สถาณการณ์ปัจจุบัน คงทำให้หลายคนเบื่อหน่าย คำว่า “การเมือง” แต่ในความเป็นจริง องค์กรทุกระดับ แม้แต่ในครอบครัว ก็มี “การเมือง” เราจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ และอยู่ร่วมกับ “การเมือง” ให้เป็น
ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า “การเมือง” หมายถึงอะไร แล้วเปลี่ยนจากคำว่า “รัฐ” “ประเทศ” “แผ่นดิน” เป็นคำว่า “องค์กร”
ตามความหมายของ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 “การเมือง” หมายถึง
(๑) น. งานที่เกี่ยวกับรัฐหรือแผ่นดิน เช่น วิชาการเมือง ได้แก่วิชาว่าด้วยรัฐ การจัดส่วนแห่งรัฐ และการดำเนินการแห่งรัฐ.
(๒) น. การบริหารประเทศเฉพาะที่เกี่ยวกับนโยบายในการบริหารประเทศ เช่น การเมืองระหว่างประเทศ ได้แก่การดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ.
(๓) น. กิจการอำนวยหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น ตำแหน่งการเมือง ได้แก่ตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่อำนวย (คณะรัฐมนตรี) หรือควบคุม (สภาผู้แทนราษฎร) การบริหารแผ่นดิน.
(ปาก) ว. มีเงื่อนงำ, มีการกระทำอันมีเจตนาอื่นแอบแฝงอยู่, เช่น ป่วยการเมือง.
จากความหมายข้างต้น คนส่วนใหญ่ติดใจกับ ความหมายสุดท้าย ว่าเป็นเรื่องที่มีเงื่อนงำ เป็นการกระทำอันมีเจตนาอื่นแอบแฝงอยู่ เรียกง่ายๆ ว่ามีการกระทำที่หวังผลในสิ่งที่ไม่ได้ประกาศออกมาตรงๆ
ดิฉันเองในอดีตเคยรู้สึกว่าเป็นสิ่งไม่ดี และบอกตนเองว่าจะพยายามไม่ยุ่งเกี่ยวและไม่เป็นผู้เล่นการเมืองเสียเอง จนได้มีโอกาสเข้าอบรมคอร์สผู้บริหารหลักสูตรหนึ่ง ที่ให้มุมมองใหม่ว่า “การเมือง” จะเป็นสิ่งดี หรือไม่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ที่อยู่ในเกมส์การเมืองนั้น ใช้ทักษะต่างๆ ที่ตนมีในการบริหารองค์กร (ประเทศ บริษัท หน่วยงาน หรือแม้แต่ครอบครัว) เพื่อใคร ถ้าเพื่อตนเองเท่านั้น นั่นคือ การเมืองที่แย่ และเป็นสิ่งที่จะทำให้ตนได้รับแต่ความเกลียดชังจากผู้ที่เสียผลประโยชน์ แต่ถ้าทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของคนในองค์กร การเข้าใจและเล่นการเมืองให้เป็น ก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ดี
หากท่านต้องการก้าวไปสู่การเป็นผู้บริหาร ซึ่งเท่ากับจะต้องเป็นผู้เล่นในเกมส์การเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการเมืองก็คือการบริหาร จรรยาบรรณในการเล่นการเมืองในองค์กร ที่ท่านควรมี คือ
- การรักษาสมดุลของทุกฝ่ายไม่ให้มีฝ่ายใดได้ทุกความต้องการและไม่มีฝ่ายใดถูกลดประโยชน์ลงเรื่อยๆ เพราะการจะทำให้ทั้งองค์กรขับเคลื่อนได้ จำเป็นต้องใช้ทักษะ ความสามารถของทุกฝ่าย ไม่ว่า โดยส่วนตัว ใครเป็นคนดี หรือคนไม่ดี
- ประเมินผลที่จะเกิดขึ้นหากต้องการประกาศนโยบายใหม่ และเตรียมรูปแบบการสื่อสารที่เหมาะกับแต่ละฝ่าย หากสื่อสารผิดวิธีหรือไม่ครบทุกฝ่ายอาจนำไปสู่การเข้าใจผิด และถูกมองว่ากำลังเล่นการเมืองน้ำเน่าได้
- ชื่นชมการให้ความร่วมมือของแต่ละฝ่ายต่อหน้าและลับหลังอย่างจริงใจ การพูดไม่ตรงกัน คือจุดวิกฤติที่นำไปสู่การไม่ได้รับความร่วมมือในครั้งต่อไป
