ถ้าทำตามคำแนะนำใน EP 23 และ EP 25 ไปหมดแล้ว COVID 19 ระลอกสาม หรือในระลอกต่อจากนี้ จะยังเหลืออะไรที่ชาวออฟฟิศควรทำ? สิ่งที่น่าคิดสำหรับชาวออฟฟิศ คือ จะทำอย่างไรให้มีโอกาสรอด หากเกิด COVID 19 ระลอกต่อๆ ไป หรือแม้แต่การเกิดวิกฤติคล้ายๆ กันขึ้นอีก
คำแนะนำสไตล์ Work Clinic คือ
-
รักษาลูกค้าไว้ให้ได้
ในเวลานี้ ลูกค้าที่เหลือคือลูกค้าที่มีศักยภาพสูง หรือมีความจำเป็นต้องใช้สินค้าหรือบริการขององค์กรเราอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงอยากอุดหนุนชั่วคราว หรือซื้อเพราะโฆษณา เราควรต้องทำความเข้าใจพฤติกรรม และรักษาไว้ให้ดีที่สุด ไม่ควรฉวยโอกาสขึ้นราคาหรือลดปริมาณสินค้าเพื่อชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่ลูกค้าทุกรายมีความอ่อนไหวสูง และสังเกตความจริงใจของผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการทุกรายอยู่เช่นกัน การเข้าใจความคาดหวังของลูกค้าอย่างแท้จริง จะช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไปได้ เช่น ลูกค้าต้องการเพียงการแก้ปัญหาที่ทันท่วงที ไม่ได้ต้องการกระเช้าของขวัญตามเทศกาลต่างๆ
-
เอาใจลูกค้าภายใน
ยิ่งทำงานที่บ้าน ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ยิ่งต้องพยายามแสดงให้ผู้ร่วมงานทุกคนได้ทราบว่าเรายังคงเป็นคนที่ทีมงานควรรักษาไว้ ยิ่งเป็นแผนกที่ไม่ใช่กิจกรรมหลักขององค์กร ยิ่งควรเสนอตัวช่วยเหลืองานของต่างแผนกโดยไม่มีข้อแม้ พร้อมที่จะถูกโยกย้าย เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้องค์กร การทำเช่นนั้นอาจช่วยให้ค้นพบเส้นทางอาชีพทางเลือกได้มากขึ้นอีกด้วย
-
ใช้จ่ายต่ำกว่าระดับเดิม
ไม่ว่าคุณจะเคยคิดว่าวางแผนการเงินเก่งแค่ไหน คงทราบดีว่ามีความไม่แน่นอนในเรื่องของรายได้ และผลตอบแทนจากการออมคาดเดาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ วิธีที่จะช่วยให้รอดได้ง่ายกว่าการหาวิธีลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น คือ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือ ลดมาตรฐานความจำเป็นของตนลงให้ได้ เช่น แม้เงินเดือนจะอยู่ในระดับที่ขับรถยุโรปได้ ก็เลือกใช้รถญี่ปุ่นเก็บส่วนต่างเป็นเงินออมไว้ใช้ยามจำเป็น ลดความถี่และงบประมาณการซื้อของใหม่ การท่องเที่ยว และสังสรรค์ ไม่ต้องอายว่าจะถูกมองจากคนวัยเดียวกันว่าอย่างไร เพราะความสำเร็จต้องวัดกันตอนชีวิตหลังเกษียณไม่ใช่ปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมสำหรับคนในวัยที่สูงกว่า
- ทำอาชีพเสริมอย่างมีจรรยาบรรณ แม้การมีอาชีพเสริมจะกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมปัจจุบัน แต่ควรเป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับรายได้หรือค่าใช้จ่ายขององค์กรที่ตนทำอยู่ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และต้องไม่ขัดต่อกฎระเบียบขององค์กร ตัวอย่างเช่น แอบติดต่อรับงานจากลูกค้าของบริษัทเอง เอาสินค้ามาขายในที่ทำงาน รับออร์เดอร์ขายของออนไลน์ในเวลางาน สิ่งเหล่านี้แม้ผู้บังคับบัญชาไม่ว่ากล่าวใดๆ แต่ผู้ที่รับทราบจะไม่ให้ความไว้วางใจ ลูกน้องไม่ศรัทธา ซึ่งจะกระทบความก้าวหน้าในองค์กรในระยะยาว
-
เดินตามฝันบนเส้นทางแห่งความเป็นจริง
สำหรับพนักงานประจำที่ฝันว่าอยากลาออกไปเปิดกิจการส่วนตัว ควรถอดบทเรียนจากกิจการที่สอบไม่ผ่าน COVID 19 ระลอกสามให้ดี หากเป็นธุรกิจที่ไม่มีความต้องการที่แท้จริง หากต้องพึ่งเงินกู้เป็นหลัก หากต้องใช้พนักงานจำนวนมาก และหากต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎระเบียบทางกฎหมายมากมาย จะมีความเสี่ยงสูงมากในการบริหารธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ ควรคำนวณต้นทุนแฝง และภาระแฝง เช่น เงินชดเชยที่ต้องจ่ายพนักงานหากเลิกจ้าง หรือ งานธุรการที่จะต้องลงมือทำเองเพราะน้อยเกินกว่าจะจ้างพนักงานรับผิดชอบ และความพร้อมด้านต่างๆ รวมถึงความเป็นไปได้ในการหาลูกค้า ต้องวิเคราะห์ให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจทิ้งเก้าอี้ทองคำไปฉายเดี่ยว
-
ฝึกอยู่นิ่งไม่ตกเป็นเหยื่อกระแสต่างๆ
COVID 19 ทั้งสามระลอกที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่ดีของสถานการณ์ข้อมูลล้น ที่สร้างความตื่นตระหนก ความกังวล และความเห็นขัดแย้งกัน จนทำให้เสียสุขภาพจิต เสียเงิน และเสียเวลาเกินความจำเป็น เราควรใช้เหตุการณ์นี้เตือนตนเองว่า หลายๆ เรื่องเราไม่ควรตอบสนองใดๆ โดยทันที ไม่ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย และหลายๆ เรื่อง เวลาเท่านั้นที่จะทำให้ทุกอย่างคลี่คลาย เช่นเดียวกับปัญหาในชีวิตจริงที่หลายเรื่องเราไม่สามารถเร่งเวลาได้ เราทำได้แค่เพียงฝึกนิ่งให้เป็นในเรื่องที่เหนือการควบคุมของเรา
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านทุกท่านจะปลอดภัย COVID 19 ในทุกระลอก
ขอบคุณภาพประกอบจาก: <a href=’https://www.freepik.com/photos/office’>Office photo created by tirachardz – www.freepik.com</a>
โดย ดร.วรัญญา อัจฉริยะชาญวณิช
Change Tutor – นักพัฒนาดาวเด่นในองค์กรแบบพุ่งเป้า
Founder & Managing Director, Wintegrate 99 Co., Ltd.
DCP 266/18, Certified Project Management Professional of PMI
ผู้แต่งหนังสือ The Change Tutor – จะเรียกดิฉันว่าหมอดูก็ได้ถ้าคุณยอมเปลี่ยน
28/04/2564
Anonymous
April 30, 2021ขอบคุณค่ะ โดนทุกข้อ ขอแชร์เลย