เป็นที่รู้กันดีว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นช่วงที่มีอัตราคนว่างงานสูงที่สุดในโลก แต่ก็ยังคงมีคนที่คิดอยากจะลาออกจากงานประจำด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ
วันนี้ ณ เวลาที่ท่านยังคงมีงานประจำ มีเงินเดือนออกทุกสิ้นเดือน ดิฉันขอแนะนำด้วยเหตุผลว่า หากท่านมีเงินออมอยู่จำหนึ่งที่พอจะช่วยให้ดำรงชีพได้อย่างน้อย 6 เดือนและงานที่ทำไม่ใช่งานผิดกฎหมายหรืออันตรายถึงชีวิต จะเหลือเหตุผลเดียวที่เราควรลาออกได้ทันที ซึ่งไม่ใช่เหตุผลดังต่อไปนี้
- งานหนักมากทนไม่ไหวแล้ว
- เจ้านายแย่ ไม่เป็นธรรม ลำเอียง
- เพื่อนร่วมงานไม่ดี อยู่แล้วจะเป็นซึมเศร้า
- ที่ทำงานไกล เสียเวลาเดินทาง เสียสุขภาพ
- งานยากทำไม่ได้ดีเหมือนแต่ก่อน สู้เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้แล้ว
- งานไม่ตรงกับอุดมการณ์
- รู้สึกตนเองเป็นส่วนเกิน ทำประโยชน์ไม่คุ้มเงินเดือนที่ได้มา
- เบื่องานซ้ำๆ ไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ไม่ท้าทาย
- ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว
- ทำคนเดียว เหงามาก
- ถูกลดเงินเดือนจนไม่คุ้มจะทำต่อไป
เรื่องของความยาก รู้สึกไม่มีคุณค่า หรือรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนเกิน ให้คิดว่า หากการทำงานของเราแย่จนต่ำกว่ามาตรฐานที่บริษัทจะรับได้ จะได้รับการตักเตือนเป็นทางการจากผู้บังคับบัญชา หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลเท่านั้น หากเป็นเพียงแค่เสียงบ่น หรือสีหน้าไม่พอใจ จากใครก็แล้วแต่ ให้คิดเสียว่า เป็นเพียงไม่ถูกใจใครบางคนเท่านั้น ยังไม่ใช่จุดวิกฤติที่บริษัทรับไม่ได้จนถึงขั้นออกใบเตือน ส่วนหากเป็นกรณีที่บริษัทเปลี่ยนเทคโนโลยี จนความสามารถของตัวเราไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปจริงๆ บริษัทจะต้องจ่ายเงินชดเชยสำหรับการเลิกเจ้าเราอย่างถูกกฎหมาย อย่าเป็นคนดี (แบบนางเอกละครไทย) ว่าจะต้องแสดงสปิริตลาออกเอง กฎหมายแรงงานสร้างความเป็นธรรมให้ลูกจ้าง เราก็พึงใช้ประโยชน์ในห้วงเวลาเช่นนี้ อย่าหิ้วชะลอมเปล่าเดินออกจากบริษัทด้วยความน้อยใจไปเฉยๆ แต่ควรพยายามทำตัวเฉยๆ กับกลยุทธ์กดดันรูปแบบต่างๆ ของบริษัท เพื่อประหยัดงบประมาณในการเลิกจ้างพนักงาน ห้ามเล่นโทรศัพท์มือถือในเวลางาน (แม้จะว่างมาก) ห้ามปฏิเสธงานที่ไม่เคยทำที่ไม่ได้ผิดกฎหมายแรงงาน ห้ามโวยวาย ห้ามรวมตัวกันประท้วง ห้ามโพสต์บ่นลงสื่อโซเชียล ซึ่งอาจกลายเป็นหลักฐานของการปฏิบัติผิดกฎระเบียบบริษัทขั้นร้ายแรง แล้วอาจถูกเลิกจ้างกลางอากาศแบบไม่ได้รับเงินชดเชย
บางบริษัทที่มีสาขาหลายแห่ง เริ่มมีพฤตกิกรรมแปลกๆ เช่น ประกาศย้ายพนักงานข้ามสาขา ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการปิดสาขาใด ซึ่งในแง่กฎหมาย บริษัทมีสิทธิ์ทำเช่นนั้นได้โดยให้พนักงานมีสิทธิ์เลือกที่จะไปหรือไม่ไป หากไม่ไป ก็เสมือนยินดีออกโดยรับเงินชดเชยตามกฎหมาย ทีนี้สำหรับคนที่เลือกยินดีย้ายตามคำสั่ง ก็หมายความว่า หากไปทำงานที่สาขาใหม่แล้วเกิดปรับตัวไม่ได้ ด้วยสาเหตุใดๆ แล้วลาออกเอง บริษัทก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยใดๆ ให้ ดังนั้น หากเลือกจะรักษางานประจำไว้ ต้องกัดฟันปรับตัวให้ได้ ทั้งเรื่องการเดินทาง ทั้งลักษณะงาน และสิ่งแวดล้อมการทำงานใหม่ มิฉะนั้นจะกลายเป็นช่วยบริษัทประหยัดงบประมาณในการลดคนไปโดยตนเสียประโยชน์ฝ่ายเดียว
