เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 13 ตุลาคม 2563 นี้ ดิฉันขอร่วมรำลึกถึงพระราโชวาท ที่พระองค์ทรงให้ไว้ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สวนอัมพร 14 สิงหาคม 2525 ความว่า
“การทำดี นั้นทำยากและเห็นผลช้า เพราะหาไม่ ความชั่วซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว”
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสหลักของโลกปัจจุบันมุ่งเน้นการใช้ทักษะ Content Marketing, Digital Marketing, และ การทำการตลาดในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจกดยืนยันการโอนเงินให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะมีโอกาสใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจว่าตนต้องการสิ่งของหรือบริการเหล่านั้นจริงหรือไม่?
ผู้ผลิตก็ปรับตัวมาเป็นผู้ขายตรงถึงผู้บริโภคเอง เพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดการพึ่งพาตัวกลาง แล้วอาชีพตัวกลางหล่ะจะต้องปรับตัวอย่างไร?
ธุรกิจผลิตสื่อหลายรายต้องปิดตัว เพราะผู้คนมีทางเลือกหลากหลายในการเข้าถึงผู้บริโภคที่ต้นทุนต่ำกว่า รายที่ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ ก็กลับกลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า เครื่องสำอาง อาหารเสริม เสียเอง จนกลายเป็นธุรกิจหลัก แล้วผู้ที่ซื้อสื่อเพื่อโฆษณาสินค้าจะสู้ได้อย่างไร?
มีธุรกิจออนไลน์รูปแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย ที่ทำเนื้อหาให้ดูเหมือนน่าเชื่อถือ อาศัยความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีในการเจาะกลุ่มลูกค้าที่กำลังหาสินค้าหรือบริการนั้นๆ จนทำให้ลูกค้าตัดสินใจสั่งซื้อ หรือเผลอเล่นเกมส์ชิงรางวัลได้ในเวลาอันสั้น แต่สิ่งที่ได้รับคือของด้อยคุณภาพ ที่ต้องเสียค่าส่งคืนแสนแพง หรือ โทรแจ้งเปลี่ยนของแล้วไม่มีใครรับสาย ธุรกิจเช่นนี้ลงทุนน้อยมาก ได้เงินง่าย เด็กรุ่นใหม่ควรทำตามหรือไม่?
ดิฉันคงไม่สามารถระบุนิยามของ “การทำดี” ได้ชัดเจนนัก แต่ดิฉันเป็นผู้หนึ่งที่อยากเชิญชวนให้ผู้ที่ได้มีโอกาสอ่านบทความสั้นๆ นี้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในการใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจทางธุรกิจของท่านในทางแห่ง “การทำดี” เพื่อการอยู่รอดอย่างสมดุล ดีงาม ของสังคมไทย โดยไม่เป็นทาส ทุนนิยม วัตถุนิยม และสุขนิยมอย่างสุดโต่ง จนลืมความสำคัญของความ “ยั่งยืน” โดยรวมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ
ตัวอย่างของ “การทำความดี” ที่ยาก กว่า การหาวิธีลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด การสร้างยอดขายให้สูงที่สุด คือการเป็นธุรกิจที่ดี (ไม่ว่าขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ หรือแม้แต่รายบุคคล) ที่มุ่งเน้นจรรยาบรรณวิชาชีพ นำเสนอเฉพาะสิ่งที่จำเป็นบนโลกใบนี้เพื่อไม่ใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น ไม่ลงทุนเกินตัวจนจำเป็นต้องใช้กลยุทธสีเทาในการสร้างยอดขาย และดำเนินธุรกิจเป็นร่มเงาให้เหล่านกกา หรือ พนักงาน และคู่ค้า ได้พึ่งพาเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวได้ในระยะยาว โดยไม่มองเพียงกำไรระยะสั้น หรือการพยายามผูกขาดตลาดเพื่อเป็นผู้อยู่รอดแต่เพียงลำพัง
ท้ายสุดนี้ ผู้ที่กำลัง “ทำความดี” จะมีปีติกับสิ่งที่ทำได้โดยไม่ต้องรอเช็คผลประกอบการ หรือการจัดอันดับจากหน่วยงานใด
หากท่านนึกไม่ออกว่า สังคมแห่งความดีหน้าตาเป็นอย่างไร ดิฉันคิดว่าน่าจะใกล้เคียงกับบรรยากาศงานถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่แต่ละวันมีผู้คนจำนวนมากเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ ไม่มีใครกล้าแทรกแถว ไม่มีมิจฉาชีพ ทุกคนอยู่ในความสงบ มีผู้จิตอาสามากมายที่ทำงานโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย มีผู้บริจาคทรัพย์และสิ่งของมากมายแบบไม่เปิดเผยชื่อ เพราะทุกคนได้รับความสุขใจในการได้ทำความดีอย่างบริสุทธิใจ ยินดีอดทนความยากลำบาก
บรรยากาศเช่นนั้น จะเกิดขึ้นในวงกว้างในสังคมไทยได้ ก็ต่อเมื่อแต่ละคน แต่ละองค์กร ตระหนักรู้และตัดสินใจเลือกทำใน “สิ่งที่ยาก แต่ดี” เพื่อผลประโยชน์ที่ดีร่วมกัน
…………
โดย ดร.วรัญญา อัจฉริยะชาญวณิช
Change Tutor – นักพัฒนาดาวเด่นในองค์กรแบบพุ่งเป้า
Founder & Managing Director, Wintegrate 99 Co., Ltd.
DCP 266/19, Certified Project Management Professional of PMI
ผู้แต่งหนังสือ The Change Tutor – จะเรียกดิฉันว่าหมอดูก็ได้ถ้าคุณยอมเปลี่ยน
Anonymous
October 18, 2020ถูกต้องที่สุด ขอแชร์คับ
วรัญญา
October 18, 2020ขอบคุณที่ติดตามค่ะ