เมื่อวานได้มีโอกาสไปฟังสัมมนาประจำปีของสถาบันเกี่ยวกับการบริหารโครงการระดับสากลซึ่งก่อตั้งมากว่า 50 ปีและมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก โดยดิฉันไปในฐานะที่ตนเป็นผู้หนึ่งที่สอบผ่านใบประกาศนียบัตรด้านการบริหารโครงการ และจำเป็นจะต้องเข้าอบรมเก็บหน่วยกิจเพื่อรักษาสมาชิกภาพ
องค์กรดังกล่าวมุ่งเน้นสร้างมาตรฐานกระบวนการบริหารโครงการอย่างมืออาชีพ ผู้ที่จะมีสิทธิ์สอบต้องเคยมีประสบการณ์การบริหารโครงการจริงอย่างน้อย 3 ปี และต้องผ่านการสอบซึ่งเน้นความจำและความเข้าใจกระบวนการบริหารโครงการตามแนวทางของสถาบันดังกล่าว ตนเองจำได้ว่า ต้องเก็บตัวอ่านและท่องจำหนังสือคู่มือที่หนาประมาณ 2 นิ้วและฝึกทำข้อสอบ เพื่อพร้อมทำข้อสอบที่เป็นภาษาอังกฤษในเวลา 4 ชั่วโมง ซึ่งถือว่ายากมาก
เวลาผ่านไปเพียง 2 ปี เนื้อหาของการสอบของใบประกาศดังกล่าวเปลี่ยนไปมาก การเปลี่ยนแปลงครั้งแรกในปีที่แล้วมีหัวข้อเกี่ยวกับ Agile เพิ่มขึ้น เพื่อสะท้อนรูปแบบของการทำงานของสาย Digital ที่ต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมแก้ไข และเปลี่ยนแปลงให้สะท้อนปัจจัยภายนอกมากขึ้น การทำงานแบบกำหนดแผนงานตายตัว แล้วเดินตามแผนที่กำหนดไว้ หรือที่เรียกว่าแบบ Waterfall ไม่สามารถใช้ได้กับโครงการทุกประเภท
แต่ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่สะท้านวงการ (อย่างน้อยก็ในกลุ่มของสมาชิกทั่วโลก) คือ การประกาศว่า เนื้อหาเดิมที่เคยเป็นแกนหลักของการสอบมากว่า 50 ปี จะกลายเป็นเพียง 50% ของข้อสอบทั้งหมด แล้วอะไรคือเนื้อหาใหม่? คำตอบ คือ ความสามารถในการบริหาร “คน” จะมีสัดส่วนถึง 42% และด้านอื่นอีก 8%
ข้อมูลนี้ สำหรับดิฉัน สอดคล้องกับสิ่งที่ดิฉันตระหนักได้เองมานานแล้วว่า ความสำเร็จของโครงการ หรือการทำงานร่วมกับผู้อื่นในช่วงเวลาหนึ่งให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่เรื่องของ กระบวนการที่ดี แต่จะต้องมีศิลปะในการทำงานร่วมกับคนได้ดีอีกด้วย ความจริงนี้อาจจะเป็นที่ยอมรับกันมานานแล้ว แต่การกล้านำสิ่งที่จับต้องได้ยากมาเป็นมาตรฐานสากลนั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย และน่าจะท้าทายมากสำหรับการทำให้เกิดเป็นรูปธรรม และยังคงรักษาความเนื่อเชื่อถือของสถาบันเองต่อไป
กระแส Digital Disruption อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์กรระดับสากลนี้ต้องยอมรับความจริงว่า การมีใบประกาศว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการบริหารโครงการเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะลดความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์
เรื่องที่ดิฉันนำมาเล่าในครั้งนี้ ส่งสัญญาณว่าใบประกาศแสดงความเชี่ยวชาญต่างๆ กำลังจะหมดความหมายหากไม่ครอบคลุมทักษะที่หุ่นยนต์แทนที่ไม่ได้ และผู้ถือใบประกาศใดๆ ก็ตามอาจจะลงทุนเรียนและเสียเงินค่าสอบฟรี หากไม่มีทักษะในการบริหาร หรือ ทำงานร่วมกับ “คน” ได้จริง และมันอาจจะหมายรวมไปถึงว่า เกรดใน transcript และ สถาบันที่เรียนจบ อาจจะไม่เพียงพอในการช่วยให้เด็กจบใหม่ได้งานที่ดีอีกต่อไป หากไม่มีหลักฐานใดๆ แนบเพิ่มเติมไปด้วยว่า มีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี
สำหรับดิฉัน วิธีง่ายๆ ที่จะวัดว่าท่านเป็นผู้บริหารโครงการที่ดีหรือไม่ ไม่ใช่การประเมินที่ว่าท่านทำงานได้เป็นไปตามแผนงาน งบประมาณ และเวลาที่กำหนดหรือไม่ ผู้บริหารโครงการที่ดีที่จะ “รอด” ระยะยาว คือ “ผู้ที่ทำงานจบตามแผนและผู้ร่วมโครงการยังอยากทำงานร่วมกับท่านในโครงการต่อๆ ไป”
…………..
โดย ดร.วรัญญา อัจฉริยะชาญวณิช
Change Tutor – นักพัฒนาดาวเด่นในองค์กรแบบพุ่งเป้า
Founder & Managing Director, Wintegrate 99 Co., Ltd.
DCP 266/19, Certified Project Management Professional of PMI
ผู้แต่งหนังสือ The Change Tutor – จะเรียกดิฉันว่าหมอดูก็ได้ถ้าคุณยอมเปลี่ยน