การระบาด COVID 19 รอบ 2 นี้ มองให้ดีคือภาพย่อของการทำร้ายสังคมโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันโดยที่ผู้กระทำผิดอาจจะเป็นพวกเราทุกคน ซึ่งคิดว่าตนไม่ได้ทำผิดอะไรมากมาย หรือแค่ทำตามๆ คนอื่นที่ทำกันโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังสร้างปัญหาให้สังคม เพียงแต่การระบาดนี้มียอดผู้ป่วยให้เราติดตามสถานการณ์ได้อย่างชัดเจนเท่านั้นเอง
หากไปถามแรงงานต่างชาติว่ารู้ตัวหรือไม่ว่าติดเชื้อมาก่อนที่จะลักลอบเข้าไทย ก็คงแทบไม่มีใครตอบว่า “รู้ทั้งรู้ก็จะมา” หากไปถามผู้อนุญาตให้เข้าไม่ว่าช่องทางถูกกฎหมาย หรือช่องทางอื่นๆ โดยรับค่าตอบแทนหรือไม่ คนเหล่านั้นก็อาจจะบอกว่า ก็ได้ตรวจวัดไข้แล้ว เหมือนๆ กับที่ตามห้าง หรืออาคารต่างๆ มีจุดคัดกรองโดยการวัดอุณหภูมิ หรืออาจจะตอบว่า ประเมินด้วยสายตาก็ดูแข็งแรงดีไม่มีความเสี่ยง หากถามว่า ทำไมต้องลักลอบเข้ามาหรือทำไมต้องรับเงิน คำตอบก็อาจจะวนมาที่ “หนี้เยอะ” “ทำเพื่อครอบครัว” หรือ “ใครๆ ก็ทำกัน ไม่ทำก็โง่สิ” หรืออาจจะบอกว่า “ลูกค้า/นายจ้างรออยู่ ต้องกลับไปรับผิดชอบงาน”
แล้วการกระทำดังต่อไปนี้หละ ดีกว่ากลุ่มคนข้างต้นหรือไม่?
- พนักงานในร้านอาหารล้างผักไม่สะอาด ล้างจานลวกๆ ให้เสร็จๆ ไป เพื่อแลกค่าแรงรายวัน โดยไม่สนใจว่าจะมีผลต่อสุขภาพของลูกค้า และแม้แต่ตนเองที่ฝากท้องไว้กับร้านอาหารเช่นกัน
- เจ้าของกิจการที่คิดว่าลงทุนสร้างระบบต่างๆ ให้ผ่านเกณฑ์ของกฎหมายก็เพียงพอ ระดับผงชูรส เกลือ หรือสารปรุงแต่งต่างๆ แม้แต่สารกันบูด เอาแค่ไม่เกินมาตรฐานของ อย. ก็ใช้ได้ ส่วนในการโฆษณาไม่ได้ห้ามเรื่องปริมาณการใช้ในเนื้อหาเอาไว้ ก็โชว์ภาพการใช้ปริมาณครั้งละมากๆ เพื่อให้ผู้บริโภคเผลอทำตาม ติดรสเค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด แล้วเกิดการซื้อบ่อยๆ จนเป็นระดับการบริโภคค่าเฉลี่ยทั่วไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนไทย เป็นเบาหวาน ความดันสูง ไตวาย กันถ้วนหน้า แต่กว่าจะรู้ตัวก็หลายปี จนไม่รู้ว่าเกิดเพราะบริโภคสินค้าตัวไหน
- ผู้ประกอบการที่เน้นแต่การเติบโตของธุรกิจของตน สนุกกับการคิดหาวิธีทำโฆษณาเพื่อเร่งเร้าให้ผู้ชมรายการตัดสินใจซื้อของให้ได้เร็วที่สุด ไม่ได้สนใจว่าชาวบ้านที่ซื้อของไปจะเกินความจำเป็นแล้วเป็นหนี้บเพิ่มเรื่อยๆ จนสร้างปัญหาสังคมอย่างอื่นหรือไม่ และในหลายกรณีคุณภาพสินค้าไม่ดีดั่งที่โฆษณา หรือปิดบังข้อจำกัดของสินค้า ทำให้ลูกค้าซื้อมาทิ้ง หรือเสียเวลาเสียเงินในการเปลี่ยนหรือคืนสินค้า
- การเขียนคอนเท้นท์ที่น่าติดตามบนสื่อโซเชี่ยลเพื่อให้มีผู้ติดตามมากๆ แล้วใช้กระบวนการทางดิจิตัลเพื่อเกาะติดผู้บริโภค จนบางรายซื้อของใช้ที่ไม่จำเป็นมาเต็มบ้าน ไม่มีเงินออมเลย
- ผู้ผลิตรายการหรือเกมส์ที่ทราบดีว่ากลุ่มเป้าหมายคือเด็ก หรือเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ แต่ยังคงเลือกนำเสนอแต่ความบันเทิง ความรุนแรง และกลยุทธให้ผู้เล่นอยากเล่นให้นานขึ้นเรื่อยๆ จนเด็กติดเกมส์ ติดรายการบนสื่อโซเชี่ยลจนหมดความสนใจในการเรียน
