม่มีโอกาสร้องให้แม่ของตัวเอง ‘ฟัง’ อีกแล้ว
“ถ้าแม่ฟังอยู่ ไม่ว่าแม่อยู่ไหน ไม่ว่าแม่เป็นไง โปรดส่งรักกลับมา…ถ้าแม่ดูอยู่ คิดถึงหนูหน่อยน้า… หนูขอสัญญาว่า หนูจะเป็นเด็กดี”
ได้ยินเสียง ‘หัวใจ’ ใน ‘สมอง’ ของคุณไหมครับ?
……….