- แสดงความรับผิดชอบเมื่อผลของการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามที่ท่านคิด และปรับปรุงให้ดีขึ้นถ้ายังได้รับโอกาสต่อไป การโยนความผิดเป็นเรื่องง่าย แต่การยอมรับผิดคือการแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นเจ้าของงาน ไม่ใช่แค่เพียงผู้แจกการบ้าน
สำหรับท่านที่เป็นเพียงผู้รับผลของการเมือง เช่นพนักงานระดับปฏิบัติการ ที่ยังไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในการนำเสนอ หรือกำหนดนโยบายขององค์การ การอยู่อย่างเข้าใจการเมืองในองค์กร หมายถึงอะไร
- รู้ว่าในทุกๆ นโยบาย และการปฏิบัติจริง ผู้กำหนดนโยบายไม่อาจและไม่จำเป็นต้องอธิบายเหตุผลทั้งหมดให้ทุกคนในองค์เข้าใจ เมื่อถามแล้วไม่ได้คำตอบ ก็ควรหยุดที่จะถามต่อ เพราะคำตอบที่ได้ก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงอยู่ดี
- การแสดงความไม่เห็นด้วยโดยใช้อารมณ์ ไม่ว่าถูกหรือผิด มักนำไปสู่การทำให้องค์กรลดความไว้วางใจในตัวผู้แสดงความเห็นนั้น
- แม้จะไม่เห็นด้วยแต่ไม่พร้อมจะเป็นผู้แก้ปัญหาด้วยตนเอง ก็ควรปฏิบัติตามจนองค์กรได้รับรู้ผลของนโยบายว่าไม่ถูกต้อง แล้วพิจารณาว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนต่อไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่มี ในหลายกรณี ทั้งๆ ที่คาดเดาได้ว่า พนักงาน หรือคนในองค์กรจะไม่ชอบนโยบายที่จะใช้ แต่อาจไม่มีทางเลือกอื่นด้วยข้อจำกัดทางกฏหมาย การแข่งขัน หรืองบประมาณ และไม่อาจอธิบายรายละเอียดได้
- หากยังคงรู้สึกว่าองค์กรมีแต่ผู้บริหารที่ใช้การเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น และเริ่มมีผลกระทบเชิงลบต่อตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเริ่มมองหาองค์กรใหม่ แล้วเปรีบเทียบข้อดี ข้อเสียต่อตนเองด้วยเหตุผล ก่อนตัดสินใจลาออก หรือ ย้ายงาน เพราะไม่ว่าการตัดสินใจของเราจะเป็นอย่างไร ผู้รับผลจะเป็นเพียงตัวเราเท่านั้น องค์กรจะยังคงดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าตำแหน่งของเราจะสำคัญระดับไหน
โดยสรุป การอยู่กับการเมืองในทุกองค์กรด้วยดี คือ การไม่ด่วนคิดไปก่อนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์เฉพาะใครบางคน และการเป็นนักการเมืองในองค์กรที่ดี ก็คือ การทำให้คนในองค์กรไว้ใจว่าทุกๆ นโยบายและการบริหารงานได้ผ่านการพิจารณามาอย่างดีว่าทำเพื่อส่วนรวม
สำหรับดิฉันเอง หลังจากที่เคยเป็นพนักงานที่วิจารณ์ผู้บริหารในบริษัทอย่างไม่กลัวโดนไล่ออก จนได้รับโอกาสให้ลองบริหารดูเองบ้าง ตั้งแต่นั้นมาดิฉันไม่เคยสนใจวิจารณ์การเมืองระดับประเทศอีกเลย เพราะแม้แต่องค์กรไม่กี่ร้อยคน ดิฉันเองยังไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้เลย
……………
โดย ดร.วรัญญา อัจฉริยะชาญวณิช
Change Tutor – นักพัฒนาดาวเด่นในองค์กรแบบพุ่งเป้า
Founder & Managing Director, Wintegrate 99 Co., Ltd.
DCP 266/19, Certified Project Management Professional of PMI
ผู้แต่งหนังสือ The Change Tutor – จะเรียกดิฉันว่าหมอดูก็ได้ถ้าคุณยอมเปลี่ยน
Anonymous
December 7, 2020เจอการเมืองทุกวันคับ เบื่อมาก อยากเปลี่ยนงานคับ