- ผู้ชมที่ชื่นชอบและแชร์ต่อคลิปวิดิโอหรือบทความของพ่อค้า/แม่ค้า/โค้ช/ผู้นำแฟชั่น/ผู้นำกระแส ที่เลือกแสดงความเป็นตัวตนเน้นความสะใจ ใส่อารมณ์ โชว์ทุกอย่างเพื่อให้คนติดตาม มากกว่าการนำเสนอสาระที่แท้จริงให้ผู้ชมผู้ฟังใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ จนกลายเป็นตัวอย่างให้เยาวชนทำตามในระดับที่รุนแรงเพิ่มขึ้น เพื่อหวังจะประสบความสำเร็จข้ามคืนบ้าง โดยไม่รู้ตัวว่าอาจกำลังตัดอนาคตของตนเองไปได้เมื่อเผลอสร้างประวัติเชิงลบบนโลกโซเชี่ยลแบบรู้เท่าไม่ถึงกาล
ถ้าท่านมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้บริโภคต้องใช้วิจารณญานของตนเองในการเลือกเสพ เลือกบริโภค และหาวิธีป้องกันตัวเองแล้วหละก็ ผู้ที่ทำให้เกิดการระบาดรอบสองนี้ก็คงอยากจะกล่าวอ้างว่าทำตามๆ คนอื่นเท่านั้นเอง ไม่คิดว่าจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และคิดว่าทุกคนต้องระวังตนเองเช่นกัน
แต่ถ้าท่านเริ่มเห็นด้วยกับดิฉันแล้วว่าเราทุกคนมักชินกับการผลักภาระให้ผู้อื่นดูแลตัวเอง และเริ่มอยากจะร่วมลดปัญหาสังคมในอนาคต ก็อยากชวนท่านให้เริ่มสำรวจสิ่งที่เราทำอยู่ว่ามีอะไรบ้างที่เราเองอาจจะกำลังสร้างภาระให้สังคมอยู่ แล้วหาวิธีทำให้ดีขึ้น และไม่ส่งเสริมพฤติกรรมที่อาจจะเป็นปัญหาสังคมในอนาคต
สำหรับดิฉันเอง ในการทำสื่อประชาสัมพันธ์ ดิฉันเลือกที่จะเขียนบรรยายข้อเท็จจริงของบริการที่ทำได้โดยไม่ใช้คำที่ดิฉันเองไม่ชอบ เช่น “ลืมปัญหาเก่าๆ ไปเลยว่า…” “ด่วน….” “เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลก” “ถ้าตัดสินใจตอนนี้ ลดทันที …%” ยินดีให้ผู้สนใจค่อยๆ พิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้บริการจริงหรือไม่ และดิฉันไม่ใช้เทคนิคทางดิจิทัลใดๆ ในการติดตามผู้เยี่ยมชมเพจของดิฉัน เพราะดิฉันเองรู้สึกว่า การมีอิสระในการเดินชมสินค้าแล้วตัดสินใจด้วยตนเอง เป็นสิทธิ์ที่ลูกค้าพึงมี เช่นเดียวกับร้านค้าสวยๆ ที่ลงทุนตกแต่งหน้าร้านอย่างดีและพร้อมให้คนเข้าไปเลือกชมสินค้าโดยไม่เกาะติดให้ลูกค้ารำคาญ
สรุปสั้นๆ ได้ว่า การรับผิดชอบต่อสังคมขั้นพื้นฐาน (ในนิยามของดิฉัน) คือ การใช้วิจารณญาณเลือกที่จะไม่ทำและไม่ส่งเสริมในสิ่งที่เราเองเห็นว่าไม่ถูกต้องให้เป็นภาระหรือล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม (แม้ว่าจะทำให้เราเสียประโยชน์ หรือเห็นว่ามีคนอื่นทำกันอยู่มากมาย) ฟังดูง่ายแต่อาจจะทำได้ยากในความเป็นจริงโดยเฉพาะท่านที่มีภาระทางการเงินหรือมีเหตุผลอื่นๆ ดังนั้นหากเราเองยังทำไม่ได้สมบูรณ์แบบ ก็ต้องยอมรับความจำเป็นของผู้อื่นเช่นกัน อย่างไรก็ดี การเริ่มสำรวจและเลือกส่งเสริมตัวอย่างที่ดีจะช่วยสร้างค่านิยมที่ดีขึ้นในสังคมได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาสังคมในระยะยาวที่อาจจะสายเกินไปหากเรารอจนถึงวันนั้น
ในโอกาสนี้ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน มีสุขภาพแข็งแรง และมีกำลังใจที่ดี เพื่อนำพาตัวท่าน ครอบครัว และสังคมไทยข้ามผ่านวิกฤตินี้ไปได้อย่างปลอดภัย
โดย ดร.วรัญญา อัจฉริยะชาญวณิช
Change Tutor – นักพัฒนาดาวเด่นในองค์กรแบบพุ่งเป้า
Founder & Managing Director, Wintegrate 99 Co., Ltd.
DCP 266/19, Certified Project Management Professional of PMI
ผู้แต่งหนังสือ The Change Tutor – จะเรียกดิฉันว่าหมอดูก็ได้ถ้าคุณยอมเปลี่ยน