มีคนจำนวนมากไม่รู้ตัวว่ากำลังเปรียบเทียบ “ดอกเบี้ย” ที่มีวิธีการคำนวณต่างกัน แล้วตัดสินใจเลือกสิ่งที่ไม่ได้ผลตอบแทนมากกว่าอย่างที่คิด
เพื่อความมั่นใจของท่านผู้อ่าน ดิฉันขอชี้แจงว่า ดิฉันเองจบการศึกษาปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจ สาขาการเงินและการธนาคาร เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาการเงิน และก็มีประสบการณ์เหมือนทุกท่านที่จะต้องตัดสินใจว่าการออมเงินแบบใดจะให้ผลตอบแทนดีที่สุด หรือกู้เงินแผนไหนจะประหยัดที่สุด ดิฉันได้เปรียบท่านตรงที่สามารถใช้ความรู้เรื่องการคำนวณมาตัดสินใจได้เองโดยไม่ต้องหลงกลการตลาดใดๆ
บทความนี้เขียนขึ้นสำหรับผู้อ่านชาวออฟฟิศส่วนมากที่ไม่ชอบเห็นสูตรคำนวณใดๆ โดยดิฉันจะขอสรุปหลักการพื้นฐานสำหรับการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่มักมีคำว่า “ดอกเบี้ย” หรือ “ผลตอบแทน” ดังต่อไปนี้
-
ทุกอย่างต้องถือเป็นดอกเบี้ย
หากท่านไม่มีเวลาจะอ่านรายละเอียดด้านล่าง จำไว้ว่า “ดอกเบี้ย” ก็คือ ส่วนที่เพิ่มขึ้น จากเงินลงทุน (หรือค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากการกู้) การใช้นิยามนี้จะทำให้ท่านไม่หลงกลไปกับการเล่นคำ หรือการปรับรายละเอียดการคำนวณเพื่อให้ท่านเข้าใจผิดหรือเพื่อให้ท่านเปรียบเทียบยากขึ้น เมื่อมีตัวเลือกเกิดขึ้นอย่ามองหาเฉพาะคำว่า “ดอกเบี้ย” แต่ให้นำดอกผลทุกรูปแบบที่ท่านจะได้รับมาเปรียบเทียบกับเงินที่ท่านต้องจ่ายออกไปทั้งหมด กรณีของการกู้เงิน ให้รวบรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ถูกเรียกเก็บไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่าทำประกันเงินกู้ ค่าบริการต่างๆ มาเทียบกับเงินที่ท่านต้องการจะกู้ เมื่อทำเป็นอัตราส่วน ท่านจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า ตัวเลือกไหนทำให้ท่านได้ดอกผลสูงกว่า หรือเสียอัตราค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ทั้งนี้ต้องเป็นตัวเลือกที่มีระยะเวลาในการได้รับเงิน หรือจ่ายเงินคล้ายกัน หากระยะเวลาต่างกัน ให้เอาอัตราที่คำนวณได้หารด้วยจำนวนปีเพื่อจะได้ค่าประมาณของดอกเบี้ยต่อปีให้ท่านได้สามารถเปรียบเทียบคู่มวยที่ตรงกันได้
-
เช็คให้ดีว่าฐานคำนวณดอกเบี้ยต่างกันไหม
แต่ละวงการมีหลักเกณฑ์ในการคำนวณดอกเบี้ยต่างกัน เช่น ธนาคารคำนวณจากเงินทั้งหมดที่อยู่ในบัญชีของเรา ณ วันที่คำนวณดอกเบี้ย กรณีกู้เงินกับธนาคาร เมื่อชำระเงินต้นไปบางส่วนแล้ว แม้อัตราดอกเบี้ยจะเท่าเดิม แต่ยอดเงินที่ต้องชำระจะลดลงตามยอดคงค้างที่ลดลง ส่วนกรณีกู้เงินนอกระบบหรือซื้อของเงินผ่อน มักจะคำนวณดอกเบี้ยอย่างง่ายจากยอดเงินตั้งต้นและคงที่ตลอดสัญญาไม่ว่าชำระไปกี่งวดแล้ว ในขณะที่วงการประกันชีวิต มักจะคำนวณดอกเบี้ยจาก “ทุนประกัน” ซึ่งเป็นตัวเลขที่กำหนดไว้ในสัญญาประกันภัยและมักเป็นค่าคงที่ หมายความว่า เราไม่อาจสรุปได้ว่า การซื้อประกันชีวิตที่ระบุว่าให้ดอกเบี้ย 2% ของทุนประกัน จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินธนาคารที่ให้ดอกเบี้ย 1.5% ต่อปีหรือไม่ หากไม่มีพื้นฐานการคำนวณ ท่านควรเปรียบเทียบตัวเลือกต่างๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันเท่านั้น เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากระหว่างธนาคาร หรือ เงื่อนไขผลตอบแทนของการทำประกันชีวิตต่างบริษัทที่มีระยะเวลาเท่ากัน ยอดความคุ้มครองเท่ากัน ไม่ควรนำดอกเบี้ยธนาคารมาเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยที่ระบุในสัญญาประกันชีวิต
-
รับไว-จ่ายช้าย่อมได้เปรียบ
เมื่อใช้หลักการข้อ 1 แล้ว หากมีตัวเลือก 2 ตัวที่ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีเท่ากัน จงเลือกตัวที่ได้รับผลตอบแทนเร็วกว่า หรือ ตัวที่ท่านสามารถจ่ายเงินได้ช้ากว่า เช่น ในการกู้เงินเพื่อซื้อที่พักอาศัย หากใช้หลักการตามข้อ 1 แล้วพบว่า อัตราค่าใช้จ่ายตลอดการกู้เทียบกับยอดเงินที่จะกู้ต่อปีของ 2 แผนเท่ากัน แนะนำให้เลือกตัวที่มีระยะเวลาพักชำระช่วงแรกยาวนานกว่า หรือ อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดในช่วงปีแรกๆ ต่ำกว่า เพราะเมื่อคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปีแล้วจะได้ผลที่เท่ากันหรือต่ำกว่าเสมอ
-
อย่าตัดสินใจด้วยดอกเบี้ยเท่านั้น
แม้หลักเกณฑ์ข้างต้นจะช่วยให้เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยระหว่างผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ชัดเจนขึ้น แต่อย่าเผลอตัดสินใจเลือกเฉพาะประเภทผลิตภัณฑ์ใดด้วยค่าตัวเลขเท่านั้น เพราะแม้จะทราบว่าการทำประกันชีวิตแท้จริงแล้วอาจให้อัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่าการฝากเงินธนาคารเฉยๆ แต่จุดประสงค์แตกต่างกัน เราจำเป็นต้องมีเงินฝากในธนาคารเพื่อมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ส่วนการทำประกันชีวิตจะสามารถช่วยคนที่อยู่ข้างหลังให้ได้รับเงินก้อนหากเกิดเหตุไม่คาดคิด จึงควรเลือกประเภทผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ก่อนแล้วจึงเปรียบเทียบดอกเบี้ยเพื่อความคุ้มค่า
………………
ขอบคุณภาพประกอบจาก: Photo by Brittany Bendabout on Unsplash
โดย ดร.วรัญญา อัจฉริยะชาญวณิช
Change Tutor – นักพัฒนาดาวเด่นในองค์กรแบบพุ่งเป้า
Founder & Managing Director, Wintegrate 99 Co., Ltd.
DCP 266/18, Certified Project Management Professional of PMI
ผู้แต่งหนังสือ The Change Tutor – จะเรียกดิฉันว่าหมอดูก็ได้ถ้าคุณยอมเปลี่ยน
08/06/2564