เหตุผลข้างต้นนี้ แม้แต่การถูกลดเงินเดือน ยังคงเป็นเรื่องที่ยังพออดทนต่อไปได้ จนกว่าสถานการณ์ตลาดแรงงานจะดีขึ้น หรืออดทนจนกว่าคุณจะหางานใหม่ได้ แนะนำให้ตั้งใจทำงานโดยไม่ให้ผิดกฎระเบียบบริษัท งดการวิจารณ์ ฟังธรรมะหรือฟังเพลงหลังเลิกงานเพื่อความเครียด พูดคุยกับครอบครัวประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริงให้ร่วมกันอดทน เพื่ออย่างน้อยจะรักษารายได้ประจำไว้ให้นานที่สุด
ส่วนเรื่องที่ดิฉันคิดว่าเป็นงานที่ไม่จำเป็นต้องทนแม้ช่วงเวลาเช่นนี้ คือ งานในองค์กรที่ผู้นำไม่จริงใจต่อลูกค้า เช่น การเสนอโครงการที่ดูสมบูรณ์แบบทุกอย่าง แต่เมื่อทำจริงแล้วมีแต่ความด้วยประสิทธิภาพ ไม่เป็นตามคำโฆษณาเลย โดยที่ผู้นำไม่ใส่ใจจะแก้ไขอย่างจริงจัง ยังคงเน้นภาพสวยและหาลูกค้าใหม่ด้วยวิธีเดิมต่อไป แล้วทิ้งปัญหาให้เราเป็นผู้รับหน้าเสื่อกับลูกค้าเอง ซึ่งหลังจากพยายามแล้วรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ในการเป็นผู้แก้ไขระบบให้ดีขึ้นด้วยตัวเรา ดิฉันแนะนำว่าควรลาออกให้เร็วที่สุด เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของตนเองต่อบุคคลภายนอกบริษัท และไม่ถูกวัฒนธรรมการทำงานผิดๆ ครอบงำจนกลายเป็นพฤติกรรมเคยชินที่จะทำให้ชีวิตการทำงานมีแต่เสื่อมลง หรือกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการซื้อเวลากับลูกค้า
จริงอยู่ว่า ชั่วโมงนี้เงินเพื่อดำรงชีพสำคัญที่สุด แต่หากยอมทำงานในกระบวนการที่ไม่จริงใจต่อลูกค้า เราอาจจะตัดอนาคตการทำงานของตนเองไปชั่วชีวิต เพราะองค์กรชั้นดีไม่เสียเวลาฟังคำแก้ตัว เมื่อมีใบสมัครของคนประวัติดีให้เลือกอีกมากมาย และการชี้แจงความไม่ดีของบริษัทที่ทำงานมายาวนานในการสัมภาษณ์งานใหม่ ก็อาจถูกมองว่าคุณเป็นคนไม่รักษาความลับของบริษัทได้ ยิ่งจะทำให้ได้งานใหม่ยากขึ้น
และในการหางานใหม่ บางครั้งคุณอาจจะเห็นบางตำแหน่งที่ เงินเดือนสูง สวัสดิการดี ภาพลักษณ์ดีทุกอย่าง แต่ทำไมยังหาคนไม่ได้ หรือเปิดรับใหม่บ่อยครั้ง บางทีองค์กรเหล่านั้นอาจจะมีปัญหาเรื่องจรรยาบรรณ จนเกินกว่าคนที่ประวัติการทำงานดีจะยอมรับได้ก็เป็นได้
สรุปว่า ไม่มีเหตุผลใดที่ควรลาออกในช่วงเวลานี้ ยกเว้นการลาออกเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือต่อลูกค้าเท่านั้น นอกนั้น อย่าลาออกเลยถ้ายังหางานใหม่ไม่ได้ เพราะงานใหม่ก็อาจจะไม่ถูกใจคุณอยู่ดี และไม่รู้เมื่อไหร่งานที่คุณพอใจจะมาถึงคุณ
………..
โดย ดร.วรัญญา อัจฉริยะชาญวณิช
Change Tutor – นักพัฒนาดาวเด่นในองค์กรแบบพุ่งเป้า
Founder & Managing Director, Wintegrate 99 Co., Ltd.
DCP 266/19, Certified Project Management Professional of PMI
ผู้แต่งหนังสือ The Change Tutor – จะเรียกดิฉันว่าหมอดูก็ได้ถ้าคุณยอมเปลี่ยน