เมื่อคุณถูกถามว่า “อาหารมื้อไหนสำคัญที่สุด” แว๊ปแรกในใจคุณตอบว่าอะไรคะ
- ถ้าถามเด็กยุคใหม่ที่ถูกสอนให้เน้นเรื่องสุขภาพ อาจจะตอบว่า มื้อเช้า เพราะว่าสำคัญต่อการทำงานของสมองและร่างกาย มีงานวิจัยยืนยัน
- ถ้าถามฟรีแล้นซ์ที่นอนดึกตื่นสาย หลายคนอาจจะตอบว่า ตอนสายๆ ใกล้ๆ เที่ยง ควบระหว่างมื้อเช้ากับกลางวันสำคัญที่สุด
- ถ้าถามพระสงฆ์ ท่านคงตอบว่า ไม่รู้ว่าเรียกมื้ออะไร แต่ว่าขอให้เป็นก่อนเวลาเพล
- ถ้าถามคนที่ทำงานหนักทั้งวัน มีเวลาส่วนตัวแค่ตอนหลังเลิกงาน อาจตอบว่า มื้อเย็น เพราะจะทานไปด้วยจิตใจที่ผ่อนคลาย ไม่ต้องเร่งรีบ
- ส่วนถ้าถามชายหนุ่มที่กำลังจีบสาว เขาอาจจะตอบเพื่อเรียกคะแนนว่า มื้อที่มีคนรักอยู่ทานด้วย
- เช่นเดียวกัน ถ้าถามผู้สูงวัยที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปไหน ก็คงตอบว่า มื้อที่มีลูกหลาน หรือเพื่อนฝูงอยู่ทานด้วยกัน
แค่เพียงคำถามธรรมดาๆ คำถามเดียวก็มีคำตอบที่ต่างๆ กันได้มากมาย และอาจทำให้คนถกเถียงกันไม่สิ้นสุด ในการทำงานก็เช่นเดียวกัน เรามักเจอคำถามสั้นๆ ที่นำไปสู่คำตอบที่ไม่ลงรอยกันเสมอๆ
อันที่จริงแล้ว สิ่งที่ทุกคนลืมไปเลยก่อนที่จะคิดหาคำตอบคือ ลืมว่าประธานของประโยคเป็นใคร เช่น หากถามว่า อาหารมื้อที่สำคัญที่สุดสำหรับร่างกายคือมื้อไหน ก็คงมีเพียงคำตอบเดียวว่าเป็นมื้อเช้า หรือหากถามว่า อาหารมื้อที่สำคัญที่สุดสำหรับครอบครัวคือมื้อไหน คำตอบที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยได้ง่าย คือ ทุกมื้อที่สมาชิคได้ทานร่วมกัน
เมื่อใดที่คำถามไม่มีประธาน หรือ วัตถุประสงค์ชัดเจน ผู้ถูกถามมักเผลอนำตนเองไปเป็นประธานในประโยคและคิดจากมุมของตนเอง ซึ่งบ่อยครั้งนำไปสู่ความไม่พอใจ เมื่อคำตอบ หรือ ความเห็นของตนไม่ได้ถูกเลือก และหากคุณบังเอิญต้องเป็นกรรมการตัดสินว่าคำตอบของใครถูก แนะนำให้เริ่มจากทำให้คู่กรณีเข้าใจตรงกันก่อนว่า คำว่าดีที่สุดนี้ สำหรับใคร เมื่อเข้าใจตรงกัน อาจช่วยให้คำตอบแคบลง
และเมื่อคำตอบแคบลง แต่ยังคงสรุปไม่ได้ ขั้นแอ็ดว๊านซ์ขึ้นไปในการเลือกคำตอบที่เหมาะสม คือ การตรวจทานสมมุติฐานเบื้องหลังคำตอบของแต่ละฝ่ายว่าสะท้อนความเป็นจริงหรือไม่
ในการสื่อสารต่อพนักงานก็เช่นกัน หากเป็นเพียงการสั่งการที่ไม่ได้ชี้แจงว่าเป็นการพิจารณาโดยมองจากแง่มุมใด มีโอกาสที่จะทำให้พนักงานต่างวิพากษ์วิจารณ์คาดเดาว่าสาเหตุที่แท้จริงของการสั่งการนั้นเกิดจากอะไร และอาจนำไปสู่การเข้าใจผิด ไม่เห็นด้วย และไม่ยินดีปฏิบัติตาม
เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องความขัดแย้งในองค์กร หรือความรู้สึกเสียหน้าเมื่อความเห็นของตนไม่ได้รับการยอมรับ องค์กรหรือผู้นำควรให้ความสำคัญกับการชี้แจงให้ชัดเจนว่า การขอความเห็น หรือการตัดสินใจขององค์กรนั้นอยู่บนวัตถุประสงค์ใด บริบทหรือเป้าหมายใดหรือมีข้อจำกัดใด เพื่อจูนสติทุกคนที่เกี่ยวข้องให้มองที่จุดยืนเดียวกันก่อนที่จะให้ทุกคนเริ่มต้นคิดหาคำตอบหรือวิพากษ์วิจารณ์
……….